fbpx
News update

รฟท. จัดขบวนรถไฟลอยน้ำ เส้นทางกรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เดือนพ.ย.65 – ม.ค.66

Onlinenewstime.com : รฟท. จัดขบวนรถไฟลอยน้ำต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว พาไปสัมผัสลมหนาวกลางเขื่อนกับขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเส้นทางกรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ระหว่างเดือน พ.ย. 65 – ม.ค. 66 พร้อมให้บริการตู้โดยสารพิเศษจัดเฉพาะเช่าเหมาคัน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเป็นหมู่คณะ โดยเปิดให้บริการเที่ยวแรก 5 พ.ย. 65 และเปิดจำหน่ายตั๋วโดยสารพร้อมกันทั่วประเทศวันที่ พ.ย. 65

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังมาถึงนี้ การรถไฟฯ ขอเชิญชวนประชาชน และนักท่องเที่ยว ร่วมเดินทางสัมผัสลมหนาวเส้นทางอันซีนหนึ่งเดียวของเมืองไทย นั่งรถไฟลอยน้ำสุดโรแมนติก กลางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

โดยได้จัดขบวนรถพิเศษนำเที่ยว เส้นทางกรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566

โดยเปิดให้บริการเที่ยวแรก 5 พฤศจิกายน 2565 และเริ่มจำหน่ายตั๋วโดยสารพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565

ผู้สนใจสามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้า ได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ หรือระบบ D-Ticket รวมถึงสามารถจองเดินทางเป็นหมู่คณะแบบเช่าเหมาคัน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย 

สำหรับประวัติขบวนรถไฟลอยน้ำ เดิมเป็นทางรถไฟสายกรุงเทพ บัวใหญ่ หนองคาย อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักในอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และต่อมาพื้นที่ดังกล่าวถูกพัฒนาเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้กักเก็บน้ำ แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน

พร้อมกับมีการสร้างทางรถไฟยกระดับขึ้นเหนือน้ำ เพื่อใช้สัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ ซึ่งเมื่อขบวนรถไฟวิ่งลัดเลาะไปตามขอบของอ่างเก็บน้ำ  และมองออกไปนอกหน้าต่างจะดูคล้ายกับรถไฟแล่นไปบนผิวน้ำ ขบวนรถไฟนี้จึงได้ชื่อว่า “รถไฟลอยน้ำ” 

ทั้งนี้ ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะเปิดให้บริการแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดจัดในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 รวม 24 วัน ประกอบด้วย 
วันที่ 5–6, 12-13, 19-20, 26-27 พฤศจิกายน 2565 
วันที่ 3-4, 10-11, 17-18, 24-25 ธันวาคม 2565 
วันที่ 7-8, 14-15, 21-22, 28-29 มกราคม 2566 

นอกจากนี้ ขบวนรถดังกล่าว จะไม่มีเดินช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ (วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2565 และอาทิตย์ที่ 1 มกราคม 2566) โดยให้บริการทั้งรถนั่งธรรมดา ชั้น 3 และรถปรับอากาศ ชั้น 2 คิดอัตราค่าโดยสารผู้ใหญ่และเด็กราคาเดียวกัน ดังนี้

รถธรรมดา   

กรุงเทพ–เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์   ไป-กลับ ราคา 330 บาท
สระบุรี/แก่งคอย – โคกสลุง   ไป-กลับ ราคา 130 บาท
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ -กรุงเทพ เฉพาะเที่ยวกลับ ราคา 150 บาท

รถปรับอากาศ

กรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ไป-กลับ  ราคา 560 บาท 
สระบุรี/แก่งคอย – โคกสลุง ไป-กลับ  ราคา 260 บาท 
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ  เฉพาะเที่ยวกลับ ราคา 250 บาท


ทั้งนี้ ตารางการเดินรถ เที่ยวไป (ขบวนที่ 921) ขบวนรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 06.00 น. จากนั้นหยุดรับ-ส่ง ผู้โดยสารตามสถานีต่าง ๆ คือ  สถานีสามเสน ชุมทางบางซื่อ บางเขน หลักสี่  ดอนเมือง รังสิต อยุธยา สระบุรี ชุมทางแก่งคอย ถึง จุดชมวิว “รถไฟลอยน้ำ” กลางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขบวนรถจะหยุดกลางสันเขื่อนมีเวลาให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ดื่มด่ำกับความงดงาม 20 นาที และเดินทางไปที่สถานีโคกสลุง

มีเวลาให้นักท่องเที่ยว ชิม ช๊อป สินค้าพื้นเมือง OTOP  ประมาณ 30 นาที จากนั้นขบวนรถจะพานักท่องเที่ยวมาถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 10.35 น.

นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะรับประทานอาหารกลางวันจากร้านค้าของกลุ่มชุมชนท้องถิ่น หรือท่องเที่ยวรอบนอกตัวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

โดยใช้บริการรถตู้ อัตราค่าบริการท่านละ 70 บาทตลอดเส้นทาง ที่จะนำชมสถานที่ท่องเที่ยวทุ่งทานตะวัน ณ บ้านกล้วย & ไข่ ชมสวนเฟิร์นยักษ์ และถ่ายรูปกับบรรยากาศสไตล์ชิคๆ ที่จุดชุมวิว ณ ไร่ทรัพย์ประยูร และขึ้นขบวนรถไฟเที่ยวกลับ (ขบวนที่ 926) ออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 15.30 น. และหยุดรับ-ส่ง ผู้โดยสารตามสถานีต่าง ๆ คือ สถานีชุมทางแก่งคอย สระบุรี อยุธยา รังสิต ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน ชุมทางบางซื่อ สามเสน ถึงสถานีกรุงเทพฯ เวลา 18.50 น.

นายเอกรัช กล่าวเพิ่มเติมว่า รฟท. คาดหวังว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวได้ตามนโยบายของรัฐบาล ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ สร้างความเข้มแข็งสู่เศรษฐกิจฐานราก และชุมชนให้กลับมามีความเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป