Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ส่งออกเดือนก.ย. ขยายตัว 7.8% Krungthai COMPASS คาดส่งออกยังเติบโต แต่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก

export growth 27102022

บทความโดย ฉมาดนัย มากนวล Krungthai COMPASS

Key Highlights

ส่งออกเดือน ก.ย. เติบโต 7.8%YoY ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 7.5% และสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 4.2% จากการคลี่คลายของปัญหาห่วงโซ่อุปทานและอานิสงค์ของการอ่อนค่าของเงินบาทที่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งยังขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวได้

Krungthai COMPASS คาดการส่งออกในระยะข้างหน้ายังขยายตัวได้แต่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเครื่องชี้ล่าสุดของจีนสะท้อนกิจกรรมการผลิตที่มีแนวโน้มชะลอต่อเนื่อง อีกทั้ง เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องและการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดอาจส่งผลต่อการส่งออกสินค้าในระยะถัดไป

มูลค่าส่งออกในรอบ 9 เดือนแรกขยายตัว 10.6% 

มูลค่าส่งออกเดือน ก.ย. อยู่ที่ 24,919 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 7.8%YoY ใกล้เคียงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขยายตัว 7.5%YoY โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องและสินค้าเกษตรที่กลับมาขยายตัวได้ จากการคลี่คลายของปัญหาห่วงโซ่อุปทานซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอานิสงค์ของการอ่อนค่าของเงินบาท โดยการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัว 10.6% ส่วนการส่งออกทองคำเดือนนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 121.5% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 6.7%YoY

ด้านการส่งออกรายสินค้าบางส่วนขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 ที่ 9.4%YoY ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ขยายตัว 9.2%YoY จากการเติบโตต่อเนื่องของการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+18.3%YoY) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+8.4%YoY) อัญมณีและเครื่องประดับ (+89.6%YoY) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+115.7%YoY) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+23.4%YoY) และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (+49.2%YoY) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัวต่อเนื่อง (-10.4%YoY) ส่วนสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์กลับมาหดตัว (14.0%YoY)

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 ที่ 1.8%YoY
แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.6%YoY
โดยมีปัจจัยหลักจากการหดตัวต่อเนื่องของยางพารา (-7.7%YoY) รวมทั้งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่กลับมาหดตัว (-5.6%YoY) อย่างไรก็ตามสินค้าหลายชนิดยังขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูป (+82.9%YoY) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+19.8%YoY) ข้าว (+2.7%YoY) อาหารสัตว์เลี้ยง (+13.4%YoY) น้ำตาลทราย (+16.3%YoY) และผลไม้แช่แข็งและแห้ง (+31.5%YoY)

ด้านการส่งออกรายตลาดบางส่วนขยายตัวได้

มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ย. อยู่ที่ 25,772 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 15.6%YoY ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ขยายตัว 21.3%YoY จากการหดตัวต่อเนื่องของสินค้ายานพาหนะฯ (-5.9%YoY) และสินค้าทุน (-5.8%YoY) ขณะที่สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวชะลอลง (+6.3%YoY) อย่างไรก็ตาม สินค้าอุปโภคบริโภค (+13.5%YoY) และสินค้าเชื้อเพลิง (+80.2%YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง ด้านดุลการค้าเดือน ก.ย. ขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ระดับ -853 ล้านดอลลาร์ฯ โดยดุลการค้า 9 เดือนแรกขาดดุลสะสม -14,985 ล้านดอลลาร์ฯ



·      Implication:

Krungthai COMPASS ประเมินว่าการส่งออกในระยะข้างหน้ายังขยายตัวได้แต่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น แม้ว่าการส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการคลี่คลายของปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลให้การผลิตของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและอาจสนับสนุนการส่งออกในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดหลักยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณแผ่วลง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) เดือนกันยายน

โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดการส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของไทย โดยดัชนีดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 บ่งชี้ถึงภาคการผลิตของจีนที่อ่อนแอลงตามแรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศจีน ซึ่งยังได้รับผลกระทบจากนโยบาย zero-covid

รวมถึงปัญหาภัยแล้งและความเปราะบางของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ประกอบกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวส่งผลให้การส่งออกของจีนในเดือน ก.ย. ขยายตัว 5.7%YoY (เดือน ส.ค. +7.1%YoY) ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ซึ่งปัจจัยข้อหลังนี้ยังสร้างผลลบเชื่อมโยงไปยังการค้าที่พี่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีน นอกจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องและการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด อาจเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า

Exit mobile version