fbpx
News update

หนุนใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นตัวช่วยจัดการเรียนรู้ พร้อมปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย

Onlinenewstime.com : การลดลงของประชากรเกิดใหม่ ส่งผลต่อจำนวนผู้เรียนในระบบน้อยลง และทำให้จำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่า ปี 2562 ประเทศไทย มีโรงเรียนขนาดเล็ก 15,158 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 15,089 แห่ง ซึ่งเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 30,000 แห่ง

โดยมีผลกระทบด้านต่างๆ ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะโรงเรียนขนาดเล็กได้รับงบประมาณน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของรัฐบาล ที่คิดเป็นเงินรายหัวต่อนักเรียน และการกำหนดสัดส่วนครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน ทำให้เกิดปัญหาการจัดสรรครูไม่ครบชั้นเรียน และขาดแคลนครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

แนวทางการแก้ปัญหา ของโรงเรียนขนาดเล็กที่เกิดขึ้นคือ การยุบ ควบรวมโรงเรียน และจัดทำโรงเรียนช่วงชั้น เป็นการรวมกลุ่ม ของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งหน้าที่การสอนเฉพาะบางช่วงชั้น  และให้นักเรียนชั้นเดียวกัน ไปเรียนรวมกัน ในโรงเรียนที่ได้แบ่งช่วงชั้นไว้

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นกับการจัดการเรียนรู้ “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่สามารถช่วยลดปัญหาด้านการเรียนการสอน ของโรงเรียนขนาดเล็กได้

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้จัดการประชุมทางวิชาการ เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายทางการศึกษา (OEC Forum) ครั้งที่ 4 เรื่อง ยกกำลังสองโรงเรียนขนาดเล็กด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มและโรงเรียนช่วงชั้น ซึ่งมีตัวแทนจากภาคเอกชน ร่วมให้ความคิดเห็นในการเสวนา ลดช่องว่างทางการศึกษาด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญ สำหรับนำไปใช้ในการจัดการการศึกษาของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดย ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปิโก (ไทยแลนด์) ได้พัฒนา EDUCA จากงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู มาสู่แพลตฟอร์ม การสื่อสารเพื่อพัฒนาครู ซึ่งนอกจากจะมีเฟซบุ๊คเพจ educathai และเว็บไซต์ ที่มีคอนเทนต์หลากหลายประเด็น ทั้งการเรียนการสอน เทคนิคการเรียนรู้ นโยบายทางการศึกษา ครอบคลุมของไทยและต่างประเทศ

ยังมี Podcast ที่นำข่าวคราวความเคลื่อนไหว มาอัพเดตให้กับเพื่อครูผ่าน ลิงค์ รวมถึงมีการจัดสัมภาษณ์ ด้วยแอปพลิเพชั่น Zoom กับผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ ครุศึกษาและจิตวิทยา เพื่อสื่อสารกับครู สำหรับการพัฒนาเด็กในมิติต่างๆ

“จากการวิจัยทางการศึกษาระดับโลก ระบุว่า การขับเคลื่อนการศึกษา ต้องโฟกัสที่ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และครุศึกษา EDUCA จึงรวบรวมงานวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ และสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม EDUCA ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่จะช่วยส่งต่อองค์ความรู้ ไปในวงกว้างได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ครูสามารถนำตัวอย่างที่ได้รับ ไปปรับใช้กับการจัดการเรียนการสอน หรือเลือกดิจิทัลแพลตฟอร์ม เข้ามาเสริมในการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็ก ให้มีความเป็นเลิศในแบบของตัวเอง ซึ่งจะช่วยทั้งสร้างคุณภาพการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้”

ในขณะที่ ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง www.eduzones.com แสดงความคิดเห็นว่า การจัดทำเว็บไซต์ eduzones เป็นเพราะต้องการเป็นสื่อกลางด้านการศึกษา ในการพัฒนาคน และจากการเห็นปัญหาของครู ในการสอนเด็ก จึงได้ต่อยอดไปสู่การพัฒนารูปแบบการสอนแบบ Active Learning เพื่อพัฒนานักเรียน ให้มีทักษะในการคิดสร้างสรรค์

ซึ่งมีการจัดทำ CBLTool เครื่องมือที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนแบบ Creativity-based Learning รวมถึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นอื่นๆ อีกด้วย เพราะมองว่าเทคโนโลยี จะสามารถเข้ามาช่วยลดช่องว่างด้านคุณภาพทางการศึกษาได้ นอกจากนั้น จากการเติบโตของวงการ EdTech (Education Technology) ที่เห็นคนไทยให้ความสนใจ และเข้ามาทำธุรกิจด้านนี้มากขึ้น ก็เป็นสัญญาณที่ดี ต่อการพัฒนาการศึกษาไทยในระยะยาว

ส่วนทางด้าน นายอนุสรณ์ ดำรงธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและการศึกษา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทได้นำความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ จากการทำงานด้านการศึกษามา 10 กว่าปี ทั้งรายการสามเณรปลูกปัญญาธรรม และรายการทรูปลูกปัญญา ที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ วิทยุ และแม็กกาซีน เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษา ได้เข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ นั้นมาต่อยอดในการจัดทำแพลตฟอร์ม True VWORLD ซึ่งเป็นเครื่องมือ ที่ใช้ในการบริหารการศึกษา

ประกอบด้วยฟีเจอร์อย่างวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ สำหรับใช้ในการสอนหรือประชุม, Education Hub คลังความรู้และข้อสอบ รวมถึงมีห้องสมุดออนไลน์ และ Knowledge Management (KM) ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ จะเป็นตัวช่วยสำหรับผู้อำนวยการโรงเรียน ในการจัดการสถานศึกษา และครูสามารถนำไปใช้กับการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อีกด้วย