fbpx
News update

เกษตรกรไก่ไข่ยืนยันไข่ไม่ขาดแคลน ราคาหน้าฟาร์มไม่ขยับ ช่วยฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

Onlinenewstime.com : ผู้เลี้ยงไก่ไข่เหนือ-ใต้-อีสาน ประสานเสียงยืนยันราคาหน้าฟาร์มไม่ขยับ ด้วยเข้าใจสถานการณ์โควิดลำบากกันทุกคน คาดติดปัญหากระจายเฉพาะที่ มั่นใจผลผลิตปัจจุบันเพียงพอบริโภค

นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลผลิตไข่ไก่ที่มีอยู่ในระบบ ยังมีปริมาณตามปกติ ที่  41-42 ล้านฟองต่อวัน และจากมาตรการรัฐที่ให้ยืดอายุแม่ไก่ยืนกรง จะทำให้ปริมาณไข่ไก่เพิ่มอีก 3 ล้านฟองต่อวัน รวมเป็น 44-45 ล้านฟองต่อวันในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ เป็นปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือราคาขายหน้าฟาร์มเกษตรกร ยังอยู่ในระดับเดิมตามที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือไว้ จึงแปลกใจว่าทำไมราคาไข่ไก่ในหลายพื้นที่มีการปรับสูงขึ้น

“ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีหลายจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้มถูกล็อกดาวน์ การขนส่งผลผลิตไข่ไก่ให้กับห้างต่างๆ จึงทำได้ไม่สะดวกนัก ส่งได้เพียงวันละหนึ่งเที่ยว หากว่ามีคนซื้อมากกว่าปกติ ก็จะทำให้เติมไม่ทัน 

ยืนยันว่าผลผลิตไข่ไก่ที่มีอยู่ขณะนี้ เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศอย่างแน่นอน ความต้องการที่ดูเหมือนว่ามีเพิ่มขึ้นช่วงนี้ น่าจะเป็นเพราะผู้บริโภคซื้อตุนไว้ เพื่อลดความถี่ในการออกนอกบ้าน จากปกติซื้อที่ 10 ฟอง ก็เพิ่มเป็น 90-120 ฟอง เราเองก็เห็นใจผู้บริโภค ก็ต้องประคับประคองกันไป เพื่อก้าวผ่านโควิด-19 ไปด้วยกัน” นายสุเทพ กล่าว

นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวด้วยว่า ปัญหาราคาไข่ที่สูงขึ้นช่วงนี้ อยู่ที่พ่อค้าคนกลางเป็นสำคัญ ซึ่งทางสมาคมฯได้ย้ำให้เกษตรกรระมัดระวัง ไม่ขายผลผลิตไข่ให้คนแปลกหน้า แต่จะขายให้เฉพาะลูกค้าประจำ สำหรับต้นทุนการเลี้ยง ขณะนี้มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งขึ้นมา ใกล้เคียงเกือบเท่าราคาที่ขายหน้าฟาร์มแล้ว จากช่วงไตรมาสที่สองต้นทุนอยู่ที่ฟองละ 2.76 บาท และมีแนวโน้มต้นทุนสูงขึ้นอีก จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ทำให้ตอนนี้ผู้เลี้ยงแทบไม่มีกำไรเลย

ทางด้านนายสุวัฒน์ แพร่งสุวรรณ์ ประธานชมรมไข่ไก่ภาคอีสาน เปิดเผยว่า การที่ราคาไข่ในขณะนี้ดีดตัวขึ้น มาจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ ถูกนำไปใช้สำหรับผู้กักตัวที่โรงพยาบาลสนามต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ป่วยจาก กทม.ที่กลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนาของตนเองมากขึ้น เพราะไข่ไก่เป็นสินค้าที่นำมาประกอบอาหารได้ง่าย และเก็บรักษาไม่ยาก ขณะที่ราคาขายหน้าฟาร์ม อยู่ในระดับที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือ โดยปกติไข่ไก่ในภาคอีสาน ส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตส่วนเกินของภาคอื่น ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณที่ลดลงบ้างจากช่วงปกติ จากที่ภาคอื่นๆมีความต้องการเพิ่มขึ้นดังกล่าว

ส่วนนายอุ่นเรือน ต้นสัก ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด กล่าวว่า ปริมาณไข่ไก่ในพื้นที่ทางภาคเหนือมีเพียงพอกับความต้องการบริโภค ไม่มีปัญหาขาดแคลน และจำหน่ายตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พร้อมขอให้ภาครัฐ ช่วยดูแลให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ รวมทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรผู้เลี้ยงพอจะสามารถลืมตาอ้าปากได้