fbpx
News update

วสท.ไขข้อข้องใจเชิงวิศวกรรม ทำอย่างไรจะป้องกัน“งู” เข้าบ้าน

onlinenewstime.com : ประเทศเขตร้อนอย่างบ้านเรา ชุมชนและคนเมืองหลายคนต้องพบเจอปัญหางูเลื้อยเข้าบ้าน บ่อย

สาเหตุมาจากการขยายตัวที่อยู่อาศัยและพัฒนาเมืองซึ่งรุกล้ำพื้นที่เดิมที่เคยเป็นแหล่งอาหารและที่อาศัยของสัตว์ต่างๆ รวมทั้ง งู ด้วย ตลอดจนปัญหาการจัดการขยะที่ส่งผลให้ปริมาณของหนูซึ่งเป็นอาหารของงูมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้งูหลายชนิดมีการปรับตัวเพื่อที่จะอยู่อาศัย

รวมทั้งล่าเหยื่อที่มีอยู่ภายในตัวเมืองเป็นจำนวนมาก เช่น หนูตามบ้านและท่อระบายน้ำ

ปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามต่างๆตามมามากมาย เช่น งูเข้าบ้านได้อย่างไร จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันงูเข้าบ้าน จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามถึง ช่องทางเร้นลับที่งูเล็ดลอดเข้าสู่บ้าน และวิธีป้องกันงูไม่ให้เข้าบ้าน

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา มาไขข้อข้องใจในเชิงวิศวกร ว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีข่าว งูผลุบโผล่ชักโครกบ่อยมาก ทั้งใน กทม.และ ตจว. จึงมีคำถามตามมามากมาย การก่อสร้างห้องน้ำลักษณะใดที่อาจเป็นช่องโหว่ให้งูเข้ามาในชักโครก แล้วจะหามาตรการป้องกันตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัย?
งูมักจะเลื้อยเข้าตามรูที่จะสามารถเข้าได้จากภายนอกอาคาร แม้กระทั่งทางท่อระบายน้ำแอร์ ในช่วงที่ไม่มีน้ำไหล ซึ่งหากเปิดหน้ากากแอร์เพื่อทำความสะอาด บางครั้งก็เจอซากงูด้วย
ส่วนการที่งูเข้าไปโผล่ตามชักโครกนั้นเกิดจาก 3 ประเด็น ดังนี้
1. ท่อระบายน้ำแตก ทั้งนี้ในการสร้างบ้านต้องมีการวางระบบท่อ และบ่อส้วมซึมไว้ใต้ดิน ซึ่งขุดบ่อไว้ด้านนอกและใช้ฝาปิด โดยนิสัยตามธรรมชาติแล้ว งูชอบอยู่ในพื้นที่ 3 ลักษณะ คือ โพรง ชื้น และมืด หากเกิดการชำรุด ท่อชักโครกที่ต่อตรงไปท่อบำบัดแตก อาจทำให้งูเลื้อยผ่านเข้าท่อระบายน้ำ แล้วหลุดเข้ามาที่บ่อเกรอะได้ ทำให้งูเลื้อยผ่านไปยังท่อที่เชื่อมกับคอห่านได้ง่ายดาย และทุกครั้งที่กดน้ำชักโครก น้ำจะรั่วซึมไหลตามท่อที่แตก ทำให้เกิดโพรงในดิน จนเกิดความชื้นและมืด งูจึงอาจเข้าไปทำรัง
2. ท่อระบายอากาศส้วม ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปตัวทีสั้นๆ ขนาด 2 นิ้ว อยู่โผล่เหนือดิน งูสามารถเลื้อยเข้าได้
         
3. ถังบำบัดสำเร็จรูป ซึ่งอยู่ลึกใต้ดิน 10 – 20 เมตร ท่อไม่ได้ติดตาข่าย หรือฝาบ่อมีความชื้นและมืด หากแตกชำรุด เป็นโพรง งูอาจจะเข้าไปทำรังได้ หรือเลื้อยเข้ามาจากท่อที่เชื่อมบ่อเกรอะเพื่อป้องกัน หรือแก้ไข ไม่ให้อสรพิษร้ายโผล่เข้าบ้าน
ควรทำอย่างไร จะมีหลักแนวคิดก่อนสร้างบ้าน-ส้วม เพื่อป้องกันทางไม่ให้งูโผล่ ผู้เชี่ยวชาญในเชิงวิศวกรแนะนำไว้ดังนี้ บ้านที่งูเข้ามาโดยมาก ตัวชักโครกและบ่อบำบัดจะอยู่ติดกัน พองูเข้ามาตามท่อก็โผล่มาที่ชักโครกเพื่อหาทางออก ถ้าจะสร้างบ้านใหม่ ควรทำท่อให้ห่างจากบ้านให้มาก แต่ก็จะมีภาระในการดูแลรักษา เนื่องจากฝังใต้ดิน อาจแตกได้ เพื่อลดภาวะเสี่ยงในอนาคต ควรยึด 4 หลักของการสร้างบ้าน คือ ออกแบบดี ใช้วัสดุดี การก่อสร้างดี และการบำรุงรักษาที่ดี
กรณีท่อระบายอากาศอยู่ไม่สูงนัก ให้หาตะแกรงคลุมปลายท่อ และมัดให้แน่น แต่ปัจจุบันหมู่บ้านจัดสรร มีวิธีป้องกันโดยเดินท่อระบายอากาศแนบผนังให้อยู่สูงในระยะเกือบชั้นสองของบ้านที่งูไม่สามารถเลื้อยเข้าไปได้ ซึ่งหลายคนคิดว่า เพื่อตัดปัญหา งั้นไม่ต้องมีท่อระบายอากาศได้หรือไม่
รศ.เอนก อธิบายว่า จะมีผลกระทบเวลากดปล่อยน้ำ อากาศจะดันทำให้การไหลลงของสิ่งปฏิกูลไม่มีประสิทธิภาพ เกิดน้ำเอ่อ ส่วนบ่อเกรอะก็ทำตาข่ายที่ปลายท่อกันไว้
“ห้องน้ำชั้นล่างของบ้านมีโอกาสที่งูเข้าบ้านบ่อยกว่าห้องน้ำชั้นบน เพราะงูเลื้อยขึ้นไม่ได้ ต้องหมั่นตรวจสอบและแก้ไขระบบท่อ หากมีการรั่ว มีช่องโหว่ ให้รีบแก้ไข บริเวณปลายท่อน้ำทิ้งควรติดตั้งตะแกรงหรือตาข่ายป้องกันงูไม่ให้เลื้อยผ่านเข้ามายังท่อ ส่วนบ่อเกรอะหากเป็นระบบเก่า ให้ทำระบบใหม่ โดยเดินท่อให้ห่างจากชักโครก แต่เดี๋ยวนี้บ่อบำบัดสมัยใหม่ โอกาสงูจะเข้าตรงท่ออากาศมีน้อย เพราะมีแผงบำบัดน้ำเสียหลายขั้นตอนเยอะ”
บ่อพักน้ำในะระบบระบายน้ำนอกอาคารควรมีฝาปิดและหมั่นดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดี เนื่องจากบ่อพักน้ำมีลักษณะเป็นโพรงที่มีความชื้น ความเย็นและมืด เหมาะกับการอยู่อาศัยของงู จึงต้องตรวจสอบว่ามีงูหรือไม่
ควรติดตั้งตะแกรงกันงูตามท่อระบายน้ำทิ้งต่างๆ เช่น ท่อระบายน้ำจากครัว ท่อระบายน้ำทิ้งจากเครื่องปรับอากาศ ก็เคยพบซากงูในบริเวณ Coil เย็น จึงเป็นอีกจุดที่ควรปิดด้วยตะแกรงที่เชื่อมออกไปนอกตัวบ้าน
ปิดประตูส่วนที่ติดกับพื้นที่นอกบ้าน เช่น ประตูครัว บานเปิดห้องรับแขกกับสวน และปิดประตูห้องน้ำให้สนิท ก่อนเข้าห้องน้ำหรือทำภารกิจควรสังเกตภายในห้องน้ำ คอห่านหรือชักโครก ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ และทำการกดน้ำหรือราดน้ำก่อนทำภารกิจ
อุดรอยรั่ว รอยแยก หรือช่องต่าง ๆ ที่งูจะสามารถเข้าไปซ่อนตัวอาศัยได้ และกำจัดแหล่งอาหารของงู เช่น หนู ดังนั้น ควรดูแลบ้านไม่ให้มีสัตว์เหล่านี้ โดยดูแลบ้านให้สะอาด ไม่รกรุงรังจนกลายเป็นที่อยู่ของหนู จัดเก็บทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง หรือหากชอบเลี้ยงสัตว์จำพวกนก ไก่ ก็ควรทำกรงเป็นที่อยู่ให้มิดชิด