Onlinenewstime.com : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ระดมพลังฝ่าวิกฤติไวรัส COVID-19 พัฒนานวัตกรรมต้นแบบ “ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” สนับสนุนการปฏิบัติงาน ของบุคลากรการแพทย์และโรงพยาบาล และรองรับผู้ป่วยติดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันใน 59 จังหวัด
ทั้งนี้ วสท.ได้ส่งมอบตู้ความดันลบ 2 แบบแก่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า และโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะแล้ว และจะส่งมอบให้โรงพยาบาล ในสังกัดกองทัพพบก และโรงพยาบาลอื่นๆในลำดับต่อๆไป ประหยัดและประกอบติดตั้งได้เร็วภายใน 15 นาที มุ่งป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาล และลดความเสี่ยงของบุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยและประชาชน ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 กลับมาเป็นปกติสุขโดยเร็ว
เมื่อเร็วๆนี้ พล.ท.ชาญชัย ติกขะปัญโญ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก รับมอบ”ตู้ความดันลบ พร้อมห้อง Ante room” จาก ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีทีมแพทย์ รพ.พระมงกุฏเกล้า ร่วมเป็นสักขีพยานในการทดสอบ
และให้ประกอบตู้ความดันลบทั้งแบบที่ 1 และแบบที่ 2 จำนวนกว่า 88 ตู้ เพื่อนำไปใช้กับโรงพยาบาลในเครือกองทัพบกทั่วประเทศ นอกจากนี้ วสท.ยังได้ส่งมอบให้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โดยพลตรี นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ และคณะแพทย์ ร่วมทดสอบสมรรถนะการใช้งานตามมาตรฐาน
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า วสท.ในฐานะสมาคมวิชาชีพทางด้านวิศวกรรม ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมตลอดมา ได้จัดตั้ง ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 เพื่อรวมพลังวืศวกรและผู้เชี่ยวชาญนำองค์ความรู้ มาสร้างสิ่งประดิษฐ์และการป้องกันบรรเทาภัยโควิด-19
ในปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศไทย กำลังขาดแคลนห้องความดันลบ และสร้างไม่ทันต่อจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น จึงได้พัฒนาสร้าง “ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” มุ่งใช้เป็นห้องอเนกประสงค์บรรเทาความแออัดในสถานพยาบาล และป้องกันอันตราย ที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ใช้กับกลุ่มเสี่ยง การกักตัว และใช้ในบ้านสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย ทั้งนี้ วสท.ได้ทำ ต้นแบบมาตรฐานตู้ความดันลบ และคู่มือผู้ใช้ ซึ่งประกอบด้วย ข้อควรระวัง แบบมาตรฐาน วิธีการประกอบ วิธีใช้งาน วิธีการบำรุงรักษาและอื่นๆ โดยแบบมาตรฐานนี้หน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาชน สามารถนำไปผลิตใช้เองได้
แนวคิดและประโยชน์การใช้งานตู้ความดันลบ
1. เพื่อใช้เป็นห้องแยกความดันลบทั่วไป ที่สามารถให้คนนั่งได้ 3 ถึง 4 คน หรือหนึ่งเตียงในสถานพยาบาล เคหะสถาน และอื่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ
2. เพื่อใช้ครอบเตียงผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีโอกาสแพร่เชื้อ หรือติดเชื้อทางอากาศ
3. เพื่อลดระยะห่างความปลอดภัย ระหว่างเตียงผู้ป่วย และอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ในการเข้าตรวจผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นต้องใส่ชุดป้องกันบุคคล
4. เสริมความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และประชาชนที่มาใช้บริการในโรงพยาบาล
5. เพื่อใช้งานทั้งภายในอาคารและในที่ร่มภายนอกอาคาร
6. เพื่อสนับสนุนการใช้วัสดุภายในประเทศ และวัสดุที่เลือกใช้ ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยในการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้โดยง่าย
7. เพื่อเป็นมาตรฐานกลางให้กับหน่วยงานราชการและเอกชน นำไปใช้ในการจัดซื้อต่อไป
คุณบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” ได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยทางการแพทย์ และหลักวิศวกรรม ในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทั้งในและนอกสถานที่ โดยมี 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 ตู้ความดันลบขนาดเล็ก สำหรับ 1 เตียง หรือคนไข้นั่ง 3- 4 คน ตามระยะห่างความปลอดภัย ต่อการแพร่เชื้อ ขนาดตู้ 1.30 x 2.60 x 2.20 เมตร เพียงพอที่จะใส่เตียงคนไข้ ความกว้าง ประมาณ 0.60 เมตร ยาว 1.90 เมตร และเสาน้ำเกลือสูง 2.10 เมตร ห้องมีน้ำหนักเบา และสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ใช้เวลาในการติดตั้งเพียง 15 นาที ใช้ต้นทุนประมาณ 8,500 บาท หากต่อเป็น 2 ยูนิต โดยใช้เสากลางร่วมก็จะยิ่งลดต้นทุนให้ต่ำลงอีก
แบบที่ 2 ตู้ความดันลบขนาดใหญ่ เพื่อความสะดวกและปลอดภัย ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ขนาด 1.90 ม.x 2.60 ม.X สูง 2.20 ม.พร้อมพื้นที่ส่วนของแพทย์พยาบาลไว้ด้วย (Ante room) ด้านหน้าประตูเข้าห้องคนไข้ ขนาดความกว้าง 0.90 ม.x 2.60 ม.X สูง 2.20 เมตร ตามมาตรฐานความสะอาด ลมจะไหลจากด้านนอก เข้าไปที่ห้อง Ante และไหลเข้าห้องคนไข้ พัดลมจะนำอากาศจากห้องคนไข้ ไปทิ้งนอกอาคาร
สำหรับระบบโครงสร้างตู้ความดันลบเป็นวัสดุภายในประเทศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้ง่าย
วัสดุส่วนประกอบ ได้แก่ ท่อพีวีซี, ข้องอ 90 องศา , ข้อต่อสามทาง , ข้อต่อท่อรูกันซึม , เกลียวเร่ง (Turnbuckle) , Clamp รัดสลิง , เกลียวปล่อย และลวดสลิง ผนังคลุมด้วยแผ่นพลาสติกใสมาตรฐาน GMP หนา 60 ไมครอน ตู้ความดันลบ นี้ต้องผ่านสองเงื่อนไขหลักคือความสะอาด และความดันห้อง
ในส่วนความสะอาดของห้อง จะมีการนำอากาศจากภายนอกห้อง ไหลเข้ามาเจือจางอากาศที่ปนเปื้อนภายในห้อง โดยใช้พัดลมดูดอากาศที่ด้านหัวเตียงคนไข้ในอัตราไม่น้อยกว่า 12 ครั้งต่อชั่วโมง (ACH) เพื่อนำอากาศที่เจือจางนี้ทั้งหมด (100%) ไปปล่อยทิ้งนอกอาคาร ในระยะห่างจากอาคารไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร หรือปล่อยทิ้งที่หลังคาให้สูงอย่างน้อย 3.00 เมตร โดยไม่นำอากาศที่เจือจางนี้กลับมาใช้ใหม่
รวมทั้งจะต้องไมให้อากาศที่เจือจางนี้ สามารถไหลกลับเข้ามาในอาคารได้ ระบบท่อระบายอากาศทิ้งนี้ หากไม่สามารถติดตั้งให้มีระยะห่างจากอาคาร 8.00 เมตร หรือทิ้งที่หลังคาสูง 3.00 เมตรได้ ก็สามารถดัดแปลง ให้ใส่เครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูง(HEPA) ทำการฆ่าเชื้อก่อนระบายทิ้งสู่บรรยากาศได้
สำหรับในส่วนความดันห้อง จะรักษาระดับความดันลบภายในห้องให้น้อยกว่า 2.5 ปาสกาล(Pa) เทียบกับความดันอากาศบริเวณโดยรอบ ส่วนระดับอุณหภูมิอากาศภายนอกและภายในห้อง ให้แตกต่างกันไม่เกินบวกลบ 2 องศาเซลเซียส
ผลการทดสอบสมรรถนะผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีดังนี้
1. ความแตกต่างของอุณหภูมิของอากาศ ภายในห้องและภายนอกห้อง ก่อนเปิดและปิดพัดลม บวกลบไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ผลการตรวจวัด : ผ่านการทดสอบโดยวัดอุณหภูมิภายนอกและภายในห้องวัดได้ 32.4 – 32.5 องศาเซลเซียสใกล้เคียงกัน
2. การตรวจวัดการรั่วของอากาศ ที่รอยต่อผนังห้อง ผ่านการทดสอบโดยค่าความเร็วลม อ่านได้ศูนย์ และควันธูปไม่ไหลเข้าห้อง
3. การตรวจวัดอัตราการไหลของอากาศ เพื่อระบายอากาศภายในห้องไม่น้อยกว่า 12 ACH ผลการตรวจวัด: ผ่านการทดสอบอ่านค่าได้ 147.02 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เท่ากับ 19 ACH
4. การตรวจสอบความดันลบของห้อง ไม่น้อยกว่า 2.50 ปาสกาล (Pa) อ่านค่าความดันลบภายในห้องได้ 8 ถึง 12 Pa
ผู้ประสงค์จะรับแบบรายละเอียด ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซต์ วสท. หรือติดต่อได้ที่ คุณอรัญญา ขาวสุวรรณ โทรศัพท์ 02-9356509, 081-914-0301 Email
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ขอส่งกำลังใจให้บุคคลากรการแพทย์และทุกภาคส่วน รวมพลังก้าวผ่านวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ไปด้วยกัน ด้วยความรักสามัคคี องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบต่อสังคม