Onlinenewstime.com : การนำเสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2564 พบความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่ มิติคุณภาพคน การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น ทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานลดลง หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น และสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น ในด้านสุขภาพ พบว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง มิติความมั่นคงทางสังคม คดีอาญา การเกิดอุบัติเหตุทางบกเพิ่มขึ้น และการร้องเรียนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคผ่าน สคบ. ลดลง ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. เพิ่มขึ้น
มิติด้านความเป็นอยู่และพฤติกรรมของคน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน Education Technology : เครื่องมือสำคัญในการเปิดกว้างทางการศึกษา และบทบาทสื่อกับบริบทสังคมไทย รวมทั้งการเสนอบทความเรื่อง “ประเทศไทยกับความพร้อมของรูปแบบการทำงานที่บ้าน”
สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังได้รับผลกระทบหากเทียบกับช่วงเวลาปกติ การจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง
สถานการณ์แรงงานไตรมาสสอง ปี 2564 ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ โดยไตรมาสสอง ปี 2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากการเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานของแรงงานที่ว่างงานและถูกเลิกจ้าง และราคาสินค้าเกษตรที่จูงใจ การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า มีการขยายตัวร้อยละ 5.1 5.4 และ 7.1 ตามลำดับ
ส่วนสาขาการผลิต และการขายส่ง/ขายปลีก การจ้างงานหดตัวร้อยละ 2.2 และ 1.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ การจ้างงานที่หดตัวในสาขาการผลิต ซึ่งใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก ขณะที่สาขาการผลิตเพื่อการส่งออก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ สาขาเครื่องคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์ ชั่วโมงการทำงาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 41.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับแรงงานที่ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 การว่างงานยังอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของ COVID 19 โดยอัตรา การว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.89 คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน แบ่งเป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน (ผู้จบการศึกษาใหม่) 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.04 และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจานวน 4.4 แสนคน ลดลงร้อยละ 8.38 เมื่อพิจารณาระยะเวลาของการว่างงาน พบว่า ผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น โดยผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน มีจำนวน 1.47 แสนคน เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าจากช่วงเดียวกันของไตรมาสที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.18 และ 3.44 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าการว่างงานในปัจจุบัน อยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง สำหรับการว่างงานในระบบ ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 3.1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกันตนร้อยละ 2.8 ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยแต่ยังคงสูงกว่าสถานการณ์ปกติ ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย มีจำนวน 32,920 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนเพียง 7,964 คน
ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป
1. ผลกระทบจากการระบาดที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมาตรการควบคุมการระบาด ที่ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของแรงงาน จากสถานการณ์แพร่ระบาด COVID–19 ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งต่อมารัฐบาลมีการประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงและ มีแนวโน้มจะลดลงมากกว่าการระบาดในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการจ้างงาน/การมีงานทา และรายได้ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ทั้งนี้ ลูกจ้างภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัดมีเพียงร้อยละ 5.5 หรือมีจานวน 0.56 ล้านคน จาก 10.2 ล้านคนเท่านั้น และมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวน 7.3 ล้านคน ที่จะได้รับผลกระทบ
2. การออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐ เพื่อประคับประคองให้แรงงาน และผู้ประกอบการยังคงรักษาการจ้างงาน และการประกอบกิจการ การระบาดของ COVID–19 ที่ยาวนานจะส่งผลให้แรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่เข้มข้นกว่าการช่วยเหลือจากการระบาดในระลอกที่ผ่านมา อาทิ การช่วยสนับสนุนค่าจ้างบางส่วนให้กับผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงาน รวมทั้งให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่แรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจากมาตรการควบคุมการระบาด หรือมีความจำเป็น ต้องกักตัว ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน และผู้จบการศึกษาใหม่ จากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID–19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภูมิลาเนา ซึ่งมีทั้งแรงงานถูกเลิกจ้างและกำลังแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่งผลให้ผู้ว่างงานในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพบว่าผู้ที่ว่างงานหางานลดลง เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์และแรงงานที่กลับไปทำงานในภูมิลาเนามีแนวโน้มประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น จึงควรมีแนวทางการส่งเสริมทักษะอาชีพอิสระที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้สะดวก และฝึกฝนได้ด้วยตนเอง
หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลง
ไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.5 ต่อ GDP ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวัง โดยสัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.84 ในไตรมาสก่อน และด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือน เริ่มมีปัญหาในการหารายได้หรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น
ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไปได้แก่
1. ผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เดิม และการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม แม้ว่าสถาบันการเงินได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ แต่เนื่องจากผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจึงจำเป็นต้องเร่งรัดการดาเนินมาตรการให้เร็วขึ้น โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากสถาบันการเงินทุกแห่ง เพื่อให้สามารถประคับประคองสถานะทางการเงินของครัวเรือนให้ผ่านพ้นจากวิกฤตไปได้ ไม่ให้เป็นหนี้เสีย ชะลอการฟ้องร้องคดี รวมถึงการยึดทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ต้องระวังไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้ลูกหนี้ดีไม่ชำระหนี้ตามปกติ (Moral Hazard)
2. รายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และการก่อหนี้นอกระบบ จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด จะส่งผลกระทบต่อรายได้และฐานะการเงินของครัวเรือน และเพิ่มความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ประกอบกับสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่ออาจทำให้ครัวเรือน ที่ขาดสภาพคล่องหันไปก่อหนี้นอกระบบ จึงควรมีมาตรการรักษาการจ้างงาน ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในการช่วยเหลือ
3. การเฝ้าระวังกลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวงโดยการให้สินเชื่อผ่าน Online Platform ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบให้ผู้หลงเชื่อเสียข้อมูลส่วนบุคคล จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง และโดนติดตามทวงหนี้ด้วยวิธีที่รุนแรงได้ จึงควรเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งคณะกรรมการกากับทวงถามหนี้ เข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งล่าสุดก็ได้มีประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ในการทวงถามหนี้ฉบับใหม่ ขณะเดียวกันประชาชนควรตรวจสอบรายชื่อจากผู้ให้บริการทางการเงิน (ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์) ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายก่อนการกู้ยืมเงิน
การเจ็บป่วยโดยรวมลดลง ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก
ไตรมาสสอง ปี 2564 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ 32.4 เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค โดยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 85.4 ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 54.8 และผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลงร้อยละ 4.9 ขณะที่โรคมือ เท้า ปาก ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 และต้องเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจิตของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID–19 ที่ยังคงยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น ทั้งภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง
ไตรมาสสอง ปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 2.4 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 2.9 และการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมักมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมสำคัญ โดยเฉพาะช่วง COVID–19 ที่ทุกคนต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน
และปริมาณการสูบบุหรี่ต่อวันในกลุ่มแรงงานยังสูง ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตแล้ว การสูบบุหรี่ในช่วงการระบาด COVID–19 ยังทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อโรคมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนได้ผลน้อยลง
คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นจากคดียาเสพติดและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ขณะที่สถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยถูกปรับลดให้อยู่ระดับ Tier 2 Watch List ประเทศที่ต้องถูกจับตามอง
ไตรมาสสอง ปี 2564 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดยคดียาเสพติดและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 และ 4.5 แต่คดีชีวิตร่างกายและเพศลดลงร้อยละ 8.9 จึงต้องเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้เข้มงวดมากขึ้น
เนื่องจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) เผยแพร่รายงานสถานการณ์ยาเสพติดในเอเชีย พบว่า กลุ่มค้ายาในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรับตัวต่อสถานการณ์แพร่ระบาด COVID–19 โดยเพิ่มการผลิตและลักลอบขนส่งยาเสพติดจากประเทศแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง รวมทั้งประเทศไทยถูกใช้เป็นศูนย์กลางกระจายและส่งออกยาเสพติดไปต่างประเทศ
นอกจากนี้ จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ค.ศ. 2021 (TIP Report 2021) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ลดระดับประเทศไทยให้อยู่ระดับ Tier 2 Watch List ประเทศที่ต้องถูกจับตามอง จึงต้องเร่งติดตามผลการดำเนินงานและกำหนดแนวทางดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ตามข้อเสนอแนะรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฯ
การเกิดอุบัติเหตุทางบกเพิ่มขึ้น และต้องให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุกับกลุ่มคนเดินเท้าและคนข้ามถนนที่มีโอกาสได้รับอุบัติเหตุสูง
ไตรมาสสอง ปี 2564 มีการรับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุทางบกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 1.3 และ 22.1 โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ยังคงมาจากการขับรถตัดหน้ากระชั้นชิดและขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 23 และ 21.5
นอกจากนี้ กลุ่มคนเดินเท้าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ที่จะได้รับอันตรายจากการสัญจรทางถนน สภาพถนน และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ของยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูง โดยในปี 2561–2563 มีการรับแจ้งคดีคนเดินเท้าประสบอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 8 คดี และสร้างความสูญเสียให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีมาตรการในการจัดการความเร็ว การออกแบบและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อคนเดินเท้า มาตรฐานความปลอดภัยยานพาหนะ รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด อาทิ การหยุดรอคนข้ามทางม้าลาย ให้สิทธิคนเดินถนนเป็นหลัก
การร้องเรียนผ่าน สคบ. ลดลง ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. เพิ่มขึ้น
ไตรมาสสอง ปี 2564 สคบ. ได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 20.1 โดยเป็นการร้องเรียนในสินค้าและบริการทั่วไปมากที่สุด รองลงมาเป็นอาคารชุด/คอนโดมิเนียม ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นถูกคิดค่าบริการจาก SMS และการคิดค่าบริการผิดพลาด
นอกจากนี้ ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บอัตราค่าไฟที่สูงเกินไปของหอพัก ห้องเช่า หรืออพาร์ตเมนต์ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วง COVID–19 ที่ต้องทำงานที่บ้าน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันผู้เช่ากลุ่มนี้ยังไม่ได้สิทธิประโยชน์ จากมาตรการลดไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID–19 ของภาครัฐอีกด้วย จึงควรมีการทบทวนมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้เช่าหอพัก ห้องเช่า หรืออพาร์ตเมนต์ เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกับกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้านหรือคอนโดมิเนียม
การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน IMD ปี 2564 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2563 โดยปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงและเป็นพื้นฐาน ของการพัฒนาคน คือ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับต่ำ
โดยเฉพาะด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 56 และส่งผลต่อผลิตภาพของประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาทักษะในโลกยุคใหม่ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 37 ซึ่งยังคงต้องได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะทัศนคติต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สะท้อนจากผลการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2563 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ครัวเรือนไทยไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คือ ยังไม่มีความจำเป็นร้อยละ 54.4 รองลงมาคือ ไม่มีความรู้/ทักษะในการใช้ร้อยละ 28.9 และไม่สามารถเข้าถึง (ไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่) ร้อยละ 6.5
ดังนั้น หากต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจะต้องให้ความสำคัญในการเร่งพัฒนาคุณภาพคน โดยพัฒนาการศึกษาควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพของแรงงาน อาทิ พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมในการพัฒนาบุคคล รวมถึงการปลูกฝังทัศนคติแนวคิดที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (Growth Mindset)
โดยภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการสร้างกลไกให้เกิดการเรียนรู้ การสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้คนทุกกลุ่มสามารถพัฒนาทักษะของตนได้ง่ายขึ้น การมีข้อมูลและการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความถนัด และความต้องการของประเทศในอนาคต
Education Technology : เครื่องมือสำคัญในการเปิดกว้างทางการศึกษา
เทคโนโลยีการศึกษา (Education Technology : EdTech) เป็นแนวโน้มของโลกยุคปัจจุบัน ที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเพิ่มคุณภาพของเนื้อหาและการเรียนการสอน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา รวมถึงการช่วยเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาไม่สามารถไปเรียนในโรงเรียนตามปกติได้ในช่วง COVID-19 ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาภาพรวมอุตสาหกรรม EdTech มีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น และเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปิดกว้างทางการศึกษาจากรูปแบบการเรียนที่หลากหลาย สามารถช่วยกระจายความรู้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนครูผู้สอน ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่สอนหรือครูไม่ครบชั้น ซึ่งมีตัวอย่างการดำเนินการที่สำเร็จทั้งใน ประเทศไทยและต่างประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษามาช่วยในการจัดการศึกษามากขึ้น ควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ให้มีความพร้อมและสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ในทุกพื้นที่ นอกจากนั้น ระดับนโยบายต้องให้ความสำคัญกับการนำ EdTech มาใช้ในการศึกษา โดยเฉพาะเพื่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และควรมีการพัฒนารูปแบบเชิงเนื้อหาและเชิงเทคนิค เรื่องระบบเทคโนโลยีที่รองรับให้มีความสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่
บทบาทสื่อกับบริบทสังคมไทย
สื่อมีบทบาทอย่างมากในสังคมไทย และมีส่วนสำคัญในการกำหนดหรือวางระเบียบวาระการรับรู้เหตุการณ์แก่ประชาชนทั่วไป (Agenda setting) การนำเสนอข่าวมีประเด็นทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อผู้ที่ตกเป็นข่าว ทั้งนี้ การให้น้ำหนักการนำเสนอที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อสิ่งที่ประชาชนรับรู้ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่รูปแบบของสื่อได้มีการวิวัฒนาการจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และพฤติกรรมการใช้สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยสื่อทางช่องทางออนไลน์ (Social Media) ได้มีบทบาทมากขึ้น รูปแบบการผลิตข่าวสารและผู้นำเสนอข่าวสารที่ทุกคนสามารถเป็นผู้นำเสนอข่าวสารได้ การแข่งขันที่สูงมากขึ้น การนำเสนอข่าวยุคใหม่เน้นการนำเสนอที่รวดเร็ว ทำให้การให้ความสำคัญกับการคัดกรองข้อมูลข่าวสารลดลง เนื่องจากมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่น้อยกว่าสื่อดั้งเดิม
การนำเสนอข่าวสารซ้ำ ๆ และเสนอความคิดเห็นของผู้เสนอข่าวผ่านสื่อช่องทางหลักและสื่อช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะในคดีอาชญากรรมที่มีลักษณะ การนำเสนอข่าวในเชิงสืบสวนคดีและความคิดเห็นมากกว่านำเสนอข้อเท็จจริง จนอาจส่งผลกระทบต่อสังคม อาทิ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมในสังคม ผลกระทบต่อรูปคดี และอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบอาชญากรรมได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาถึงความเหมาะสมของบทบาทสื่อรูปแบบต่าง ๆ กับบริบทสังคมไทยที่ประชากรจำนวนมากยังคงขาดความรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะสื่อทางออนไลน์ที่มีการส่งต่อข่าวปลอมได้ง่าย (Fake News) และกระจายออกไปได้รวดเร็ว
โดยการส่งเสริมจริยธรรมและการกำกับดูแลสื่อผ่านทางผู้ผลิตสื่ออาจไม่เพียงพอ ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy : MIDL) ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยต่อไป
บทความเรื่อง “ประเทศไทยกับความพร้อมของรูปแบบการทำงานที่บ้าน”
การทำงานที่บ้าน (Work from home) เป็นมาตรการหนึ่งเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในช่วงการแพร่ระบาดที่รุนแรงหลายองค์กรได้ตอบรับต่อมาตรการนี้ ทำให้การทำงานที่บ้าน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากในอดีตค่อนข้างมาก จากการสำรวจของ Global Workplace Analytics และ Owl Labs พบว่า ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา อัตราการทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 159 โดยร้อยละ 18 เป็นการทำงานที่บ้านแบบเต็มรูปแบบ ขณะที่ร้อยละ 52 มีการทำงานที่บ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน และมีบริษัทประมาณร้อยละ 16 ที่มีการจ้างพนักงานทำงานที่บ้าน 100 เปอร์เซ็นต์
สำหรับรูปแบบการทำงานที่บ้านมักขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน ทั้งนี้ จากการศึกษาของ McKinsey & Company ถึงศักยภาพของการทำงานนอกสถานที่ทำงาน โดยพิจารณาจากสัดส่วนการใช้เวลาทำงานอย่างมีประสิทธิผล (Productivity) พบว่า อาชีพการเงินและการประกันเป็นอาชีพที่มีศักยภาพสูงที่สุด รองลงมาคือ การบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี ในขณะที่เกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีศักยภาพในการทำงานนอกสถานที่ทำงานต่ำที่สุด
การทำงานที่บ้านมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด จากการสำรวจของ Global Workplace Analytics และ Owl Labs พบว่า พนักงานร้อยละ 75 มีความกดดัน/ความเครียดลดลง ส่งผลให้ร้อยละ 76 ของพนักงานไม่คิดจะเปลี่ยนงาน และการทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้พนักงานร้อยละ 24 รู้สึกถึงการมีประสิทธิผลของงานและมีความสุขในการทำงาน แต่ก็มีข้อจำกัด อาทิ มีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่บ้านเพิ่มขี้น ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน รวมถึงการขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
ประเทศพัฒนาแล้วมีศักยภาพในการทำงานนอกที่ทำงานมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วจะพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ไม่เน้นการใช้แรงงาน ดังนั้น จึงมีศักยภาพในการปรับรูปแบบ การทำงานมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่ยังต้องพึ่งพาการใช้แรงงานในภาคการเกษตรเป็นหลัก สะท้อนได้จากสัดส่วนเวลาที่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพจากการทำงานนอกที่ทำงานประมาณร้อยละ 26-30 ของเวลาการทำงาน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีการทำงานนอกที่ทำงานได้เพียงร้อยละ 12-18 ของเวลาการทำงาน
ในกรณีประเทศไทย จากการสำรวจของสวนดุสิตโพลเรื่อง “พฤติกรรมของคนไทยกับการทำงานที่บ้าน (Work From Home)” ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า คนไทยมีการทำงานที่บ้านร้อยละ 43 และทำงานทั้งที่บ้านและที่ทำงานร้อยละ 34 โดยมีข้อดีคือ เป็นการช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค ประหยัดค่าเดินทาง และเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในขณะที่ข้อเสีย ได้แก่ มีค่าใช้จ่ายที่บ้านเพิ่มขึ้น อุปกรณ์เครื่องมือไม่สะดวก และการสื่อสาร/ติดต่อล่าช้า สำหรับในด้านของผู้ประกอบการ มีการประเมินว่าร้อยละ 20 ของบริษัทในปัจจุบันมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน
แนวทางการทำงานที่บ้านให้เกิดประสิทธิผลในกรณีต่างประเทศ ได้แก่ (1) การบริหารเวลา โดยจัดทำแผนการทำงานตามลำดับความสำคัญ ให้พนักงานจัดการ/ปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานได้ตามความจำเป็น อาทิ โปแลนด์ ให้พนักงานคู่สามีภรรยาสลับเวลาการทำงาน เพื่อให้มีโอกาสผลัดเปลี่ยนกันดูแลบุตร (2) การใส่ใจผลลัพธ์ของงานมากกว่ากระบวนการ โดยกำหนดวัตถุประสงค์/ผลผลิตของงานที่ชัดเจน มีระบบการให้คำปรึกษา/ข้อเสนอแนะในการทำงาน อาทิ นิวซีแลนด์ ใช้ระบบ Leaders Conversations ในการให้คาแนะนา ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาแก่พนักงาน
(3) การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนในการทำงาน โดยสร้าง Platform การทำงาน/แบ่งปันข้อมูลใช้ร่วมกัน สำรวจความต้องการทักษะด้านเทคโนโลยี ทบทวนนโยบายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยี อาทิ คาเมรูน ลงทุนติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ต/ระบบการประชุมทางไกล ญี่ปุ่น มีการนำหุ่นยนต์ตัวแทนเสมือน (Avatar Robot) มาใช้สนับสนุนการทำงานที่บ้าน (4) การสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับผู้บริหาร โดยกำหนด Platform สื่อสารกลาง กำหนดแนวทางการส่งงานต่อผู้บริหาร สร้างวัฒนธรรมการสื่อสารอย่างเปิดเผย อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค และจีน ใช้เทคโนโลยีสตรีมมิ่ง (Streaming) ในการสื่อสาร/ประชุมทางไกล เซเนกัล กาน่า ไนจีเรีย อูกันดา แทนซาเนีย เอธิโอเปีย และ แอฟริกาใต้ มีการใช้ระบบประชุมทางไกลมากขึ้น และส่งเสริม/พัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยระบบดิจิทัล
(5) การสนับสนุนให้พนักงานทำงานอย่างมีสุขภาวะ โดยมีหลักเกณฑ์ดูแลพนักงานทั้งเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมและสุขภาวะในการทำงาน อาทิ จีน จัดให้มีสายด่วนนักจิตวิทยา 24 ชม. และมีหลักสูตรการจัดการอารมณ์ระหว่างการทำงาน UN Woman UN Woman จัดตั้งคณะทำงานด้านสุขภาวะของคนทำงาน มีหน้าที่ติดตาม/ประเมินสุขภาวะ (6) การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะของพนักงาน โดยสำรวจความต้องการอบรมที่เน้นทักษะการสื่อสาร ความเป็นผู้นำ วิธีดูแลสุขภาพกายและใจ อาทิ โปรตุเกส จัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะที่จำเป็นสาหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ (7) การมีกฎ ข้อตกลง และเงื่อนไขการทำงานที่ชัดเจน โดยทบทวนระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากการทำงานที่บ้าน และ (8) การรักษาสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว โดยสนับสนุนการจัดการความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต กำหนดผลสัมฤทธิ์และระยะเวลาในการทำงานให้ชัดเจน อาทิ โปรตุเกส กำหนดแนวทางการทำงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะและการดำเนินชีวิตส่วนตัวของคนทำงาน
ความพร้อมการทำงานที่บ้านประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากดัชนีความยากง่ายต่อการปรับเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2562 โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าประเทศไทยยังไม่มี ความพร้อมสาหรับการทำงานที่บ้าน เนื่องจากลักษณะงานส่วนใหญ่เป็นการใช้เครื่องจักร/เครื่องมือและต้องทำางานนอกบ้าน รวมทั้งการปรับใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยังมีไม่มากนัก นอกจากนั้น ยังพบว่า (1) เพศชายมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานยากกว่าเพศหญิง เนื่องจากเพศชายมีการทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักร/เครื่องมือมากกว่า (2) คนอายุ 46 ปี ขึ้นไป ไม่พร้อมทำงานจากบ้านสูงที่สุด เนื่องจากยังขาดทักษะดิจิทัลที่เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (3) ผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีความพร้อมในการปรับรูปแบบการทำงานมากที่สุด เนื่องจากลักษณะงานไม่ต้องใช้เครื่องจักร/เครื่องมือมากนัก และมีทักษะดิจิทัลที่ดี (4) คนรายได้น้อยปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานได้ยากกว่าคนรายได้สูง และ (5) อาชีพผู้ปฏิบัติการด้านเครื่องจักรในโรงงานและด้านการเกษตรและประมง เป็นกลุ่มอาชีพที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้ยากที่สุด
การเตรียมประเทศไทยให้พร้อมรับการทำงานในรูปแบบการทำงานที่บ้าน โดย (1) การเตรียมความพร้อมขององค์กรสำหรับการทำงานรูปแบบใหม่ โดยศึกษาวิเคราะห์ลักษณะงาน ทักษะของพนักงาน ตลอดจนระบบการทำงาน เพื่อกำหนดรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม (2) การยกระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยีสำหรับองค์กร โดยการพัฒนา/ปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสาหรับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร รวมทั้งใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของงาน และการประเมินผลการทำงานของพนักงานได้อย่างทันท่วงทีและเป็นไปอย่างยุติธรรม
นอกจากนี้ ควรมีการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่พนักงาน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและความคล่องตัว (3) การพิจารณาให้การทำงานนอกสถานที่ทำงานเป็นนโยบายขององค์กร โดยผู้บริหารต้องเล็งเห็นความสำคัญของการทำงานนอกสถานที่ มีการกำหนดวิธีการและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมในการทำงานแบบออนไลน์ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นสำคัญ และ (4) การพิจารณาการปรับรูปแบบการทำงานสู่ การทำงานที่บ้านให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสนับสนุนการลงทุน/พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีความเสถียรและครอบคลุม
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
25 สิงหาคม 2564