Onlinenewstime.com : วันนี้ (22 กันยายน 2564) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ ในการจัดประชุมประจำปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง “Mission to Transform : 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย” ในรูปแบบการประชุมออนไลน์
นายกฯ ย้ำ พลิกโฉมประเทศ ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ ว่า ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรอบในการกำหนดทิศทางและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ มาเป็นระยะเวลา 70 ปี มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้ว 12 ฉบับ ภายหลังจึงมียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถือเป็นแผนระดับที่หนึ่ง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เป็นแผนระดับที่สอง หรือเป็นแผนปฏิบัติการในช่วงทุกระยะ 5 ปี ของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาประเทศ เป็นไปอย่างสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน
โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 และจะได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ระยะที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งแต่ตุลาคม 2565– กันยายน 2570
การที่จะวางแผนเพื่อก้าวไปสู่อนาคตร่วมกันได้อย่างมั่นคงนั้น จำเป็นต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโลกอย่างรอบด้าน โดยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ที่กำลังกระทบกับหลายประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทยคือแนวโน้มที่เรียกว่า Mega Trend ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและรูปแบบการใช้ชีวิต การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็ยิ่งจะทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อน ส่งผลกระทบต่อชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องแก้ไขจุดอ่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อเร่งขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญเติบโต ที่ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้การพัฒนาประเทศไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการทำงานของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปเพื่อ “พลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้าเศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ต่อไป
การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต้องให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” และ “ความมั่นคงของการดำรงชีวิต”
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดประชุมประจำปี 2564 ของ สศช. มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เกี่ยวกับสาระของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ซึ่งภายใต้วิกฤตการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน”และ”ความมั่นคงของการดำรงชีวิตของมนุษย์” เพื่อให้ทุกคนในชาติมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ คือ การมุ่งพัฒนาไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อทุกคนมีความต้านทาน จึงจะเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง และวางแผนเพื่อการฟื้นตัวและปรับตัวที่จะเตรียมรับความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal โดยเฉพาะทั้งการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมทั่วถึง ไม่มีช่องว่างระหว่างคนในสังคม การสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานราก การดูแลสภาพแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นการลดภาวะโลกร้อน การกำจัดขยะในทะเล และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะหากเราไม่บริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มุ่ง 5 เป้าหมายหลัก 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด Resilience เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ คือการ “พลิกโฉม” ประเทศไทย สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดย สศช. ได้ถ่ายทอดวัตถุประสงค์หลักข้างต้นออกมาเป็นเป้าหมายหลัก 5 ประการ ดังนี้
1. การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการสำคัญให้สามารถตอบโจทย์พัฒนาการของเทคโนโลยีและสังคมยุคใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ โดยพัฒนาให้คนไทยมีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ทั้งทักษะในด้านความรู้ ทักษะทางพฤติกรรม และคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม เตรียมพร้อมกำลังคนที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
3. การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงพื้นที่และโอกาสในการแข่งขันของภาคธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสให้มีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม
4. การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและบริโภคให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหามลพิษสำคัญด้วยวิธีการที่ยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในระยะยาว
5. การเสริมสร้างความสามารถของประเทศไทยในการรับมือการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่ โดยการสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเป็นสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยโรคระบาด รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกลไกทางสถาบันให้เอื้อต่อสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ ได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนาไว้จำนวน 13 หมุดหมายเพื่อเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน มีเป้าหมายและทิศทางที่ช่วยในการสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ ที่ครอบคลุม 4 มิติการพัฒนา ประกอบด้วย
1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำ ด้านสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน
2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่ และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศหมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
กระบวนการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ขั้นต่อไป
หลังจากผ่านกระบวนการยกร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ข้างต้น เสร็จสิ้น สศช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ 13 คณะ (ตาม 13 หมุดหมาย) เพื่อดำเนินการยกร่างรายละเอียดของตัวชี้วัดและกลยุทธ์ของแต่ละหมุดหมายในช่วงตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา (มิถุนายน – กันยายน 2564) ซึ่งภายหลังจากการประชุมในวันนี้ (22 กันยายน 2564) สศช. จะจัดให้มีการรับฟังและระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 อีกครั้ง ในช่วงธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 พร้อมทั้งปรับปรุงแผนพัฒนาฯ จากความเห็นที่ได้รับอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ตามลำดับ ก่อนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา และทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป
คลิป : การประชุมประจำปี 2564 ของ สศช. ในหัวข้อ “Mission to Transform : 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย” 22 กันยายน 2564 ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ