Onlinenewstime.com : ตลาดน้ำมันพืชเดือดอีกรอบ สวีท มีท (ประเทศไทย) ส่ง เพลิน แบรนด์น้ำมันพืชน้องใหม่ ชิงแชร์ตลาดน้ำมันบริโภค 30,000 ล้านบาท ชูจุดเด่นน้ำมันมีความสดใหม่จากโรงกลั่นถึงบรรจุขวดไม่เกิน 12 ชั่วโมง
ใช้เทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรมการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันที่ได้มาใหม่จากยุโรป ทำให้ได้น้ำมันคุณภาพที่ดี เผยยอดขายปี 65 ทะลุเป้า 1,200 ล้านบาท คาดปีหน้าโตก้าวกระโดดถึง 3,000 ล้านบาท จากปัจจัยหนุนทั้งใน-ต่างประเทศ พร้อมกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เพื่อเสิร์ฟให้ทันความต้องการของลูกค้า
นายเอกภัท เตมียเวส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ เตมียเวส กรุ๊ป และประธานกรรมการ บริษัท สวีท มีท (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงการเติบโตของตลาดน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคว่า ตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งตลาดและราคาน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคทั่วโลกมีการเติบโตและมีระดับราคาที่สูงขึ้นในทุกกลุ่ม
โดยปัจจัยหลักในปีนี้เกิดจากสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ในภาพรวมไปทั่วโลกในหลายด้าน ทั้งภาคการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร และการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำมันเพื่อการบริโภค
ทำให้นอกจากจะมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดความผันผวนด้านราคาอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
ซึ่งอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้ผลกระทบโดยตรง ทั้งด้านปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศผู้ผลิตหลักอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคในช่วงเวลาดังกล่าว
การฟื้นตัวของธุรกิจและการเติบโตของธุรกิจอาหารหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มีส่วนทำให้มีปริมาณการบริโภคสูงขึ้น และทำให้ราคาน้ำมันจากกลุ่มผู้ผลิตหลักของโลกสูงขึ้นด้วย ซึ่งก็เป็นผลดีต่อผลิตภัณฑ์น้ำมันเพื่อการบริโภคในกลุ่มต่างๆ รวมทั้ง สวีท มีทฯ ด้วยเช่นกัน
ส่วนแนวโน้มของตลาดน้ำมันบริโภคในปี 66 คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับปี 65 คือ ตลาดยังมีการเติบโตและขยายตัวได้อีกมาก
สำหรับในประเทศไทย ตลาดน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นน้ำมันปาล์ม 70% และน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ 30% ด้วยเหตุนี้ สวีท มีทฯ ซี่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันพืช เพื่อการบริโภคจึงได้เปิดตัวแบรนด์น้ำมันพืชน้องใหม่ “น้ำมันพืชเพลิน” อย่างเป็นทางการ พร้อมลงชิงแชร์ตลาดเต็มตัว ในทุกกลุ่มของน้ำมันเพื่อการบริโภค เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์ม และถั่วเหลือง
โดยน้ำมันพืชเพลิน มีน้ำมันปาล์มเป็นผลิตภัณฑ์หลัก ในการจำหน่ายในตลาดประเทศไทย โดยจุดเด่นของน้ำมันพืชเพลินอยู่ที่ความสดใหม่ ระยะเวลาจากโรงกลั่นจนถึงกระบรรจุสู่ขวดใช้เวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมง
รวมถึงมีกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation) การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันใหม่จากยุโรป โดยเป็นกระบวนการธรรมชาติ ทำให้ได้น้ำมันมีคุณภาพที่ดีขึ้น ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ถือเป็นแต้มต่อและเป็นจุดแข็งของน้ำมันพืชเพลิน ในการรุกตลาดในครั้งนี้
ด้านแผนการรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นนั้น นายเอกภัท กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงงานผลิตน้ำมันพืชอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีการลงทุนปรับปรุง ขยายโรงงาน รวมทั้งลงทุนในเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และกำลังการผลิตของโรงงาน
ทำให้มี Capacity ในการผลิตน้ำมันชนิดขวดได้สูงถึง 7,200,000 ขวดต่อเดือน (เฉพาะในขนาดไซน์ 1 ลิตรไซน์เดียว ไม่รวมขนาดบรรจุอื่น) เพื่อรองรับฐานลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากในปี 66
ที่ผ่านมา สวีท มีท (ประเทศไทย) เริ่มเดินเครื่องผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชเพลินครั้งแรกในปี 2561 มียอดจำหน่าย 44 ล้านบาท ปี 2562 ยอดจำหน่าย 46 ล้านบาท กระโดดขึ้นเป็น 200 ล้านบาทในปี 2563 และ 750 ล้านบาท ในปี 2564 โดยคาดว่าในปี 2565 นี้ จะมียอดจำหน่ายสูงถึง 1,200 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี ถือเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยได้รับปัจจัยหนุนการเติบโตทั้งจากความสัมพันธ์กับพันธมิตทางการค้าในทุกกลุ่มที่มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น มีคู่ค้าและมีตลาดกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา รวมถึงปัจจัยจากภายนอกประเทศที่สืบเนื่องมาจากภาวะตลาดโลกที่มีความต้องการน้ำมันเพื่อการบริโภคในปริมาณที่สูงขึ้น
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารที่มีน้ำมันพืช ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้า ด้านการจัดจำหน่ายนั้น บริษัทฯ มีการจัดจำหน่ายในประเทศ 80% ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักในประเทศจะเป็นกลุ่ม B2B และส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ 20% ของรายได้รวม
โดยส่งออกไปในกลุ่มประเทศแถบเอเชียและกลุ่ม CLMV อาทิ เกาหลี ออสเตรเลีย พม่า ลาว และกัมพูชา รวมทั้งประเทศในกลุ่มทวีปยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน ฯลฯ
ส่วนแนวโน้มและทิศทางการเติบโตของ เพลิน ในปี 2566 นั้น วางเป้าหมายไว้ว่าจะยังคงรักษาระดับการเติบโตไว้ให้ได้อยู่ในระดับสูงเกินกว่า 30% หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยจะมีการเพิ่มสัดส่วนในการส่งออกไปยังต่างประเทศเป็น 40% และในประเทศ 60% ซึ่งได้ดำเนินการเปิดตลาดในประเทศใหม่ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว
เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง (Diversify) จากการผันผวนของตลาดและต้นทุนของน้ำมันพืชแต่ละประเภท พร้อมทั้งมีแผนในการรุกตลาดภายในประเทศอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ด้วยการเน้นการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งเสริมการใช้และการบริโภคน้ำมันพืช เพลิน ผ่านกิจกรรมทางการตลาดในด้านต่างๆ พร้อมผสานความสัมพันธ์กับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ในการร่วมมือพัฒนาธุรกิจร่วมกันให้ยั่งยืนอีกด้วย