Onlinenewstime.com : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้ “โครงการจัดทำยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ. 2565 – 2570” โดยมีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meetings ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้สนใจ อันจะเป็นแนวทางสำคัญในการชี้ทิศทางด้านการค้า การตลาด การนำเข้าส่งออก ปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ และข้อเสนอแนะอื่นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางยุทธศาสตร์การค้าประเทศร่วมกันให้พัฒนาและขับเคลื่อนต่อไปได้ในอนาคต
การจัดประชุมแต่ละภูมิภาคจะแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นรอบของการเชิญชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งรัฐและเอกชนเข้ารับฟังปัญหาและอุปสรรค และครั้งที่สอง เป็นการระดมข้อคิดเห็นที่มีต่อร่างแผนยุทธศาสตร์การค้าของชาติ
มาถึงวันนี้ การประชุมทั้ง 2 ครั้ง ที่ครอบคลุม 5 ภูมิภาค ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย พบว่ามีประเด็นหลักๆ อยู่ 7-8 ประเด็น โดยทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ที่ได้จากแต่ละภูมิภาค เตรียมนำไปปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์การค้าของชาติในระยะถัดไป อันมีรายละเอียด ดังนี้
ผลการระดมความคิดเห็น “ภาคตะวันตก” มีประเด็น 7 ข้อ
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ให้มีมูลค่าเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาด และกระจายรายได้สู่เกษตรกร เช่น การแปรรูปอ้อย ให้เป็นสินค้าอื่นที่เพิ่มมูลค่าได้มากกว่าน้ำตาล เป็นต้น
สร้างแบรนด์ให้กับสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยการส่งเสริมการทำการตลาดและการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าที่แปรรูป
กระจายความเสี่ยงให้กับสินค้าเกษตร การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยวิธีการกระจายความเสี่ยงแก่สินค้าเกษตร ให้สามารถค้าขายได้ในตลาดที่หลากหลาย จะช่วยจัดการความเสี่ยงในการค้าขายสินค้าเกษตรได้ดียิ่งขึ้น
ความยืดหยุ่นและความต่อเนื่องของโครงการ ปรับรูปแบบการจัดทำโครงการ เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างยืดหยุ่นและต่อเนื่อง
ปรับกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวก การปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าบางส่วน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน โครงการของหน่วยงานภาครัฐ ควรมีความต่อเนื่องและบูรณาการกันระหว่างหน่วยงาน
ส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือทายาทธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตของธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจเดิมให้ดียิ่งขึ้น
ผลการระดมความคิดเห็น “ภาคตะวันออก” มีประเด็น 7 ข้อ
ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในพื้นที่ EEC การส่งเสริมการลงทุนจากผู้ประกอบการในประเทศของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC การเน้นให้โอกาสผู้ประกอบการไทยก่อน
ปรับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาด
เชื่อมโยงการขนส่งด้วยระบบราง การขนส่งด้วยระบบรางเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับพื้นที่ทางการค้าอื่นๆ
หาตลาดรองรับสินค้าเกษตร เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสินค้าเกษตรในพื้นที่ที่ไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ ทำให้เกิดสภาวะสินค้าล้นตลาด ดังนั้นรัฐอาจจะต้องดำเนินการหาตลาดอื่นๆ ที่สามารถรองรับสินค้าเกษตรดังกล่าวได้
พัฒนาสินค้ากลุ่มเกษตร การส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแปรรูปสินค้าเกษตรภายในพื้นที่ให้มากขึ้น
การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน การปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎเกณฑ์ของภาครัฐและเอกชนให้สอดคล้องกัน
กำหนดจุดเด่นของแต่ละจังหวัด การกำหนดตำแหน่งทางการตลาดของแต่ละจังหวัดในพื้นที่ ให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถบริหารงบประมาณในการส่งเสริมได้อย่างตรงจุด เนื่องจากจังหวัดต่างๆในภาคตะวันออก มีความโดดเด่นแตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละจังหวัดมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ต่างกัน
ผลการระดมความคิดเห็น “ภาคเหนือ” มีประเด็น 8 ข้อ
ความคุ้มครองทางกฎหมายของพืชเศรษฐกิจ การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีความโดดเด่น สามารถปลูกได้เพียงในพื้นที่นั้นเท่านั้น หรือการสนับสนุนพืชสมุนไพรที่มีลักษณะเฉพาะ จากความพิเศษภายในพื้นที่นั้น ๆ ให้มีการพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบผลิตภัณฑ์
ปกป้องสินค้าเกษตร การปกป้องสินค้าเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจของพื้นที่ ไม่ให้ถูกละเมิดหรือปลอมแปลง
เชื่อมโยงการท่องเที่ยว การส่งเสริมการพัฒนาระหว่างหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดคุณค่าที่มากยิ่งขึ้น
เกษตรกรรุ่นใหม่ การส่งเสริมให้มีเกษตรกรรุ่นใหม่ เข้าสู่อุตสาหกรรมการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น
อัตลักษณ์ล้านนา การนำภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ล้านนามาประยุกต์กับสินค้าและบริการต่างๆ
ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ทันสมัย ภาครัฐควรเป็นหน่วยงานที่ริเริ่มให้เกิดการนำข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์ มาร่วมในการวิเคราะห์ทางค้าผ่านการมี Platform ข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
พัฒนาเขตการค้าระหว่างประเทศ การสนับสนุนให้เกิดการร่วมกันพัฒนาการค้าในเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและอำนาจทางการค้า
การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน การจะนำนโยบายหรือกลยุทธ์ไปใช้ให้เกิดประสิทธิผลนั้น ทางภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพในการประยุกต์ใช้ ซึ่งอาจทำได้โดยการจัดตั้งหน่วยงานที่เกิดจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
ผลการระดมความคิดเห็น “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีประเด็น 8 ข้อ
ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี จากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
ดึงเอกลักษณ์เพิ่มมูลค่า การส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการเกษตร ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะให้มีความโดดเด่นและน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น มาเป็นจุดขายในการเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในภูมิภาคด้วย
กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค การดำเนินการเรื่องเอกสาร และกฎเกณฑ์ต่างๆของทางภาครัฐที่เป็นอุปสรรค ทำให้ภาคเอกชนเกิดความสับสน ไม่สามารถทำธุรกิจใหม่ๆ ได้
ปรับตัวชี้วัดด้านนวัตกรรม ภาครัฐควรให้งบประมาณในการสนับสนุนด้านนวัตกรรมให้มากขึ้น และปรับเปลี่ยนการวัดผลที่ไม่เหมาะสม
เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมและการขนส่ง ที่รองรับการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นโอกาสทางการค้าของภูมิภาค
แผนการจัดการความเสี่ยง ภาครัฐควรมีการวางแผน เพื่อรับมือสถานการณ์ในอนาคตที่อาจส่งกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจได้ จากสถานการณ์โรคระบาด และภัยแล้ง สร้างความเสียหายร้ายแรงด้านการค้าเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรจะมีการดำเนินการแผนการจัดการความเสี่ยง ที่สามารถป้องกันความเสียหายร้ายแรงทางด้านการค้าไว้ก่อน
สร้าง Start-up ไทย การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในปัจจุบัน เริ่มหันไปส่งเสริมธุรกิจ Start-up มากขึ้น เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของประเทศคู่ค้าต่างๆ
การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน การรวมกลุ่มของทุกหน่วยงานในพื้นที่จังหวัด เพื่อสร้างศักยภาพและความโดดเด่นของแต่ละจังหวัด ซึ่งการรวมกลุ่มหน่วยงานให้สามารถทำงานอย่างสอดประสานได้ จะช่วยเร่งความเร็วในการพัฒนาศักยภาพของจังหวัดนั้นๆ
ผลการระดมความคิดเห็น “ภาคใต้” มีประเด็น 8 ข้อ
การส่งเสริมสินค้าเกษตรให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสินค้าด้วยการแปรรูป เพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต การจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับพื้นที่การผลิต นโยบายที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางไปสู่จังหวัดรองหลังจากท่องเที่ยวในจังหวัดหลัก หรือการนำสินค้าจากจังหวัดรองไปขายในจังหวัดหลักได้ จะเป็นการกระจายรายได้ให้กับจังหวัดรอง
การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเน้นคุณภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ สามารถฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติได้อย่างรวดเร็ว การท่องเที่ยวแบบเน้นคุณภาพ จะสามารถสร้างกำไรที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนต่อจำนวนนักท่องเที่ยว
การฟื้นฟูการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซียจึงไม่ค่อยสะดวกนัก ทำให้นักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย ไม่เข้ามาบริโภคสินค้าและบริการภายในพื้นที่ การออกมาตราการผ่อนปรนในการค้าชายแดนจึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา
การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร่วมกับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล การอนุญาตให้เป็นสถานที่ถ่ายทำของสื่อบันเทิงในรูปแบบออนไลน์ (ยูทูป) เพื่อสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ ความสวยงามของวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติในภาคใต้ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กระจายการบริโภคไปสุ่ชุมชนอื่นๆได้
การกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้หน่วยงานระดับภูมิภาค สามารถตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย หรือออกโครงการที่ส่งเสริมการค้าได้เอง การรอการอนุมัติจากส่วนกลาง จึงอาจไม่ทันการณ์ และหน่วยงานส่วนกลางต้องมีการส่งต่อและสื่อสารประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น ที่เป็นผู้สนองนโยบายมาปฏิบัติจริงอย่างชัดเจน
การพัฒนาระบบขนส่งทั้งทางรถและระบบราง นอกจากจะช่วยขนส่งสินค้าแล้ว ยังสามารถขนส่งแรงงานที่มีทักษะจากกรุงเทพฯไปยังภูมิภาคได้อีกด้วย ทำให้การพัฒนาพื้นที่ต่างๆในภูมิภาคจากแรงงานที่มีทักษะสูงเกิดขึ้นได้
การพัฒนาและเตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์ แก่หน่วยงานหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ ความสามารถและทัศนคติที่จำเป็นต่อการดำเนินการทางการค้า
ดังนั้น จากการระดมความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ตั้งแต่ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกระดับ ไปจนถึงประชาชนผู้สนใจ ทั้ง 5 ภูมิภาค นั้น ทำให้ สนค.รับทราบข้อมูลตั้งแต่ปัญหา ข้อเสนอแนะ และอุปสรรคต่าง ๆ ด้านการค้า และมองหาจุดร่วม นำไปสู่การเตรียมร่างแผนยุทธศาสตร์การค้าของชาติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการค้าของไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้าต่อไป