fbpx
News update

ศบค. ขยายล็อกดาวน์ถึง 31ส.ค.64 ปรับมาตรการพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เปิดธนาคาร สถาบันการเงินในห้างฯได้

Onlinenewstime.com : ศบค. คงมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ถึง 31ส.ค.64 โดยปรับมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ให้เปิดกิจการธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้

ศบค. คงมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ถึง 31ส.ค.64 โดยปรับมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ให้เปิดกิจการธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้วันนี้  (16 ส.ค. 64) เวลา 16.00 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศคบ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 12/2564 (ผ่านระบบ Video Conference)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) แถลงผลการประชุมศบค. มีมติให้คงระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และตามมาตรการเดิมต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 18 – 31 สิงหาคม 2564 โดยเพิ่มมาตรการและการจัดการองค์กร ให้มีการดำเนินมาตรการ Test – Trace – Isolate เพิ่มการตรวจ ATK ใน กทม. และปริมณฑล ให้เน้นการ Work From Home  พร้อมเตรียม Company Isolation สำหรับหน่วยงานที่มีพนักงานเกิน 50 คน

โดยที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาจัดทำ Thai Covid Pass เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วสามารถใช้บริการในสถานประกอบการต่าง ๆ ได้  และเห็นชอบเปิดกิจการธนาคารและสถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้า รายละเอียด ดังนี้

1. แผนการให้บริการวัคซีนโควิด 19   ขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนไปแล้ว ทั้งสิ้น 23,592,227 โดส ทั้งนี้มีเป้าหมายให้บริการวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อยจำนวน 10 ล้านโดส ในเดือนกันยายน 2564 โดยเร่งฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต พร้อมเห็นชอบเกณฑ์ และแผนการจัดสรรวัคซีนเดือนกันยายน 2564  การจัดหาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ได้แก่ Sinovac จานวน 12 ล้านโดส และ ให้เจรจาจัดหาวัคซีนอื่น ๆ อีกจำนวน 10 ล้านโดส ภายในปี 2564

2. การประเมินมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการจัดระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 29 จังหวัด ซึ่งเป็นกรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดทางภาคใต้ และจังหวัดที่มีการระบาดในสถานประกอบการ และเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรค ทั้งในระดับชุมชนและสถานประกอบการ

จากการประเมินผลติดตามยังพบว่า สถานการณ์การระบาดของโรคยังมีแนวโน้มไม่ลดลง ทั้งกทม. ปริมณฑล และจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด รวมทั้งหลายจังหวัด ยังมีผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง พื้นที่กทม.และปริมณฑล ยังมีการระบาดในวงกว้างทั้งในชุมชน และ ครอบครัว จังหวัดในภาคกลาง ตะวันออก และภาคใต้ยังพบการระบาดในสถานประกอบการ จังหวัดในภาคเหนือ และ ตะวันออกเฉียงเหนือ ยังพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา

จึงยังให้คงมาตรการในการป้องกันควบคุมโรค ตามข้อกำหนดฉบับที่ 30 ในพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และปรับมาตรการบางส่วนเพื่อความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง และการป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่เสี่ยงมากขึ้นเพื่อลดการเสียชีวิตจากโควิด 19 และลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค ดังนี้

1) การคงระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรและตามมาตรการเดิมวันที่ 18-31 ส.ค. 2564

2) การเพิ่มมาตรการ และการจัดการขององค์กร

3) ให้ประชาชน องค์กร สถานประกอบการ สามารถตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยตัวเองได้ โดยรัฐสนับสนุนให้มการใช้อย่างทั่วถึง และ เน้นย้ำให้ประชาชน ใช้การป้องกันตนเองของประชาชนในทุกกรณี (Universal Prevention) 

4) ปรับมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เปิดกิจการธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้

ทั้งนี้มอบหมายให้ฝ่ายสาธารณสุข จัดทำเป็นแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเดิม รวมทั้งกำกับติดตามมาตรการ  รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายเศรษฐกิจกำกับติดตามมาตรการขององค์กร และการควบคุมโรคเฉพาะสถานที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน 

3. มาตรการควบคุมสำหรับการเดินทางเข้าออกทางน้ำเฉพาะกรณีเรือที่ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม ภารกิจอื่นใดบนยานพาหนะ หรือสิ่งปลูกสร้างในทะเล โดยที่ประชุมมีมติอนุญาตให้เรือที่ไม่มีสัญชาติไทยพร้อมเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะเดินทาง เข้ามาในราชอาณาจักรได้ เพื่อปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมหรือภารกิจอื่นใดบนยานพาหนะ หรือสิ่งปลูกสร้างในทะเล หรือภารกิจบนบก โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับอนุมัติ หลักการนี้ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยจะประกาศเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาต่อไป 

4. การเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเชื่อมต่อจังหวัดนำร่องอื่น (7+7) โดยที่ประชุมเห็นชอบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วม Phuket Sandbox เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7+7) ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จังหวัดกระงี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่) ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ศบค. ยังได้รับทราบการขออนุญาตผ่อนผันจัดการจัดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมร่วมกันของรัฐสภา และขออนุญาตผ่อนผันการเคลื่อนย้ายในห้วงเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน และ มาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) และโครงการนำร่อง  การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ด้วย