fbpx
News update

วิจัยกรุงศรี ประเมินผลกระทบ “วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน” ต่อเศรษฐกิจไทย

Onlinenewstime.com : ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างสองประเทศ ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกด้วย เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง

วิจัยกรุงศรี ศึกษาความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ ที่อาจเกิดขึ้นในกรณีต่างๆ พบว่ามีแนวโน้มที่เป็นไปได้สูงมี 3 กรณี

(1) การสู้รบยุติภายในเดือนมีนาคม ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรยังคงมีต่อไปจนสิ้นปี 2022

(2) การสู้รบยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น

(3) การสู้รบยืดเยื้อจนถึงกลางปี 2022 ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการยุติการส่งออกสินค้าพลังงานไปยุโรป โดยช่องทางการส่งผ่านผลกระทบหลักมีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ การค้าและการขนส่ง ความมั่นคงด้านพลังงาน เสถียรภาพด้านราคา และผลจากรายได้และตลาดการเงิน

วิจัยกรุงศรีคำนวณหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยใช้แบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE) พบว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2022 ในแต่ละกรณีมีแนวโน้มหดตัวจากกรณีฐาน 0.5% 1.3% และ 2.9% ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากในกรณีฐาน 1.3% 2.0% และ 3.6% ตามลำดับ

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย พบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวช้ากว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 0.4% 1.1% และ 2.4% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวกว่าที่่คาดไว้ 1.4% 2.3% และ 3.5% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกหดตัวกว่าในกรณีฐาน 1.1% 3.0% และ 4.7% ตามลำดับ

ในส่วนของผลกระทบรายอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ภาคขนส่ง โรงกลั่นน้ำมัน การขนส่งทางเรือ และอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าโลหะและพลังงาน ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ธุรกิจน้ำตาล เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องหนัง โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นและการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion)
 
ที่มา : วิจัยกรุงศรี By Rachot Leingchan

อ่านฉบับเต็ม ผลกระทบของวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนต่อเศรษฐกิจไทย