Onlinenewstime.com : นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ต่างชาติลงทุนจากการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในช่วง 11 เดือนของปี 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 22,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 106 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เนื่องจากในปี 2562 มีคนต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจ ในโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการออกแบบ ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ และบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้า บริการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบระบบ และให้การสนับสนุนทางเทคนิคดาวเทียมสำรวจทรัพยากร เป็นต้น
แม้ว่าจำนวนคนต่างด้าว ที่ได้รับใบอนุญาต มีจำนวนทั้งสิ้น 193 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบ กับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะมีจำนวนลดลง 59 ราย คิดเป็นร้อยละ 23
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น มุ่งเน้นส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้คนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยได้มีการปรับปรุงธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ โดยปรับธุรกิจออกจากบัญชีท้ายไปแล้ว 4 ครั้ง เป็นจำนวน 45 ธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจในธุรกิจดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต
เพื่อให้การประกอบธุรกิจ สอดคล้องกับสภาวการณ์ และตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ในแพ็กเกจเร่งรัดการลงทุน และรองรับการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบสงครามการค้า ในด้านการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)
สำหรับจำนวนการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในช่วง 11 เดือนของ ปี 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยลดลงเพียงจำนวน 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.5 ซึ่งคำขอดังกล่าว อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาอนุญาต ของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยผ่านช่องทางการส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจากข้อมูลของ BOI พบว่ายอดการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนของปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11
โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,165 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 314,130 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนต่างชาติ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว ไม่ต้องขออนุญาตการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติฯ นี้อีก
ดังนั้น เมื่อพิจารณา การเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยรวมของช่องทางการขออนุญาต ตามพระราชบัญญัติฯ และตามช่องทางการส่งเสริมการลงทุนของ BOI แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก