Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ลงพื้นที่ตรวจไซด์ก่อสร้างชักรอกถล่มทับ 3 คนงาน ชี้บกพร่องป้องกันอุบัติเหตุ

Onlinenewstime.com : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร นำทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่เกิดเหตุ โครงสร้างรับชุดรอกถล่ม ในไซต์ก่อสร้างใกล้อาคารคลองถมเซ็นเตอร์ ซอยเจ้าคำรบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่เกิดการหลุด และพังลงมาทับนั่งร้านคนงานจนได้รับบาดเจ็บ 3 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า การก่อสร้างในสถานที่คับแคบที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้าย หรือยกชิ้นงาน ที่ใช้ในการก่อสร้างซึ่งมีน้ำหนักมาก อุปกรณ์ที่ใช้ต้องผ่านการตรวจสอบ และมีหลักการเทคนิคที่ถูกต้อง เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด อาจเกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อชีวิต หรือกระทบกับอาคารข้างเคียงได้

สำหรับอาคาร 6 ชั้นระหว่างก่อสร้างที่เกิดเหตุนี้ ใช้วิธีการยกโครงสร้างเหล็ก ที่จะประกอบเป็นเสา ขณะเกิดเหตุกำลังดำเนินการยกขึ้นไปติดตั้งในระดับชั้น 3 ซึ่งมีความสูงประมาณ 6-7 เมตร และใช้ตัวช่วยยก เรียกว่า “โครงถักเหล็กแป๊บ” ทำหน้าที่คล้ายปั้นจั่น สำหรับดึงวัสดุขึ้นไป

ลักษณะการดึงยก ต้องตรวจสอบว่าแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ สถานะการยืนของปั้นจั่น มีเสถียรภาพเพียงพอ (Stability) หรือไม่ ฐานมีการยึดตรึงแน่นหรือไม่ เพราะการยก อาจมีทั้งแรงในแนวดิ่ง ในแนวราบ และแรงบิดเกิดขึ้นในขณะเดียวกันได้ จึงต้องระมัดระวังอย่างมาก และต้องมีวิศวกรที่มีความชำนาญควบคุมอย่างใกล้ชิด

ตามกฎหมายควบคุมอาคาร ให้คำจำกัดความ “อาคาร” หมายรวมถึงสิ่งก่อสร้างที่บุคคลใช้สอยได้ ซึ่งนอกจากตัวอาคารแล้ว ยังหมายรวมถึงสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่มีความสูงเกิน 10 เมตร โครงสร้างเหล็กแป๊บดังกล่าวสูงประมาณ 15 เมตร น่าจะเข้าข่ายวิศวกรรมควบคุมตาม พ.ร.บ. วิศวกร ดังนั้นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนดำเนินการก่อสร้าง

สำหรับการลงตรวจพื้นที่ครั้งนี้เพื่อจะได้นำข้อมูลกลับไปทำมาตรฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเพิ่มเติม เพื่อที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต

จากการตรวจสอบพบว่าไซต์ก่อสร้างแห่งนี้ ขาดความรอบคอบในการป้องกันอุบัติเหตุ เพราะได้ใช้รอกยกสิ่งของน้ำหนัก 1.8 -2 ตัน ต้องมีผู้ควบคุมตรวจสอบ และคอยดูแลว่า อุปกรณ์ที่ใช้มีความเหมาะสมกับงานหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างแห่งนี้มีจำกัด และการใช้เครนหรือปั้นจั่น ที่มีความสูงเกิน 10 เมตร จำเป็นต้องมีวิศวกรควบคุมตรวจสอบ รวมถึงแนะนำคนงานในการทำงานตลอดเวลา จึงถือเป็นความบกพร่องกับผู้เกี่ยวข้อง

นายวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย /กรรมการความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า สำหรับวิธีการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนเหล็ก หรือสิ่งของน้ำหนักมาก อันดับแรกต้องประเมินน้ำหนักสิ่งของและดูอุปกรณ์ที่ใช้ยก จะใช้เครน หรือรอกยกก็ได้ แต่ต้องดูพิกัดน้ำหนักสิ่งของ และต้องผูกมัดด้วยสลิงที่ออกแบบโดยเฉพาะ ที่จะมีมาตรฐานกำหนด

ส่วนโครงสร้างชั่วคราว ที่ใช้รับน้ำหนัก ต้องให้วิศวกรคำนวณการผูกรั้งยึดเกาะกับโครงสร้างหลักของอาคาร เพราะระหว่างการก่อสร้าง อาจเกิดแรงเคลื่อนไหวกระทบกับรอกได้ จึงต้องมีวิศวกรชำนาญการเฉพาะ ส่วนคนงานผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ต้องผ่านการฝึกอบรมการทำงาน และมีความรู้พอสมควร

นายสุรเชษฐ์ สีงาม กรรมการความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ผู้ควบคุมจำเป็นต้องให้ความรู้ กับคนงานก่อสร้าง ให้เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ และตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนเริ่มงานทุกครั้ง รวมถึงจัดอุปกรณ์การป้องกันบุคคลที่มีมาตรฐานด้วย  ล่าสุดมีรายงานว่าคนงานทั้ง 3 คน ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลและปลอดภัยแล้ว

Exit mobile version