Onlinenewstime.com : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ผลการศึกษาและข้อเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ. 2565-2570 ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 โดยมีนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และมีผู้เข้าร่วมงาน กว่า 260 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน
จากภารกิจสำคัญของสนค. ในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การค้าของชาติ โดยมีความตั้งใจจะจัดทำยุทธศาสตร์การค้าที่มีทิศทางการพัฒนาชัดเจน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ และมีแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนการค้าไทยให้มีความโดดเด่น และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายในยุคปัจจุบัน จึงร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนิน “โครงการจัดทำยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ. 2565-2570” โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ
การศึกษาสถานการณ์สภาพแวดล้อมทางการค้า และปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านการค้าของประเทศ การประชุมระดมความคิดเห็นภาคประชาสังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ. 2565 – 2570 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน
และการสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาฯ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานมีการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางต่อข้อเสนอยุทธศาสตร์ ภายใต้วิสัยทัศน์ “การค้าไทยเข้มแข็ง เติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน รองรับโอกาสการค้าโลก” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1: ขับเคลื่อนการค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Foster Innovation and Technology)
มุ่งเน้นให้เกิดการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและงานวิจัยเชิงพาณิชย์ รวมถึงการบูรณาการร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมศักยภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าให้เข้มแข็ง (Enhance Trade Infrastructure and Ecosystem)
มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าและการสร้างระบบนิเวศทางการค้าให้เหมาะสมต่อการเติบโตของธุรกิจไทย ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ เพิ่มโอกาสในการขยายตลาด และมีฐานข้อมูลที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนการพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ที่สนับสนุนต่อการประกอบธุรกรรมการค้าและการลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ส่งเสริมการค้าไทยสู่ตลาดโลก (Promote Thai Trade to Global Market)
มุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยทั้งภาคสินค้าและภาคบริการให้มีขีดความสามารถในการขยายตลาดไปสู่ตลาดโลก รักษาตลาดเดิม เจาะตลาดใหม่ ผ่านการสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการเจรจาทางการค้า ส่งเสริมบรรยากาศการค้าและการลงทุนทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือและข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ ตลอดจนการพัฒนาการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน การสร้างเครือข่ายธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทยเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในต่างประเทศ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการรับรองคุณภาพ มาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ (Encourage Domestic Consumption)
ส่งเสริมและกระตุ้นการใช้สินค้าและบริการที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าภายในประเทศ กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก ผ่านการส่งเสริมการค้าและการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางการค้า การพัฒนาตลาดและช่องทางการค้าภายในประเทศ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย การรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้า
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ (Advance Human Capital)
มุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ ทั้งผู้ประกอบการ แรงงาน และบุคลากรภาครัฐ ผ่านการยกระดับระบบฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ (Reskill/Upskill) ให้เท่าทันกับสถานการณ์โลกยุคดิจิทัล เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยกระดับและพัฒนาทักษะใหม่ๆ แก่แรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เพื่อให้แรงงานมีทักษะตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ รวมถึงร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทางเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพแรงงาน
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังได้ระบุแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของชาติฯ สู่การปฏิบัติ 9 ข้อ คือ
แนวทางที่ 1 สร้างความรู้ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมเข้าร่วมในการผลักดันยุทธศาสตร์การค้าของชาติฯ แนวทางที่ 2 จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ สำหรับกำกับดูแลนโยบายการค้า เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณากำหนดนโยบายหรือให้ความเห็น แนวทางที่ 3 สร้างความเชื่อมโยง ระหว่างยุทธศาสตร์การค้าของชาติฯ ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบาย รัฐบาล และแผนเฉพาะด้าน และแผนปฏิบัติการ แนวทางที่ 4 เชื่อมโยงแนวคิดพื้นฐานยุทธศาสตร์ ประเด็นการพัฒนาสำคัญ ตลอดจนแผนพัฒนาเฉพาะด้านภายใต้ยุทธศาสตร์การค้าของชาติฯ เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปนโยบายรัฐบาลและแผนระดับต่างๆ แนวทางที่ 5 จัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วม การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดลำดับความสำคัญของภารกิจหน่วยงานที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์การค้าของชาติฯ
แนวทางที่ 6 เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน ผลักดันให้ภาคเอกชนนำประเด็นการพัฒนาสำคัญในยุทธศาสตร์การค้าของชาติพิจารณาประกอบการจัดทำแผนลงทุนทางธุรกิจ แนวทางที่ 7 สร้างสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนแผนของภาคีการพัฒนาต่างๆ โดยกำหนดให้มีการผลักดันปัจจัยหลักให้สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญ แนวทางที่ 8 เพิ่มประสิทธิภาพกลไกที่ชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพกลไกรับผิดชอบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ที่ชัดเจนสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าของชาติฯ ในระดับประเทศและในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางที่ 9 เสริมสร้างบทบาทของทุกภาคส่วน ให้สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าของชาติฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สนค. จะเร่งนำผลการศึกษาและข้อเสนอทั้งหมดในยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ. 2565-2570 ที่ได้จากการดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ มาพัฒนาร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำแผนงานโครงการและรายละเอียดอื่นๆ ที่จะนำไปสู่ยุทธศาสตร์การค้าชาติและแนวทางการขับเคลื่อนฉบับสมบูรณ์ต่อไป โดยมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ยุทธศาสตร์การค้าของชาติดังกล่าวจะสามารถ ผลักดันให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาด้านการค้าครอบคลุมทุกด้าน และสามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป