Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

วิศวะมหิดล คิดค้นเก้าอี้เอ.ไอ.เพื่อสุขภาพ

standard posture

onlinenewstime.com :  ไลฟ์สไตล์คนทำงานและชาวออฟฟิศ ในยุคดิจิทัลวันนี้ต่างต้องนั่งทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งหากนั่งในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง อาจเป็นภัยต่อสุขภาพ ทั้งกล้ามเนื้อเกิดการอักเสบ กระตุก อ่อนแรง ชา หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย ล้วนเป็นสัญญาณเตือนอันตรายจาก โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ที่จะลุกลามเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปได้

หลายท่านั่งที่ทำลายสุขภาพ ได้แก่ นั่งหลังงอหรือหลังค่อม ส่งผลให้ปวดเมื่อยที่บริเวณหัวไหล่และสะโพก หากสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้กระดูกผิดรูป  นั่งไขว่ห้าง ส่งผลให้กระดูกสันหลังคดได้ในภายหลัง เพราะการนั่งไขว่ห้าง เป็นการทิ้งน้ำหนักตัวลงที่ก้นข้างใดข้างหนึ่ง นั่งบนเก้าอี้โดยไม่พิงพนัก หรือนั่งไม่เต็มก้น จะทำให้ฐานในการรับน้ำหนักตัว น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่หลัง ทำงานหนักกว่าปกติ และเกิดผลเสียต่อกระดูกสันหลังได้  

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2556-2560 พบว่าประเทศไทยมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 30.8 ล้านคน เป็นกลุ่มวัยทำงาน (อายุ 15 ขึ้นไป) จำนวน 28.1 ล้านคน โดยผู้ที่ทำงานในสำนักงาน มีแนวโน้มที่จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อสูงขึ้น เนื่องจากต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือทำงานในท่าเดิมซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยตำแหน่งที่มักพบบ่อยคือ บริเวณศีรษะและคอ

ปัญหาจากการนั่งและออฟฟิศซินโดรมนี้เอง ได้สร้างแรงบันดาลใจ ให้ทีมวิจัยอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ที่ปรึกษาน.ส.เบญญาภา พฤกษานุศักดิ์และ นายปุณวัชร รุจิวิพัฒน์ คิดค้น จนเกิดเป็นผลงานนวัตกรรม เก้าอี้ เอ.ไอ.เพื่อสุขภาพ (AI Ergonomic Chair) ขึ้นมา

เบญญาภา พฤกษานุศักดิ์ สาวเมคเกอร์นักศึกษาภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกยุคดิจิทัล ทำให้การนั่งทำงานหน้าจอเป็นสิ่งจำเป็น ทำอย่างไร จะป้องกันปัญหาการนั่งผิดท่าที่ต้นทาง จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาระบบแจ้งเตือน เพื่อช่วยให้นั่งอย่างถูกวิธี ส่วนประกอบหลัก คือ Sensor ตรวจวัดน้ำหนัก ที่ออกแบบมาเป็นแผงวงจร นำมาประกบติดใต้เบาะเก้าอี้ ข้อดี ทำให้ผู้นั่งเก้าอี้ได้ตระหนักถึงพฤติกรรมการนั่งของตัวเองในแต่ละวัน เพื่อเป็นข้อมูลแนวทาง ในการปรับปรุงวิธีการนั่งของตัวเองให้ถูกต้องมากขึ้น เทคโนโลยีที่ดีควรใช้ง่ายชีวิตจริง และไม่จำเป็นต้องแพง

ด้านหนุ่มเมคเกอร์ ปุณวัชร รุจิวิพัฒน์ นักศึกษาวิศวะมหิดลในทีมวิจัย เผยว่า นวัตกรรม เก้าอี้เอ.ไอ.เพื่อสุขภาพ (AI Ergonomic Chair) ใช้ระยะเวลาในการคิดค้นวิจัยและพัฒนา 1 ปี เราใช้เงินลงทุนเพียง 4,000 บาท โดยมีชิ้นส่วนที่สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด โดย “เก้าอี้ เอ.ไอ.เพื่อสุขภาพ” นี้ จะสามารถทราบว่าผู้นั่ง กำลังนั่งผิดท่าหรือไม่ เมื่อมีคนนั่ง ระบบจะคำนวณน้ำหนัก และทำการวิเคราะห์ท่าทางของคนนั่ง ว่านั่งอยู่ในท่าทางใด โดยระบบแผงวงจร Sensor จะทำงานตรวจวัดค่าน้ำหนัก แล้วจะส่งข้อมูลไปบนคลาวด์ เพื่อทำการประมวลผลด้วย AI และทำการจัดเก็บประวัติการนั่งทำงานของผู้ใช้งานอีกด้วย หากพบว่าผู้นั่งมีการนั่งผิดท่า ระบบก็จะแจ้งเตือน ไปยังแอพพลิเคชั่น ให้ผู้นั่งได้ทราบ และปรับเปลี่ยนท่านั่งได้ทันที

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี ที่ปรึกษาในทีมวิจัย มี 5 ข้อแนะนำท่านั่งมาตรฐานที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดี สำหรับชาวออฟฟิสและผู้รักสุขภาพ คือ

1. ตำแหน่งที่ถูกต้องของสายตา คือ ให้สายตาอยู่ในระดับเดียวกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือทำมุมประมาณ 10 องศา โดยไม่รู้สึกว่าต้องเงยหน้าขึ้น หรือก้มหน้าลงในการมองหน้าจอ 

2. ตำแหน่งของหลัง คือ นั่งหลังตรงให้แผ่นหลัง แนบพอดีกับพนักพิง ลำตัวตั้งตรง ไม่โน้มตัวไปด้านหน้า ด้านซ้าย ด้านขวาหรือด้านใดด้านหนึ่ง ปล่อยไหล่ตามสบาย ไม่เกร็ง ไม่ยกไหล่ขึ้น  

3. ตำแหน่งที่ถูกต้องของแขน คือ เก็บศอกทั้งสองข้างให้ชิดกับลำตัว โดยให้ส่วนของข้อมือกับข้อศอกอยู่ในแนวเส้นตรง ทำมุม 90 องศากับไหล่ 

4. ตำแหน่งที่ถูกต้องของข้อมือ คือ วางระนาบเดียวกับคีย์บอร์ดหรือแป้นกด ไม่บิดข้อมือขึ้น หรือกดข้อมือต่ำจนเกินไป  

5. ตำแหน่งของขาและเท้า คือ วางเท้าให้ราบกับพื้นทั้ง 2 ข้าง ช่วงขาตั้งฉากกับพื้น โดยทิ้งน้ำหนักลงบนฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ไม่ควรทิ้งนำหนักไว้ที่ส้นเท้า เช่น ท่านั่งเหยียดขา หรือปลายเท้าเช่น ท่านั่งเขย่งเท้า           

นับเป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ ผนวกกับเทคโนโลยี AI เพื่อชีวิตและสุขภาพของคนวัยทำงานในยุคดิจิทัล

Exit mobile version