fbpx
News update

รีไซเคิลจักรยานเพื่อน้องบางระกำ…ตามศาสตร์พระราชา

Onlinenewstime.com : หากมองสิ่งเหลือใช้ให้เป็นวัตถุดิบ ก็สามารถใช้ความรู้รีไซเคิลช่วยสิ่งแวดล้อม…แบ่งปันให้โลกน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิมได้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการ “จักรยานรีไซเคิลเพื่อน้องบางระกำ…ตามศาสตร์พระราชา” แท็กทีมจิตอาสา รวมพลังรีไซเคิลจักรยานสำหรับน้องนักเรียน โดยมี ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นประธานส่งมอบจำนวน 40 คัน แก่ พ.ต.ท. โสภณ มุ้ยจั่น  ผู้แทนจากโรงเรียนบางระกำ จ.พิษณุโลก

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จักรยานและรถรางไฟฟ้า เป็น Mobility ของการสัญจรหลัก ในคณะวิศวกรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการยกย่องเป็น Green University ในแต่ละปีมีจักรยานที่นักศึกษาซึ่งจบไปและไม่ได้ใช้แล้ว รวมกับจักรยานบริจาคจำนวนมาก

ขณะที่โรงเรียนบางระกำ ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก มีแนวคิดในการส่งเสริมนักเรียนปั่นจักรยานจากบ้าน ไป-กลับ โรงเรียน เพื่อสุขภาพของนักเรียน และลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง แต่ทางโรงเรียน ยังขาดแคลนจักรยานสำหรับนักเรียน  งานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ESR) ในการบริหารของ ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดี จึงได้จัดโครงการ “จักรยานรีไซเคิลเพื่อน้องบางระกำ…ตามศาสตร์พระราชา”

โดยระดมทีมจิตอาสาจากนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ มาชุบชีวิตจักรยานเก่า ให้กลับมาใช้งานวิ่งฉิวได้อีกครั้ง นับเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ส่งเสริมการรีไซเคิล ซึ่งลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมวิถีการสัญจรเพื่อสุขภาพและไร้มลพิษแก่เยาวชน ฝึกฝนการใช้ทักษะทางวิศวกรรมของนักศึกษาและทีมจิตอาสา และที่สำคัญ ได้สืบสานศาสตร์พระราชาในการแบ่งปันช่วยเหลือสังคมส่วนรวม

สุชานันท์ พิทยาธรไชยศรี นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจิตอาสานี้ เพราะเราอยู่ในโลกยุค Circular Economy สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน หากมีแต่คนทิ้งอย่างเดียว โลกจะเต็มไปด้วยขยะ การได้ใช้ความคิดและทักษะความรู้ในการซ่อมจักรยาน ทำให้เราได้ส่งมอบสิ่งดี ๆ มีประโยชน์ให้กับน้องเยาวชนที่อยู่ห่างไกลด้วย

จักรยานที่นำมาซ่อมและเปลี่ยนโฉม ส่วนใหญ่จะมีส่วนที่ชำรุดและสึกหรอ เช่น ยางแข็งกระด้างหมดสภาพ สีลอกบ้าง เราก็ช่วยกันทาสีใหม่ เปลี่ยนโซ่ทั้งด้านหน้า-หลัง เปลี่ยนยาง เปลี่ยนผ้าเบรค สายเบรค รวมไปถึงซ่อมเบาะนั่ง ตะกร้าหน้ารถ แล้วแต่สภาพของแต่ละคัน รู้สึกสนุกและประทับใจมาก ตอนที่เห็นจักรยานที่เสร็จแล้วทั้ง 40 คัน โหลดขึ้นรถบรรทุกเตรียมขนส่งไปที่โรงเรียน  มีความสุขที่ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อน้องๆนักเรียน ให้ได้ใช้งาน ประหยัดเงินและพลังงานอีกด้วย

ณัฐธิดา อัลภาชน์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จักรยานแต่ละคันมีความหมายกับอีกหลายชีวิต  เห็นรอยยิ้มของน้องๆ บางระกำแล้วรู้สึกหายเหนื่อย ในช่วงที่รีไซเคิลซ่อม-สร้าง แม้จะไม่เคยมีความรู้ในการซ่อมจักรยานมาก่อน แต่ไม่ใช่ปัญหา เพราะได้เรียนรู้ถึงอุปกรณ์ และวิธีซ่อมเครื่องมือจากทีมช่างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำ

เบื้องต้นเราจะต้องตรวจสภาพจักรยานก่อน เพื่อประเมินความเสียหายของจักรยาน แล้ววางแผนซ่อมปรับปรุง หากชำรุดไม่มาก เปลี่ยนอะไหล่ใหม่ก็สามารถใช้งานได้เลย จะใช้เวลาซ่อมคันละประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่จักรยานบางคันที่ประเมินแล้วยากจะซ่อมแซม ก็จะนำอะไหล่ที่ยังสามารถใช้งานได้ดีอยู่ ถอดออกมาเพื่อนำไปประกอบให้กับจักรยานคันอื่น ๆ นอกจากใช้ความรู้ซ่อมจักรยานแล้ว ยังได้มารู้จักเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยที่มาช่วยเหลือกัน

หนึ่งในทีมจิตอาสา ปิยะ ไพบูลย์รุ่งโรจน์ วิศวกรภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พื้นฐานของวิศวกรรม คือ วิเคราะห์ ออกแบบและพัฒนา นำความรู้ทางวิศวะมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น การเชื่อมเหล็ก ขัด ถู อ๊อกเหล็ก รวมไปถึงงานไฟฟ้า ในโครงการนี้ ผมมีหน้าที่สอนและบอกเทคนิคการซ่อมแซมแก่ทีมนักศึกษาจิตอาสา ว่าควรจับตรงไหน มุมไหนถึงจะง่ายต่อการซ่อมแซม การถอดล้อด้านหน้า-ด้านหลัง การเปลี่ยนยางด้านใน-ด้านนอกทำอย่างไร

ในการส่งมอบจักรยานรีไซเคิลแก่โรงเรียนบางระกำ เราได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาจักรยาน แก่เด็กนักเรียนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจักรยานนั้นจะมีราคาถูกหรือแพง ถ้าขาดการดูแลอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอแล้ว จะทำให้อายุการใช้งานสั้นลงและอาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้

สำหรับหลักการดูแลรักษาจักรยานเบื้องต้น เช่น ควรตรวจเช็คและเติมลมยางสัปดาห์ละครั้ง, ตรวจดูความตึงของโซ่ เบรค หรือน็อตต่างๆ ให้พร้อมใช้เสมอ, หากโซ่มีปัญหาขึ้นสนิม ควรทำความสะอาดและหยอดน้ำมันเป็นระยะ, ไม่จอดจักรยานทิ้งตากแดดจัด หรือตากฝนนานเกินไป เป็นต้น

ความสุขที่ผลิบาน จากเจ้าของจักรยานเก่า จิตอาสานักรีไซเคิล ไปถึงหลายชีวิตในโรงเรียน