fbpx
News update

ยาหมดอายุหรือยาเสื่อมคุณภาพ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม!

onlinenewstime.com : ยามีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมาย แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ถ้าหากเราใช้ยาไม่ถูกต้องหรือเหมาะสม ซึ่งปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อย คือ ปัญหายาเสื่อมคุณภาพ

มีคนจำนวนไม่น้อยมียาเก็บไว้ที่บ้านจำนวนมาก ทั้งยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล ร้านยา หรือคลินิก แล้วรับประทานไม่หมด เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ก็อาจนำยาที่เหลืออยู่มารับประทาน

ความเสี่ยงและอันตราย จากยาทุกชนิดที่หมดอายุ ซึ่งหมายถึงยานั้นๆ หมดประสิทธิภาพในการรักษาไปแล้ว

อะไรจะเกิดขึ้น? ….. ถ้าเรารับประทานยาเสื่อมคุณภาพไปโดยไม่รู้ตัว มีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ ทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือ ก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น อาจก่อให้เกิดโรคไตวาย ไตอักเสบ หรือทำให้เกิดการลุกลามของโรคต่างๆ ตลอดจนเกิดการดื้อยาขึ้น

ตรวจสอบยาหมดอายุอย่างไร

การเสื่อมสภาพของยา อาจสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอก ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในตัวยา ซึ่งไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า

วิธีที่จะช่วยตรวจสอบวิธีหนึ่ง คือ การสังเกตข้อมูลวันผลิต และวันหมดอายุบนฉลากยา ดังนี้

  1. ข้อมูลวันผลิต จะดูที่คำว่า “Manu. Date” หรือ “Mfg. Date” ซึ่งจะตามด้วยเลขวัน-เดือน-ปี ของวันผลิต
  2.  ข้อมูลวันหมดอายุ จะดูที่คำว่า “Expiry Date” หรือ “Exp. Date” หรือ “Exp.” หรือ “Used before” หรือ “Expiring” หรือ “Used by” ซึ่งจะตามด้วยเลขวัน-เดือน-ปี ของวันหมดอายุ และในกรณีที่ระบุวันหมดอายุไว้เพียง เลขเดือน-ปี จะให้นับวันที่สุดท้ายของเดือนนั้นๆ เป็นวันหมดอายุ ตัวอย่างเช่น Exp. 08/60 หมายความว่า ยาจะหมดอายุในวันที่ 31 เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2560

ในกรณีที่พบยาบางชนิด ระบุไว้เพียงวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุ หลักเกณฑ์ทั่วไปจะกำหนดให้ยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้ สามารถเก็บไว้ได้ 3 ปี นับจากวันผลิต

แต่หากยาน้ำถูกเปิดใช้แล้ว และมีการเก็บรักษาที่ดีจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3 เดือน

ส่วนยาเม็ดสามารถเก็บไว้ได้ 5 ปี นับจากวันผลิต แต่หากยาเม็ด มีการแบ่งบรรจุใส่ในถุงซิป วันหมดอายุของยาจะนับจากวันแบ่งบรรจุออกไป 1 ปี โดยไม่เกินวันหมดอายุจริงที่ระบุบนฉลากยา

นอกจากนี้การตรวจสอบยาหมดอายุหรือเสื่อมคุณภาพอีกวิธีหนึ่ง สามารถสังเกตได้จากลักษณะต่างๆ ของยา ดังนี้

  1. ยาเม็ดแคปซูล ที่มีลักษณะแคปซูลบวมโป่ง ผงยาภายในแคปซูล มีการเปลี่ยนสีหรือเกิดการจับกันเป็นก้อน เปลือกแคปซูลอาจมีเชื้อราขึ้น หรือมีสีเปลี่ยนไป เช่น เตตราไซคลีน Tetracycline ที่มีผงยาเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล แนะนำให้ทิ้งทันที เพราะหากรับประทานเข้าไป จะทำให้เกิดอันตรายต่อไตได้
  2. ยาเม็ด ที่มีสีเปลี่ยนไป มีจุดด่างหรือเชื้อราขึ้น เม็ดยาแตกกร่อนเป็นผงง่าย เม็ดยานิ่มและแตกได้เมื่อใช้มือบีบเบาๆ นอกจากนี้แล้วยาเม็ด ที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิตที่มีการเปิดใช้แล้ว ควรสังเกตลักษณะของยาควบคู่ไปด้วย หากลักษณะทางกายภาพของยา (สี กลิ่น รส) เปลี่ยนแปลงไป เป็นการบ่งบอกถึงความไม่คงตัวของยา ก็ไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป
  3. ยาเม็ดที่เป็นแบบเคลือบน้ำตาล ซึ่งมีลักษณะมันเงา (เช่น วิตามินรวม) เม็ดยามักดูเยิ้มเหนียวมีกลิ่นหืน หรือบูด
  4. ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาคล้ายแป้งน้ำใช้ทาแก้คัน ยาลดกรด ถ้าเสื่อมก็จะตกตะกอน จับกันเป็นก้อน เกาะติดกันแน่น เขย่ายังไงก็ไม่กระจายตัว ทั้ง กลิ่น สี หรือรสก็เปลี่ยนไปจากเดิม
  5. ยาผงแห้งผสมน้ำ หากยาเสื่อมสภาพ ผงยาจะจับตัวเป็นก้อนแข็ง ที่ไม่ปกติไม่สามารถละลายได้ และถ้าที่ผนังภาชนะบรรจุมีไอน้ำหรือหยดน้ำ แสดงว่ายานั้นไม่เหมาะสมจะนำไปใช้ ยาผงแห้งหลังจากผสมน้ำแล้ว อายุยาให้ยึดตามข้อมูลที่บริษัทระบุไว้บนฉลาก บางชนิดสามารถเก็บไว้ได้หลังจากที่ผสมน้ำแล้ว บางชนิดผสมน้ำแล้วต้องแช่เย็น เช่น ยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง เนื่องจากไม่มีสารกันเสีย โดยทั่วไปหลังผสมถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้อง เก็บได้ 7 วัน ถ้าเก็บในตู้เย็น เก็บได้ 14 วัน แต่บางชนิดอาจต้องใช้ทันทีไม่สามารถเก็บไว้ได้
  6. ยาน้ำเชื่อม ที่มีลักษณะเป็นสีขุ่น ตกตะกอน เห็นเป็นผง ไม่ละลาย หรือเห็นเป็นน้ำที่มีสีแตกต่างกัน ลอยปะปนเป็นเส้น และอาจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
  7. ยาขี้ผึ้ง จะเกิดการแยกของของเหลวออกมา เยิ้มที่ผิวหน้าของยา มีความข้นหนืดเปลี่ยนไป และมีกลิ่นเหม็นหืน
  8. ยาครีม ถ้าเสื่อมก็จะพบการหดตัวของเนื้อครีม เนื่องจากเกิดการระเหยของน้ำ ทำให้เนื้อยาแห้งแข็ง หรือสีเปลี่ยนไปจากเดิม
  9. ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค (Preservative) โดยทั่วไปจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้ เนื่องจากสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ใส่ไปมีประสิทธิภาพดีในช่วง 1 เดือน หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน ยาหยอดตาที่เสื่อมสภาพจะมีลักษณะขุ่นหรือตกตะกอนของตัวยา หรือเปลี่ยนสีไปจากเดิมที่เคยใช้
  10. ยาบางอย่างที่ต้องเก็บในตู้เย็น มียาบางอย่างเท่านั้นที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อกันการเสื่อม เช่น วัคซีน ยาหยอดตา หรือยาหยอดหูบางชนิด
  11. ยาที่แบ่งใส่ซองยามาให้ บางโรงพยาบาล คลินิกหรือร้านยา อาจมีวันหมดอายุติดมากับซองยา แต่บางโรงพยาบาล คลินิก หรือร้านยาจะไม่ได้ระบุไว้ในซองยา ดังนั้นยาที่แบ่งมาส่วนใหญ่จึงไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 ปี

ยาจะมีคุณภาพที่ดี จนถึงอายุยาที่กำหนดได้หากอยู่ภายใต้การจัดเก็บที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต แต่หากมีการจัดเก็บไม่เหมาะสม ยาอาจเสื่อมสภาพและมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ก่อนใช้ยาใดๆจึงควรดูวันหมดอายุ ร่วมกับการสังเกตสภาพยาว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะถ้ายาเสื่อมคุณภาพไป นอกจากจะรักษาไม่หายแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ถ้าหากไม่แน่ใจควรทิ้งไป และเพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

เครดิต : ภญ.ณัฐกร จริยภมรกุล เภสัชกรประจำ รพ.วิภาวดี