Onlinenewstime.com : แนวโน้มของวิศวกรรมเครื่องกลในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร? เมื่อวิกฤติไวรัส COVID-19 และดิจิทัลเทคโนโลยี เปลี่ยนโลกวิถีชีวิตและวิศวกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งเป็นแนวหน้าของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิต เครื่องจักร เครื่องยนต์ทุกชนิด ทั้งบนบก น้ำ และอากาศ ตั้งแต่ยานยนต์ เรือ โดรน เครื่องบิน จนถึงดาวเทียมนั้น เผชิญกับการเปลี่ยนผ่านในวิถีใหม่ New Normal
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย เปิดเวทีและชวนมาหาคำตอบ โดยกำหนดจัด งานประชุมวิชาการเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (ME-NETT2020) 15 – 17 กค. 2563 นี้ ณ วรวนา หัวหิน โฮเต็ลแอนด์คอนเวนชั่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ผศ.ดร.สราวุธ เวชกิจ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้นานาประเทศและประเทศไทย ตระหนักถึงการพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันสนับสนุน ส่งเสริม ผลักดันคนที่มีฝีมือ ให้สามารถพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรม-เครื่องกลต่างๆ ขึ้นมาได้ และหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีในประเทศ
ต่อไปคำว่า “Made in….” จะเป็นกระแสหลักในอนาคต มุ่งการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง คิดเอง ใช้เอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศอื่น ๆ ประเทศไทย เรามีจุดมุ่งหมายที่จะเป็น “Innovation Nation” หรือ “Made in Thailand” ดังนั้นคน นวัตกรรม และเทคโนโลยี จะต้องทำงานร่วมกัน และสัมพันธ์กันเหมือนดังวงออร์เคสตร้าตั้งแต่การออกแบบ การใช้พหุศาสตร์ วิเคราะห์ทดสอบ การผลิตและควบคุมคุณภาพ
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างยั่งยืนเช่น การนำระบบอัตโนมัติ และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างเหมาะสมเปรียบเสมือนผู้ช่วยวิศวกร แบ่งเบาภาระงานหนัก อันตรายหรือต้องการความแม่นยำสูง มาใช้ในโรงงาน หรือในไลน์การผลิตช่วยประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลา เพิ่มผลิตภาพ ความปลอดภัย แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดการนำเข้า ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ และรองคณบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากรและสื่อสารองค์กร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานประชุมวิชาการเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (ME-NETT2020) ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Innovation for Sustainability) เพื่อเปิดเวทีระดมความคิดเห็น จากวิศวกร นักวิชาการ นักวิจัย และนิสิตนักศึกษา ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ และแสดงความคิดเห็นไอเดียสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรม
รวมถึงการบูรณาการพหุศาสตร์ในนวัตกรรม เพื่อการสร้างความยั่งยืนในทุกด้าน พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านวิชาการและวิจัย
ภายในงานมี การบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “การพึ่งพาเทคโนโลยีและศักยภาพภายในประเทศเพื่อการสร้างนวัตกรรม สู่อนาคตแห่งความยั่งยืน” โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เดินหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน…ประจวบคีรีขันธ์โมเดล” โดย นายภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พร้อมเปิดเวทีเสวนา หัวข้อ “ก้าวใหม่วิศวกรรมเครื่องกล…ในวิถีนิวนอร์มอล” (ME New Normal) โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นายกวิศวกรเครื่องกลไทย, ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ไฮไลท์ของงาน มีการสัมมนาในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ หัวข้อเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0, การควบคุมทิศทางการไหลของอากาศในสถานพยาบาล, การเรียนการสอนในระบบออนไลน์,
การใช้โปรแกรม CFD Simulation สำหรับเทคโนโลยี Additive Manufacturing, CAE Co-Simulation: Where Multiphysics Gets Real, คอร์สออนไลน์: ทางเลือกสำหรับการ Up-Skill และ Re-Skill, การวิเคราะห์สมบัติทางความร้อนกับงานด้านวิศวกรรม, ทุนกับทิศทางงานวิจัยทางวิศวกรรมเครื่องกลและการมีส่วนร่วมของชุมชน
การประชุมครั้งนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จากงานวิจัยด้านวิศวกรรมเครื่องกล รวม 9 สาขา ดังต่อไปนี้
1. พลังงานทางเลือก (Alternative Energy and Combustion – AEC)
2. วิศวกรรมยานยนต์, ยานบินและเรือทะเล (Automotive, Aerospace and Marine Engineering – AME)
3.เครื่องกลประยุกต์, วัสดุและการผลิต (Applied Mechanics, Materials and Manufacturing – AMM)
4. วิศวกรรมชีวกลและวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomechanics and Bioengineering – BME)
5. เทคนิคด้านคอมพิวเตอร์และการจำลองแบบ (Computation and Simulation Techniques – CST)
6. ระบบพลศาสตร์และการควบคุม (Dynamic Systems, and Controls – DRC)
7. เทคโนโลยีพลังงานและบริหารจัดการ (Energy Technology and Management – ETM)
8. ระบบความร้อนและการไหล (Thermal System and Fluid Mechanic – TSF)
9. การศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering Education – EDU) โดยพบกับ 130 ผลงานวิจัยเด่น องค์ความรู้ไร้ขีดจำกัด อาทิ การศึกษามุมแขนบังคับเลี้ยวที่เหมาะสมในรถ, หัวหุ่นยนต์ขยับรูปปากตามเสียงภาษาไทยได้เหมือนจริง, การพัฒนากระบวนการต้มเกลือ โดยการอุ่นน้ำเกลือด้วยความร้อนทิ้ง, การพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์แบบแปรสภาพเป็นแก๊สชีวมวลเพื่อชุมชน, การพัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดฝึกระบบการควบคุมอัตโนมัติด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าที่ ลิงค์ โดยเข้าร่วมงานแบบ On Ground วันที่ 15 -17 กรกฎาคม 2563 ณ วรวนา หัวหิน โฮเต็ลแอนด์คอนเวนชั่น อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือจะเข้าฟังทาง Online ก็ได้