Onlinenewstime.com : Research Intelligence รถยนต์ไฟฟ้า : ความต้องการและโอกาสที่กำลังมาถึง โดย นายรชฏ เลียงจันทร์ นักวิเคราะห์ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกระแสการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในประเทศจีน กลุ่มประเทศยุโรป และประเทศสหรัฐฯ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ดูเหมือนการการตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ยังตามหลังหลายประเทศ วิจัยกรุงศรีจึงสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 เพื่อศึกษาความต้องการ อุปสรรค และพฤติกรรมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งหาแนวทางการปรับตัวของผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่อไป
วิจัยกรุงศรีพบว่า คนที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าตัดสินใจซื้อเนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่า ดีต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ขณะที่สถานีชาร์จไฟที่ยังมีจำนวนไม่ครอบคลุม ระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งที่สั้น ระยะเวลาการชาร์จที่นาน และราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ยังสูงกว่ารถ ICE เป็นอุปสรรคสำคัญของการตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าของไทย
จากการสำรวจพบว่ามากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถาม วางแผนจะซื้อรถยนต์ใน 5 ปีข้างหน้า และรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV เป็นรถที่ผู้บริโภคให้ความสนใจสูงสุด โดยความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มเกิดขึ้นในปี 2022-23 ในช่วงนี้ความต้องการกระจุกอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาระดับปานกลางถึงสูง
จากนั้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจะเร่งตัวขึ้นในปี 2024 เป็นต้นไป ลักษณะของรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นที่ต้องการขยับลงมาที่รถขนาดเล็กและมีราคาถูกลง โดยทั้งลักษณะของรถยนต์ที่เป็นที่ต้องการ และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าชนิดใหม่ จึงทำให้ความภักดีต่อแบรนด์ลดน้อยลง
เมื่อประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องรีบหาทางปรับตัวและหาช่องทางในอุตสาหกรรมรถยนต์ยุคใหม่ อาทิ การปรับรูปแบบสินค้าและบริการ การหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หารูปแบบธุรกิจแบบใหม่ และการร่วมมือกับผู้เล่นรายอื่นทั้งในและนอกอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้สามารถแข่งขันต่อไปได้
นับตั้งแต่การถือกำเนิดของรถยนต์ในปี 1886 และการผลิตแบบสายพานในอีกเกือบ 30 ปีต่อมา ที่ทำให้ราคารถยนต์ลดลงมากจนคนทั่วไปสามารถเอื้อมถึงได้ กว่าร้อยสามสิบปีที่ยานพาหนะทางบกที่เคลื่อนที่ได้ด้วยเครื่องยนต์ชนิดนี้ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วทุกมุมโลก หนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญของรถยนต์คือการเปลี่ยนแหล่งพลังงาน จากการใช้น้ำมันของรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) กลายมาเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) ที่ใช้พลังงานควบคู่กันทั้งจากเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันและมอเตอร์ไฟฟ้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ที่ใช้พลังงาน 2 ประเภทควบคู่กันเหมือน HEV แต่สามารถเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จได้เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากเครื่องยนต์ แต่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากการชาร์จภายนอกเท่านั้น
อันที่จริงแล้ว รถยนต์พลังงานไฟฟ้าถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1880 หรือในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป และได้รับความนิยมสูสีกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในช่วงเวลาอีก 30 ปีต่อมา แต่ด้วยความเร็วที่ต่ำและระยะการขับขี่ต่อการชาร์จที่สั้น ประกอบกับระบบถนนในยุโรปและสหรัฐฯ ที่พัฒนามากขึ้นและเอื้อให้คนเดินทางระยะไกลด้วยรถยนต์มากขึ้น ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงพร้อมกับที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันกลายเป็นยานพาหนะทางบกหลัก ต้องใช้เวลาอีกเกือบหนึ่งศตวรรษกว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะได้ถูกพัฒนาจนกลับมาอยู่ในความสนใจของผู้บริโภคอีกครั้ง
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นำไปสู่การพัฒนา Ecosystem ของตลาดรถไฟฟ้าทั่วโลก
ล่าสุด รายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ระบุว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก (รวมถึงรถยนต์ PHEV และรถยนต์ BEV) ในปี 2021 เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2020 มาอยู่ที่ 6.6 ล้านคัน โดยร้อยละ 53 ของยอดขายทั่วโลก (ประมาณ 3.4 ล้านคัน) อยู่ที่จีน ตามมาด้วยตลาดยุโรป (ร้อยละ 33) และตลาดสหรัฐฯ (ร้อยละ 11) ทั้งนี้ ในปี 2021 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.6 ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 0.9 ในปี 2016 โดยปัจจุบันคาดว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการใช้งานทั่วโลกราว 16 ล้านคัน
ความต้องการรถไฟฟ้าที่เร่งตัวทั่วโลกนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ด้าน ได้แก่ การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น สาธารณูปโภคด้านการชาร์จไฟ การผลิตไฟฟ้า กฎระเบียบ และความต้องการของผู้บริโภค
- ผู้ผลิตรถยนต์และส่วนประกอบสำคัญต่างเร่งพัฒนาสินค้าและเพิ่มความหลากหลายของสินค้า เพื่อรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้น จากตัวเลขของ BloombergNEF[1] ในตลาดรถยนต์ในปี 2021 มีรถยนต์ไฟฟ้า PHEV และรถยนต์ไฟฟ้า BEV รวมกันมากถึง 500 รุ่น เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าจากปี 2016 และคาดว่าในช่วงสองปีข้างหน้าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าสองประเภทนี้ออกสู่ตลาดอีกประมาณ 180 รุ่น นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตแบตเตอรี่ยังร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ออกใหม่ ค่าเฉลี่ยของระยะทางในการขับขี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้นจาก 233 กิโลเมตรในปี 2016 มาอยู่ที่ 350 กิโลเมตรในปี 2021 นับเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50.2
- จำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั่วโลก IEA ระบุว่า จำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1.93 ล้านสถานีในปี 2021 แบ่งเป็นสถานีชาร์จแบบช้าจำนวน 1.38 ล้านสถานี (เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ประมาณ 50%) และเป็นสถานีชาร์จแบบเร็วจำนวน 0.55 ล้านสถานี (เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ประมาณ 43%) โดยสถานีชาร์จไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 65 อยู่ในประเทศจีน (รูปที่ 2) นอกจากนี้ หากคิดเป็นสัดส่วนระหว่างจำนวนสถานีชาร์จและจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2021 ทั่วโลกมีจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 สถานีต่อรถยนต์ไฟฟ้า 10 คัน ซึ่งมากกว่าจำนวนที่สหภาพยุโรปแนะนำไว้ ที่ 1 สถานีต่อรถยนต์ไฟฟ้า 10 คัน[2] ดังนั้น จะเห็นได้ว่า จำนวนสถานีชาร์จไฟที่เร่งตัวทั่วโลกสามารถรองรับความต้องการรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การกระจายตัวของสถานีชาร์จจะเป็นปัจจัยสำคัญหากต้องการให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในวงกว้างทั่วโลก
- หลายประเทศกำหนดเป้าหมายการเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า และออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย โดยภายใน 2030 นอร์เวย์ เดนมาร์ค ไอซ์แลนด์ สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักรต่างตั้งเป้าว่ารถยนต์ที่ออกขายจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ของรถยนต์ที่ออกขายใหม่ทั้งหมด ขณะญี่ปุ่นและจีนตั้งเป้าที่คล้ายคลึงกันเอาไว้ในปี 2035 โดยแต่ละประเทศได้จัดทำแพ็คเกจสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและไม่ใช่ตัวเงิน อาทิ ฝรั่งเศสและเยอรมนีให้เงินสนับสนุนประมาณ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน จีนจัดตั้งสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศและให้สิทธิประโยชน์ทั้งเป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินกับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า[3]
สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายนัก ด้วยสาเหตุเช่น รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาแพง การสนับสนุนจากรัฐไม่ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐานยังไม่มีเพียงพอ และตัวเลือกรุ่นรถในไทยมีจำกัด เป็นต้น ซึ่งหากไทยเป็นประเทศนำเข้ารถยนต์เพื่อบริโภคเป็นหลักก็อาจไม่จำเป็นต้องเร่งปรับตัวนัก แต่เนื่องจากไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่สำคัญประเทศหนึ่ง การปรับตัวของประเทศจึงมีความจำเป็นอยางยิ่ง ทั้งกับผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนเพื่อรักษาความสามารถในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกต่อไป และรวมไปถึงผู้เล่นที่เกี่ยวข้อง วิจัยกรุงศรีมองว่าความเข้าใจทั้ง Ecosystem ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะด้านความต้องการของลูกค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์และผู้เกี่ยวข้องสามารถวางแผนรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
ผลการสำรวจความต้องการและปัจจัยที่นำไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของผู้ใช้รถในประเทศไทย
เพื่อเตรียมตัวกับกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้น วิจัยกรุงศรีด้วยความร่วมมือจาก Krungsri Auto จึงได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคทั่วไปเกี่ยวกับความต้องการและปัจจัยที่นำไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยทำการสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ช่วงวันที่ 10-30 พฤศจิกายน 2021 มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 818 คน
ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าเนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการใช้งานต่ำกว่า (ร้อยละ 81) ดีต่อสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 73) และชื่นชอบเทคโนโลยี (ร้อยละ 59) ขณะที่ปัจจัยด้านยี่ห้อและผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ที่จอดรถพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ
หลังจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ระบุว่าสมรรถนะการขับขี่ของรถยนต์ไฟฟ้าดีกว่าที่คาดหวังไว้ ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สถานีบริการน้อยครั้งกว่าที่คาดไว้ และโดยรวมแล้วผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีความพึงพอใจต่อการใช้งานมากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะผู้ใช้รถยนต์ BEV ที่กว่าร้อยละ 81.8 มีความพึงพอใจโดยรวมมากกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้รถยนต์ BEV ยังมีแนวโน้มที่จะวางแผนในการขับรถมากขึ้น ขับรถเร็วขึ้น แต่ขับรถให้ประหยัดมากขึ้นอีกด้วย เช่น ขับด้วยความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นความเร็วระดับที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังพบปัญหาจากการใช้ โดยเฉพาะด้านการชาร์จ เช่น ระยะเวลาการชาร์จที่ยาวนาน จำนวนสถานีที่ยังไม่ครอบคลุม เป็นต้น นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุว่าระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งยังสั้นเกินไป
ผู้ที่ยังไม่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เหตุผลหลักที่ยังไม่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องของการชาร์จเช่นเดียวกัน โดยเหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ จำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้ายังไม่เพียงพอ ตามมาด้วยระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จที่สั้นเกินไป ราคาที่ยังสูงกว่ารถ ICE และการชาร์จใช้เวลานาน ส่วนปัจจัยที่ไม่มีผลต่อการตัดสินใจคือยี่ห้อรถยนต์และเทคโนโลยี อันที่จริงแล้ว ผู้ที่ยังไม่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ความสนใจรถยนต์ BEV มากที่สุด ดังนั้น หากมองฝั่งอุปสงค์ จะเห็นได้ว่าตลาดรถยนต์ของไทยในอนาคตอาจจะกระโดดข้ามจากรถยนต์สันดาปภายในไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่โดยไม่ต้องมีรถยนต์ไฮบริดทั้ง 2 ประเภทมาคั่นกลาง
เมื่อถามความคิดเห็นทั่วไปต่อรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ที่ยังไม่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าไม่มากนัก โดยหากได้รับความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถามมีแนวโน้มจะให้ความสนใจต่อรถยนต์ BEV มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์ ICE ขณะที่ร้อยละ 73.7 ของผู้ที่ยังไม่ได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าระบุว่าระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันเพียงพอต่อความต้องการขับขี่ปกติ นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 80 เชื่อว่าสมรรถนะการขับขี่ของรถยนต์ไฟฟ้าดีกว่ารถยนต์สันดาปภายใน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ปัญหาหลักที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของผู้ใช้ส่วนใหญ่ในไทย คือ ราคาที่ยังสูงกว่ารถยนต์สันดาปภายในและความรู้ความเข้าใจต่อรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่มาก
ขณะที่ประเด็นเรื่องการชาร์จนั้นหากผู้บริโภคได้ทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาจทำให้คลายความกังวลด้านการชาร์จลงได้
ความต้องการซื้อรถยนต์ใน 5 ปีข้างหน้า
ร้อยละ 83 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าจะซื้อรถยนต์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยปัจจัยหลักคือ 1) อายุรถยนต์คันปัจจุบันถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยน และ 2) เปลี่ยนรถตามเทคโนโลยี ขณะที่ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อรถใน 5 ปีข้างหน้า (ร้อยละ 17) เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนรถคันใหม่ และราคารถยนต์ยังแพงเกินไป
วิจัยกรุงศรีพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการซื้อรถยนต์คันใหม่มี 5 ด้าน ได้แก่ อายุผู้ตอบแบบสอบถาม ระดับรายได้ เทคโนโลยี การมีเด็กในครอบครัว และอายุรถ โดยผู้ที่อายุน้อย มีระดับรายได้สูง มีความชื่นชอบเทคโนโลยีระดับสูง และมีเด็กในครอบครัว มีแนวโน้มจะซื้อรถยนต์คันใหม่มากกว่าปกติ นอกจากนี้ผู้ที่มีรถยนต์ในครอบครองมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนรถยนต์ทุก 3-5 ปี หรือ 7-10 ปี
ความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
หากพิจารณาเฉพาะความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า ผลจากแบบสอบถามระบุว่า ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่จะถึงนี้ และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่มใหญ่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ 3 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป โดยปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้แก่ จำนวนสถานีชาร์จที่มากขึ้น ระยะเวลาชาร์จที่สั้นลง และการรับประกันแบตเตอรี่ ขณะที่ปัจจัยอย่างสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน (เช่น การได้สิทธิ์จอดรถยนต์ในที่เฉพาะของรถยนต์ไฟฟ้าตามสถานที่ต่างๆ) และยี่ห้อของรถยนต์อาจไม่มีผลต่อการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้าที่ผู้แบบสอบถามส่วนใหญ่สนใจมีลักษณะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่มีราคาระหว่าง 0.75 – 1.0 ล้านบาท มีระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จมากกว่า 500 กิโลเมตร ค่าบำรุงรักษาต่ำกว่าร้อยละ 1 ของราคารถยนต์ และมีระยะเวลาการชาร์จ 15-30 นาทีต่อการขับขี่ 100 กิโลเมตร โดยเกือบทั้งหมดของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน (ร้อยละ 88) รองลงมาได้แก่ ที่สถานีบริการ (ร้อยละ 50.4) และที่ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 30.5)
ลักษณะของผู้ที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบต่างๆ มีทั้งหมด 9 ปัจจัยด้วยกัน ดังนี้ 1) อายุรถยนต์ 2) จำนวนรถยนต์ในครัวเรือน 3) ระดับเทคโนโลยี 4) อายุผู้ตอบแบบสอบถาม 5) การศึกษา 6) ระยะทางการเดินทางต่อวัน 7) ระดับรายได้ 8) ที่อยู่อาศัย และ 9) อุปกรณ์ที่ครอบครอง
จากการวิเคราะห์เชิงเศรษฐมิติพบว่าปัจจัยร่วมของผู้ที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทคืออายุรถยนต์และจำนวนรถยนต์ที่ครอบครองในครอบครัว โดยผู้ใช้รถมักจะเปลี่ยนรถยนต์ทุก 4-10 ปี และหากในครอบครัวยังไม่มีรถยนต์ในครอบครองเลยหรือมีรถยนต์อยู่แล้วตั้งแต่ 4 คันขึ้นไป จะทำให้มีโอกาสซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าคนทั่วไป
นอกจากนี้ ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ระดับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น และระดับรายได้ที่สูงขึ้นจะทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามสนใจรถยนต์ไฟฟ้าชนิด BEV และ PHEV มากขึ้น และหากมุ่งเน้นที่รถยนต์ไฟฟ้าชนิด BEV จะพบว่าผู้ที่สนใจมักมีอายุระหว่าง 25-44 ปี และให้ความใส่ใจกับสุขภาพ อีกทั้งโดยปกติเดินทางในระยะที่ไม่ไกลนักที่ประมาณ 5-20 กิโลเมตรต่อวัน ซึ่งสั้นกว่าผู้ที่สนใจรถ PHEV หรือ HEV สำหรับปัจจัยทางด้านที่อยู่อาศัยพบว่าผู้ที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามักอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่หรือในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
มุมมองวิจัยกรุงศรี
ผลการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ตลอดจนความตื่นตัวเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนา Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้าในทุกภาคส่วน ทั้งการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ การสนับสนุนจากภาครัฐ และการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จ เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะช่วยลดข้อจำกัดทางด้านอุปทานและนำไปสู่การเร่งตัวของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้ วิจัยกรุงศรีมองว่าการเปลี่ยนผ่านจากยุครถยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่อาจมาถึงเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิดไว้ ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อผู้เล่นในตลาดรถยนต์และผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจำนวนมากจะเกิดขึ้นในสามปีข้างหน้า เริ่มต้นด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาสูง
จากนั้นความต้องการจะขยับสู่รถยนต์ราคาย่อมเยามากขึ้น
วิจัยกรุงศรีพบว่าความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเริ่มมาถึงในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยในระยะแรกความต้องการส่วนใหญ่จะเป็นรถที่มีราคาระดับปานกลางและสูง หลังจากนั้นความต้องการจะเร่งตัวสูงขึ้นมากโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท (รูปที่ 19)
ลักษณะความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในช่วงหลายปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีลักษณะแตกต่างกันด้วย ดังนั้น ทั้งผู้ผลิตรถยนต์และผู้ให้บริการจึงต้องหารูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมเพื่อที่จะตอบสนองลูกค้ากลุ่มต่างๆ
ผู้ขับขี่รถยนต์มองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าชนิดใหม่ และอาจมี Brand loyalty น้อยกว่าที่ผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการคาดไว้
วิจัยกรุงศรีพบว่า หากจะพิจารณาเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ผู้ใช้รถยนต์มีแนวโน้มเลือกซื้อรถยนต์ยี่ห้อที่ไม่ได้ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีเพียงร้อยละ 28 ที่จะใช้รถยนต์ยี่ห้อเดิม ส่วนร้อยละ 72 ระบุว่าสนใจจะเปลี่ยนยี่ห้อรถ และในจำนวนนี้ ร้อยละ 13 จะลองซื้อรถยนต์จากผู้ผลิตรายใหม่ๆ ที่ไม่เคยผลิตรถยนต์ ICE มาก่อน ดังนั้นผู้ผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวไม่ทันกับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้
ความภักดีต่อแบรนด์ (Brand loyalty) ของผู้ใช้รถยนต์ที่ลดลงส่งสัญญาณว่าลูกค้ามองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าประเภทใหม่ ส่งผลให้สิ่งที่มองหาในรถยนต์และบริการที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยแม้ผู้ผลิตรถยนต์รายเดิมจะถือไพ่เหนือกว่าผู้ผลิตรายใหม่ในแง่ของความคุ้นเคยในตลาด แต่การปรับตัวต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดรถยนต์ได้ในอนาคต
การชาร์จและสาธารณูปโภคทางด้านการชาร์จยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งการใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทย
แต่ก็สร้างโอกาสเชิงธุรกิจให้กับหลายอุตสาหกรรม
จากแบบสอบถามพบว่าทั้งผู้ที่ใช้และยังไม่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยต่างระบุว่าจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระยะเวลาการชาร์จที่นานยังเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือเลือกที่จะยังไม่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน โดยผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันระบุว่าไปสถานีบริการน้อยกว่าที่เคยคาดไว้ ส่วนร้อยละ 73 ของผู้ที่ยังไม่ได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเชื่อว่าระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งนั้นเพียงพอต่อการใช้ปกติ ทำให้ร้อยละ 88 ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าหากได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วจะชาร์จไฟที่บ้านเป็นหลัก
เห็นได้ว่าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่สามารถใช้รถได้ปกติในหนึ่งวันและกลับมาชาร์จไฟเฉพาะที่บ้านในเวลากลางคืนได้ จึงอาจไม่ต้องการชาร์จไฟที่สถานีบริการมากอย่างที่คิดเอาไว้ ซึ่งช่วยลดอุปสรรคด้านจำนวนสถานีบริการที่ยังไม่ครอบคลุม รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาชาร์จที่ยาวนาน
ดังนั้น การสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคจะช่วยคลายความกังวลเรื่องการชาร์จไฟฟ้าได้ จึงคาดว่าโมเดลธุรกิจการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเป็นที่นิยมเพราะช่วยสร้างความคุ้นเคยและลดความกังวลเรื่องการชาร์จให้แก่ผู้ใช้ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านนั้น เมื่อผู้ใช้ส่วนใหญ่มีแนวโน้มต้องการชาร์จไฟที่บ้าน จึงมีโอกาสเชิงธุรกิจที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น การผลิตเครื่องชาร์จที่บ้าน การติดตั้งเครื่องชาร์จ และการดูแลระบบชาร์จ (ทั้งในบ้านและคอนโดมีเนียม) ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การชาร์จไฟตามสถานียังคงมีความจำเป็นที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ขับขี่และผู้ที่กำลังตัดสินใจชื้อรถยนต์ไฟฟ้า การเพิ่มจุดชาร์จทั้งในเมืองและนอกเมืองจึงมีความสำคัญ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าสหภาพยุโรประบุว่าจำนวนสถานีชาร์จที่เหมาะสมคือ 0.1 สถานีต่อผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคัน ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนดังกล่าวของไทยอยู่ที่ 0.07 สถานีต่อคัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากจำนวนของสถานีชาร์จไฟแล้ว ตำแหน่งของจุดชาร์จไฟก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยประเทศที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากอย่างนอร์เวย์และไอซ์แลนด์กลับมีจำนวนสถานีชาร์จน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ใช้ โดยมีสัดส่วนเพียง 0.03 สถานีต่อคัน เนื่องจากประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับตำแหน่งของสถานีชาร์จที่เข้าถึงง่าย นอกจากนี้สัดส่วนสถานีชาร์จไฟแบบเร็ว (มากกว่า 20 kW) ของประเทศเหล่านี้ก็อยู่ในระดับสูง
ดังนั้น การเข้าถึงสถานีชาร์จไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ตั้ง และประเภทของที่ชาร์จไฟล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของสถานีบริการ ซึ่งจะช่วยเร่งให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย
ความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมมีมากขึ้น สร้างความท้าทายและโอกาสให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิมได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทาน รูปแบบสินค้าและบริการ และสร้างความเชื่อมโยงใหม่ให้กับผู้เล่นทั้งในและนอกอุตสาหกรรม โดยภาพและขอบเขตของอุตสาหกรรมอาจทับซ้อนกันมากขึ้นจนทำให้ผู้เล่นสามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างอุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเข้ามาของบริษัทเทคโนโลยี (Tech Company) ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ซึ่งส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น นับเป็นความท้าทายของผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรมดังกล่าว การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้เล่นที่ต้องการอยู่ในธุรกิจ ท่ามกลางภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ วิจัยกรุงศรีมองว่าการร่วมมือกันระหว่างผู้เล่นและการสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ใหม่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้เล่นได้ อาทิ
- การสร้างห่วงโซ่อุปทานระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่และชิ้นส่วนที่สำคัญ: เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องใช้ชิ้นส่วนหลายอย่างที่มีในรถยนต์ ICE ตั้งแต่เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลังไปจนถึงท่อไอเสีย ดังนั้น หากรถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมมากขึ้น โครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์จะต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่แม้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนลดลงแต่ชิ้นส่วนแต่ละส่วนจะมีความสำคัญมากขึ้น เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า และอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า เป็นต้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและต้นทุนการผลิตของชิ้นส่วนเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญของการผลิตรถยนต์ ดังนั้น การร่วมมือกันของผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญจะช่วยให้ผู้เล่นเหล่านี้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้
- การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ให้เช่ารถยนต์ และผู้ให้บริการแบ่งปันรถใช้ (Car sharing): เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มากนัก อีกทั้งเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงแรกอยู่ในระดับสูง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริโภคในปัจจุบันยังคงลังเลที่จะเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า วิจัยกรุงศรีมองว่า นอกจากธุรกิจการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดความกังวลในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังอาจช่วยลดปัญหาราคารถยนต์ไฟฟ้ามือสองที่อาจลดลงอย่างรวดเร็วได้ นอกจากนี้ รูปแบบธุรกิจ Car sharing อาจสามารถตอบสนองผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่ต้องการครอบครองรถได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
- การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน: จากผลของแบบสอบถามพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คาดว่าจะชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน อีกทั้งระยะเวลาการชาร์จที่สั้นลงจะเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น หากผู้ผลิตรถยนต์สามารถเสนอเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับผู้ซื้อรถ ก็จะสร้างความสามารถในการแข่งขันได้
- การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) และผู้ให้บริการระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage): การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานมีแนวโน้มราคาที่ถูกลงมาก ทำให้แนวคิดการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีความคุ้มค่ามากขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่ติดตั้ง Solar rooftop ยังสามารถขายคืนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ด้วย ซึ่งจะสร้างความคุ้มค่าให้มากยิ่งขึ้น
- การสร้างความร่วมมือระหว่างสถานีบริการ ร้านค้าปลีกและร้านอาหาร: เนื่องจากในปัจจุบันสถานีชาร์จไฟฟ้ายังมีความจำเป็นและเวลาการชาร์จไฟยังมีเวลานาน ดังนั้น การร่วมมือกันระหว่างสถานีบริการ ร้านค้า และร้านอาหารจะสามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคมาใช้บริการได้
การประเมินความเสี่ยงอุตสาหกรรมรถยนต์หลังการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า
การเสื่อมราคาของรถยนต์จะมีผลโดยตรงต่อการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจลิสซิ่ง และธุรกิจประกันภัย โดยจากการศึกษาของ Moody’s Analytics และองค์กรเพื่อผู้บริโภคยุโรป (European Consumer Organization) พบว่าในช่วงแรกรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูญเสียมูลค่าเร็วกว่ารถยนต์ ICE เนื่องจากปัจจุบันเรายังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีจึงเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการรถยนต์ไฟฟ้ามือหนึ่งมากกว่าเพราะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้นและเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มอยู่ตัวมากขึ้น รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะสูญเสียมูลค่าน้อยกว่ารถยนต์ ICE เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่สึกหรอน้อยกว่า อีกทั้งความต้องการรถยนต์ ICE จะค่อยๆ ลดลงตามเวลา ดังนั้น ธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจลิสซิ่ง และธุรกิจประกันภัยจึงต้องมองความเสี่ยงของการวัดมูลค่ารถยนต์ใหม่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ ICE โดยเฉพาะหากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร่งตัวขึ้นในอนาคต
อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrification) การขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous driving) และการบริการด้านการเดินทาง (Servicification in mobility sector) ล้วนส่งผลต่อทั้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ขายปลีกหรือดีลเลอร์ สถานีบริการ รวมถึงผู้เล่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐ ธนาคาร และประกันภัย เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมเช่นนี้มักสร้างความท้าทายให้กับผู้เล่นท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น การขยับตัวและปรับตัวเพื่อรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังจะช่วยให้ผู้เล่นสามารถคว้าโอกาสใหม่ๆ ในโลกยานยนต์ยุคใหม่ได้ ในด้านความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นกัน
แม้ในช่วงแรกอาจยังมีอุปสรรคหลายอย่าง แต่การปลดล็อคข้อจำกัดเหล่านี้ จะทำให้การตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าเร่งตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด ผู้เล่นที่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเร็วก็อาจเผชิญความเสี่ยงที่มาพร้อมกับส่วนแบ่งตลาดก้อนใหญ่ ส่วนผู้เล่นที่ปรับตัวช้าอาจเสียโอกาสเชิงธุรกิจไปได้ มีเพียงผู้เล่นหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ขยับตัวในทิศทางและความเร็วที่เหมาะสมเท่านั้นที่จะเป็นผู้คว้าโอกาสธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้
[1] Electric Vehicle Outlook 2021, BloombergNEF (June 2021)
[2] คำสั่ง Alternative Fuel Infrastructure Directive (AFID) ของ European Union เกี่ยวกับแนวนโยบายพลังงานทางเลือกสำหรับรถยนต์
[3] Global EV Outlook 2021, International Energy Agency
[4] เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นลูกค้า Krungsri Auto ขณะที่ข้อมูลที่วิจัยกรุงศรีเป็นผู้เก็บพบว่าอายุรถยนต์คันหลักกระจายตัวใกล้เคียงกันในแต่ละช่วงอายุ
อ่านฉบับเต็ม วิจัยกรุงศรี Research Intelligence รถยนต์ไฟฟ้า : ความต้องการและโอกาสที่กำลังมาถึง