onlinenewstime.com : เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสเตรียมเฮ หลังความเห็นหลายฝ่าย แนะให้ใช้เป็นไม้ยืนต้นนำร่อง ในการนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ภาคเอกชน พร้อมอ้าแขนรับ เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มอบหมายให้เป็นประธานการประชุม หารือแนวทางการส่งเสริม การนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ
โดยกรมฯ ได้เชิญผู้แทนจากสถาบันการเงิน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย ธ. กรุงเทพ ธ. กรุงไทย ธ. กรุงศรีอยุธยา ธ. ทหารไทย ธ. ไทยพาณิชย์ ธ. ธนชาต
และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว สมาคมการค้า ชีวมวลไทย บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด บริษัท ยูคาลิปตัสเทคโนโลยี จำกัด และนักวิชาการป่าไม้เอกชน โดยการประชุม เน้นที่การหารือแนวทางการส่งเสริมการนำไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ปัญหา-อุปสรรค ในการให้สินเชื่อ ของแต่ละสถาบันการเงิน รวมถึง ความเป็นไปได้ในการนำไม้ยืนต้น มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ”
“ทุกหน่วยงานเห็นพ้องกัน ในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่รัฐอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศ และเพื่อการออมในอนาคต
รวมถึงเห็นควรปรับเปลี่ยน ทัศนคติของเกษตรกร ให้มีความเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อขยายฐานอาชีพ และปรับรูปแบบการประกอบอาชีพ ให้มีความมั่นคง
เนื่องจากการที่สถาบันการเงิน จะปล่อยสินเชื่อให้แก่เกษตรกร โดยใช้ไม้ยืนต้น เป็นหลักประกันทางธุรกิจนั้น สถาบันการเงิน จะพิจารณาจากวัตถุประสงค์การกู้เงิน และความสามารถในการชำระเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยเป็นหลัก ส่วนหลักทรัพย์ที่นำมาใช้เป็นหลักประกัน จะเป็นส่วนประกอบรองลงมา
ดังนั้น การเตรียมความพร้อม ให้เกษตรกรมีความเป็นผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ในการชำระเงินกู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นการเพิ่มโอกาส ให้สถาบันการเงิน พิจารณาอนุมัติเงินกู้ ได้สะดวกขึ้นด้วยเช่นกัน”
“ขณะเดียวกัน ที่ประชุมเห็นควรเลือกไม้ยูคาลิปตัส เป็นไม้ยืนต้นนำร่อง ในการนำมาใช้ เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นประเภทไม้โตเร็ว ที่มีรอบตัดฟันสั้น มีระยะเวลาการตัด 3-5 ปี และเป็นที่ต้องการของตลาดไม้ ทั้งในและต่างประเทศสูง
ราคาซื้อขายค่อนข้างคงที่ รวมถึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเมื่อตัดมาเพื่อใช้งานแล้ว ต้นสามารถแตกหน่อและเติบโตได้ถึง 3 ครั้ง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ในการหาพันธุ์มาเพาะปลูก”
“อย่างไรก็ตาม ปัญหา/อุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ เกษตรกรที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสใน 5 ปีแรกจะยังไม่มีรายได้ (รอบตัดฟันประมาณ 5 ปี) หากสถาบันการเงิน สามารถให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเหล่านี้ได้ จะสามารถช่วยให้เกษตรกร มีรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งการที่สถาบันการเงินรับต้นไม้ เป็นหลักประกัน จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสเป็นอย่างมาก”
“ทั้งนี้ บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด (ธุรกิจในเอสซีจีแพคเกจจิ้ง) ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ผลิตสินค้า เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Packaging Business Chain) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่มาจากต้นไม้ (Fibrous Business Chain) ยินดีคัดกรองเกษตรกร ผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัส ให้กับสถาบันการเงิน ในกรณีที่นำต้นยูคาลิปตัสมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ
เบื้องต้นขอนำร่อง กับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้ทำสัญญาซื้อ-ขายกับทางบริษัทฯ ก่อน เนื่องจากมีตัวตนที่ชัดเจน และมีไม้ยูลาลิปตัส ที่ปลูกอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ การติดตาม และง่ายต่อการนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ
ปัจจุบันมีเกษตรกร ที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทฯ ประมาณ 1 แสนราย แบ่งเป็นรายใหญ่ (ปลูกไม้ยูคาลิปตัส ตั้งแต่ 20 ไร่ขึ้นไป) ประมาณ 3 หมื่นราย และรายย่อย (ปลูกไม้ยูคาลิปตัส น้อยกว่า 20 ไร่) ประมาณ 7 หมื่นราย ซึ่งหากการดำเนินการดังกล่าว ประสบความสำเร็จด้วยดี คาดว่าสถาบันการเงิน ก็พร้อมจะรับไม้ยูคาลิปตัสเป็นหลักประกันทางธุรกิจเอง หรือขยายไปยังผู้ประกอบการอื่น ที่มีการใช้ประโยชน์ จากไม้ยูคาลิปตัสต่อไป”
“เบื้องต้น ผู้แทนสถาบันการเงิน เห็นด้วยกับความเห็นของบริษัทฯ แต่เนื่องจากสถาบันการเงิน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องนำข้อเสนอนี้ ไปหารือในรายละเอียดก่อน ทั้งนี้ กรมฯ ตั้งเป้าว่า สถาบันการเงินพร้อมที่จะรับไม้ยูคาลิปตัส เป็นหลักประกันทางธุรกิจประมาณต้นปี พ.ศ.2563 อย่างไรก็ตาม คงต้องขึ้นอยู่กับความพร้อม ของสถาบันการเงินเป็นหลักด้วยเช่นกัน”
ปัจจุบัน (4 กรกฎาคม 2559-30 ตุลาคม 2562) มีผู้มาขอจดทะเบียน สัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 457,140 คำขอ มูลค่าทรัพย์สิน ที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 7,236,268 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สิน ที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 51.82 (มูลค่า 3,749,943 ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็นร้อยละ 26.54 (มูลค่า 1,920,280 ล้านบาท)
สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็นร้อยละ 21.60 (มูลค่า 1,563,257 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.03 (มูลค่า 1,985 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.01 (มูลค่า 536 ล้านบาท)
อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 138 ล้านบาท) และไม้ยืนต้น คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 129 ล้านบาท) โดยมีผู้รับหลักประกัน รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 35 สัญญา เป็นไม้ประเภทสัก ยาง ยางพารา และยูคาลิปตัส จำนวน 78,105 ต้น ส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ และศรีสะเกษ