Onlinenewstime.com : นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยจาก “การประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาว่า
คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 20 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ จากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินเดีย ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุน ประกอบธุรกิจกว่า 718 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 314 คน รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี อันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรง จากประเทศผู้เข้ามาลงทุน”
“การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี อันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญ หรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนักเช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โลหะและเทคโนโลยีการรีไซเคิล องค์ความรู้เกี่ยวกับการให้บริการรายการโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคขั้นสูงสำหรับการอบชุบโลหะด้วยความร้อนและเทคนิคการเลือกใช้สารชุบ ให้เหมาะกับชนิดของโลหะ องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์จัดเก็บพลังงานไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกไบโอคอมพาวด์ เป็นต้น”
ธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 7 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เงินลงทุนจำนวน 536 ล้านบาท อาทิ
- กิจการนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อจัดหาตลาดสำหรับการจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์โลหะที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ
- บริการให้ใช้ระบบการจ่ายไฟฟ้า และระบบจ่ายไอน้ำ
- บริการพิมพ์แบบรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์
2. ธุรกิจตัวแทน/ค้าส่ง จำนวน 3 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ และอินเดีย เงินลงทุนจำนวน 65 ล้านบาท ได้แก่
- ตัวแทนบริการทั่วไปของสายการบิน ในการบริหารจัดการพื้นที่ว่างบนอากาศยาน เพื่อการรับขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ การแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดข้องต่างๆ
- การค้าส่งสินค้าประเภทเพชรเจียระไน
- การค้าส่งแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Battery : EV Battery)
3. คู่สัญญากับเอกชน จำนวน 2 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ และจีน เงินลงทุนจำนวน 27 ล้านบาท ได้แก่
- บริการให้คำปรึกษาแนะนำ และตรวจสอบการทำงานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบรักษาความปลอดภัยของอาคารเทียบเครื่องบิน
- บริการออกแบบ ติดตั้ง วางระบบ ทดสอบ ให้คำแนะนำทางเทคนิค ฝึกอบรม และบำรุงรักษาระบบโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Protocol Television (IPTV))
4. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 8 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเบอร์มิวดา เงินลงทุนจำนวน 90 ล้านบาท อาทิ
- บริการรับจ้างอบชุบชิ้นส่วนแม่พิมพ์โลหะด้วยความร้อน
- บริการบำรุงรักษา ซ่อมแซม และเสริมคุณสมบัติสำหรับส่วนต่างๆ ของอาคาร ทุกประเภท ด้วยวิธีโสะเซ (SOSEI)
- บริการจัดการด้านการผลิตสินค้า ประเภทเม็ดพลาสติกไบโอคอมพาวด์
ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาต เป็นธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานของบริษัทในเครือในกลุ่ม ให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ธุรกิจที่ส่งเสริมตลาดทุน รวมถึงประกอบธุรกิจซึ่งสอดคล้อง กับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น
อนึ่งในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 45 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,630 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 32
ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1,235 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 313 เนื่องจากในปี 63 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการออกแบบ ติดตั้ง วางระบบ ทดสอบ ให้คำแนะนำทางเทคนิค ฝึกอบรม และบำรุงรักษาระบบโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet Protocol Television (IPTV) บริการขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำและแอ่งจอดเรือที่บริเวณท่าเทียบเรือ เป็นต้น