Onlinenewstime.com : บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ชูแนวคิด “Good Health & Well-being Workplace” มุ่งเสริมสร้างพลังกายพลังใจที่ดี เพื่อให้พนักงานดูแลห่วงใยซึ่งกันและกัน เน้นเปิดใจเรียนรู้สิ่งที่จะสร้างคุณค่าให้กับตนเอง ลูกค้า และสังคม พร้อมปรับตัวนำการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะต่อสภาวการณ์ใหม่ แนวคิดดังกล่าวมุ่งเน้นดำเนินการผ่านโครงการ “ออฟฟิศแห่งอนาคต”
ซึ่งนอกจากการส่งเสริมศักยภาพบุคลากรแล้ว ยังปรับโฉมที่ทำงานใหม่ ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก คือ สุขภาพและสุขอนามัยที่ดีในสำนักงาน สภาพการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ การส่งเสริมศักยภาพบุคลากรและการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ทั้งนี้เป็นการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะฟื้นฟู และการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเป็นการดำเนินการที่ยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยจากภายในสู่ภายนอก
นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา เราได้วางกลยุทธ์การบริหารจัดการด้านต่างๆ เพื่อให้ทีมงานเชลล์ทุกคนเผชิญหน้ากับสภาวการณ์ที่เราไม่คุ้นเคย และยังมีความไม่แน่นอนในหลายด้าน
นับว่าเป็นความท้าทายที่ต้องจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้พนักงานของเชลล์ทุกคน มีพลังกายพลังใจที่ดีในการทำงาน เราใช้แนวคิด Good Health & Well-being Workplace ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญ กับการดูแลซึ่งกันและกัน ทุกคนต้องปรับตัวเอง ปรับทีม ปรับวิธีการทำงานอย่างรวดเร็ว และมีการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด พร้อมเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา”
แนวคิด Good Health & Well-being Workplace ประกอบด้วยการดำเนินการที่มุ่งเน้นใน 3 ด้าน
สุขภาพและสุขอนามัยที่ดีในสำนักงาน (Healthy & Hygienic Office) ซึ่งสะท้อนความห่วงใยและความปลอดภัยของพนักงานทุกคน สำหรับเชลล์ การดูแลสุขภาพและสุขภาวะของพนักงานคือหนึ่งในเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ การดูแลนี้ครอบคลุมการวางแผนการทำงานร่วมกับพนักงาน ส่งเสริมให้มีความคล่องตัว ทั้งการทำงานที่ออฟฟิศและการทำงานที่บ้าน
สำหรับในออฟฟิศ บริษัทมีมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) นวัตกรรมอุปกรณ์และโต๊ะทำงานที่ดีต่อสรีระของผู้ใช้งาน (Ergonomics, Home Furniture and IT Equipment) เช่น จอคอมพิวเตอร์ โต๊ะที่สามารถปรับระดับความสูง และลักษณะการใช้งานให้สอดคล้องกับพนักงานแต่ละคน ซึ่งมีความต้องการสภาพที่ทำงาน และบรรยากาศการทำงานที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ บริษัทได้จัดให้มีศูนย์กีฬาและออกกำลังกายที่พนักงานสามารถใช้งานได้ แบบออนดีมานด์ (On-demand) เพื่อสร้างเสริมสุขภาพกายที่แข็งแรง และสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ สำหรับมาตรการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เชลล์ยังคงเน้นย้ำให้ทุกคนรักษาระยะห่างทางสังคม สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค เชลล์ยังคงให้ความสำคัญสูงสุด กับความปลอดภัยแบบครบวงจรทั้งในออฟฟิศและในพื้นที่ส่วนตัว เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานและครอบครัว ทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับการทำงาน การเดินทาง การพักผ่อน รวมถึงผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
ดังนั้นจึงได้ยกระดับมาตรการด้านความสะอาดภายในสำนักงาน อาทิ การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดออฟฟิศ โดยเฉพาะจุดที่มีการสัมผัสบ่อย ทุกๆ 2 ชั่วโมง การจัดหาหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์จำเป็นเพื่อสุขอนามัย การตั้งจุดฆ่าเชื้อในสถานที่ทำงาน ที่มีทั้งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ทิชชู่เปียกฆ่าเชื้อ และสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เพื่อใช้งานตามความเหมาะสม และสะดวกในการดูแล ทั้งยังมีการปรับกฎระเบียบการใช้งานลิฟต์โดยสาร การจำกัดจำนวนพนักงานในโต๊ะและที่นั่งในอาคาร และจำนวนผู้ใช้งานในห้องประชุม
สภาพการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Energy Efficiency & Environmentally Friendly Space) แม้ว่าจะเกิดผลกระทบจากโควิด-19 แต่เชลล์ยังมีความมุ่งมั่น ในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ทำงานและพนักงาน เชลล์จึงจัดสรรทรัพยากรที่จำกัดด้วยความเอาใจใส่ มุ่งเน้นประสิทธิภาพ ประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล และให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น แต่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
บริษัทได้เน้นแนวทางการทำออฟฟิศ ที่ส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล อาทิ การเพิ่มและรักษาพื้นที่สีเขียว เพิ่มจำนวนต้นไม้ ทั้งในและนอกอาคาร คัดแยกและจัดการขยะแต่ละประเภท ลดการใช้พลาสติก ติดตั้งระบบปิดไฟฟ้าและน้ำอัตโนมัติเมื่อไม่ได้ใช้ ติดตั้งแผงโซลาร์ตามจุดต่างๆ ทั้งบนอาคารและที่จอดรถ เพื่อนำพลังงานเข้ามาใช้ในออฟฟิศในขณะที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดทั้งระบบการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
(Talent Engagement & Learner Mindset) เพื่อให้พนักงานมีพลังในการทำงาน ทั้งทางกายภาพ และเชิงความคิดความสามารถ เชลล์มุ่งส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาตนเอง เพิ่มพูนศักยภาพการทำงาน ฝึกทักษะใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้มีประสบการณ์การทำงาน ในสายงานที่ตนสนใจและมีศักยภาพในการเติบโต
พร้อมทั้งยังส่งเสริมให้เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างเปิดกว้างแบบ Learner Mindset ซึ่งมีคุณสมบัติ อาทิเช่น การเป็นผู้ใฝ่รู้ การเรียนรู้จากข้อผิดพลาด การแสวงหาแหล่งความรู้ใหม่ๆ การเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน ในลักษณะงานที่อาจแตกต่างหรือเพิ่มเติมจากงานเดิม รวมไปถึงการปรับใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลในการทำงาน
“สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรบุคคล สิ่งที่เชลล์มุ่งเน้นคือ การสร้างและพัฒนาคนของเรา ให้พร้อมปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเสมอ
เมื่อพนักงานของเราปลอดภัย แข็งแกร่ง และมีศักยภาพในการเรียนรู้ ประกอบกับมีความเห็นอกเห็นใจผู้คนรอบตัว ก็จะสามารถส่งต่อความห่วงใยไปยังครอบครัวของเขา ลูกค้า คู่ค้า และสังคมโดยรวม สำหรับเชลล์ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า การเดินหน้าส่งมอบพลังงาน ตลอดจนทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่มีคุณภาพ ของเราได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีความปลอดภัย มีเศรษฐกิจที่มั่นคง และมีความสุข ทั้งในวันนี้และวันต่อๆ ไป” นายปนันนท์ กล่าวสรุป