Onlinenewstime.com : จากการขับเคลื่อนล่าสุดโดยรัฐบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทยให้ปลอดแรงงานลิง สวนมะพร้าวพันธมิตรหลายแห่งของ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด (TCC) ได้รับมอบหนังสือรับรองแปลงผลิตมะพร้าวปลอดภัยและไม่ใช้ลิงฉบับแรก จากโครงการ GAP Monkey Free Plus โดยกรมวิชาการเกษตรของประเทศไทย เพื่อรับรองการเป็นแปลงผลิตที่ไม่ใช้แรงงานลิงในการเก็บเกี่ยว
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เปิดตัวโครงการและมอบหนังสือรับรองแปลงผลิตมะพร้าวปลอดภัยและไม่ใช้ลิง ในเวทีการประชุม “Consultative Virtual Meeting on Thailand’s Proposal for GAP Monkey Free Plus” ซึ่งดำเนินการโดย International Coconut Community (ICC) ทั้งยังหารือถึงกระบวนการที่สามารถรับรองได้ว่า การไม่ใช้แรงงานสัตว์ (ลิง) จะเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต
หนังสือรับรอง GAP Monkey Free Plus นับเป็นจุดเริ่มต้นความพยายามของประเทศไทย ในการดำเนินมาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตมะพร้าวเพื่อการส่งออก สำหรับแปลงมะพร้าวที่จะได้รับหนังสือรับรองนี้ เกษตรกรสามารถสมัครเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจรับรองเป็นแปลงที่ไม่ได้ใช้แรงงานลิงในการเก็บเกี่ยว และสอดคล้องตามมาตรฐานการเกษตรระหว่างประเทศ
ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมมะพร้าวที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานที่โปร่งใส ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยคุณภาพและมาตรฐานการเก็บเกี่ยวมะพร้าวโดยไม่ใช้แรงงานลิง TCC ได้สนับสนุนโครงการนำร่อง GAP Monkey Free Plus ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยพืชสวน เจ้าหน้าที่กองพัฒนาระบบและมาตรฐานสินค้าพืช ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี ในการตรวจประเมินสวนมะพร้าวของพันธมิตรบริษัทในจังหวัดสมุทรสาคร
พบว่าสวนเหล่านี้ที่ทำงานกับ TCC ได้ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบและได้รับหนังสือรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในก้าวถัดไป TCC จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับกรมวิชาการเกษตร รวมถึงสนับสนุนให้สวนมะพร้าวของพันธมิตรจังหวัดอื่นเข้ารับการตรวจรับรองโครงการ GAP Monkey Free Plus มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่อนาคตที่ปราศจากการใช้แรงงานลิงอย่างสมบูรณ์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในต่างประเทศ
ด้วยความมุ่งมั่นในการติดตามและสั่งซื้อมะพร้าวอย่างมีความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศไทย นอกเหนือจากโครงการ GAP Monkey Free Plus แล้ว TCC ยังเป็นบริษัทแรกของอุตสาหกรรมที่ดำเนินการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอก
โดยการตรวจสอบภายนอกดำเนินการโดย บูโร เวอริทัส ผู้ตรวจสอบระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียง มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงกระบวนการทำงานของเกษตรกรและซัพพลายเออร์ในท้องถิ่น จากการตรวจสอบภายในและการตรวจสอบครั้งแรกของบูโร เวอริทัส
ซึ่งประสบผลสำเร็จในการประเมินสวนกว่า 1,000 สวน จากจังหวัดที่ TCC รับซื้อมะพร้าวทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช ยืนยันว่า การดำเนินงานของ TCC ปราศจากการใช้แรงงานลิงเพื่อเก็บเกี่ยวมะพร้าวในเครือข่ายที่ตรวจสอบแล้วในประเทศไทย
โดยปัจจุบันบริษัทยังขยายข้อกำหนดด้านการตรวจสอบเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง และกำลังรอผลการตรวจสอบจากบูโร เวอริทัส ครั้งที่สอง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
นอกจากนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในด้านคุณภาพและมาตรฐานทางจริยธรรมขั้นสูงสุด TCC ได้จัดตั้งโครงการริเริ่มอีกหลายโครงการเพื่อบุกเบิกและส่งเสริมการเพาะปลูกที่ไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าวจากทั่วทุกภาคส่วน รวมไปถึงการเซ็น MOU กับล้งต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ภายใต้ข้อตกลงว่า สวนมะพร้าวทั้งหมดจะต้องไม่มีการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าวอย่างเด็ดขาด โดยปัจจุบันได้มีการเซ็น MOU กับล้งในจังหวัดต่าง ๆ ที่มีพื้นที่สวนมากกว่า 1,000 สวน อีกทั้ง TCC ยังให้คำมั่นด้วยว่า หาก PETA พบว่าล้งรายใดมีการใช้แรงงานลิง ทางบริษัทจะยุติความสัมพันธ์กับล้งนั้นโดยทันที
นอกเหนือจากกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมา TCC ยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (WFFT) ในการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเกษตรที่ปราศจากการแสวงประโยชน์จากลิงในประเทศไทย
โดยมีกิจกรรมช่วยเหลือลิงที่ถูกทารุณกรรมด้วยการสร้างระบบช่วยเหลือและฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของลิง
นอกจากนี้ ในการสร้างอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและยั่งยืนยิ่งกว่า TCC ยังสานต่อการแจกจ่ายมะพร้าวพันธุ์เตี้ย ส่งมอบอุปกรณ์เก็บเกี่ยว และให้ความรู้แก่เกษตรกรต่อไป เพื่อให้ผลผลิตที่ได้เกิดจากการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ
ด้วยระบบและการดำเนินการที่เหมาะสม TCC หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสร้างมาตรฐานและแนวทางในการเก็บเกี่ยวมะพร้าวโดยไม่ใช้แรงงานลิงให้กับอุตสาหกรรมมะพร้าวต่อไป โดยยินดีทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาการเกษตรท้องถิ่นไปสู่อนาคตที่ผนวกรวมทั้งนวัตกรรม จริยธรรม และความยั่งยืนเข้าไว้ด้วยกัน