fbpx
News update

สคร. จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสม ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 65 จำนวน 116,130 ล้านบาท คิดเป็น 81% ของเป้าหมายทั้งปี”

Onlinenewstime.com : นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 มิถุนายน 2565) สคร. จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ50 (กิจการฯ) รวมทั้งสิ้นจำนวน 116,130 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการสะสมจำนวน 14,643 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของเป้าหมายการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 142,800 ล้านบาท

โดยเงินนำส่งรายได้แผ่นดินส่วนใหญ่มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ธนาคารออมสิน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2565 มีดังนี้

 หน่วย : ล้านบาท

ลำดับที่รัฐวิสาหกิจเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน
1สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล38,997
2บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)29,198
3ธนาคารออมสิน14,607
4การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย9,919
5การไฟฟ้านครหลวง3,325
6การยาสูบแห่งประเทศไทย2,619
7การท่าเรือแห่งประเทศไทย2,610
8การทางพิเศษแห่งประเทศไทย2,600
9ธนาคารอาคารสงเคราะห์2,374
10การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค1,345
11อื่นๆ และกิจการฯ8,536
 รวม116,130

หมายเหตุ : ข้อมูลเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง โดย สคร. จัดเก็บ ไม่รวมเงินนำส่งรัฐประเภทอื่น เช่น ภาษีหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 เป็นการจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากผลประกอบการในปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2565 มีการนำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงกว่าประมาณการสะสมเนื่องจากรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่บางแห่งสามารถนำส่งรายได้แผ่นดินสูงกว่าที่ประมาณการไว้

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในระลอกที่ผ่านมา ซึ่ง สคร. จะได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด โดยจะพิจารณาประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่รัฐวิสาหกิจจะต้องเข้าไปดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชนและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การกำกับติดตามการนำส่งเงินรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างเสถียรภาพทางการคลังได้อย่างยั่งยืน