Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

เตือน”ไวรัสนิปาห์”มีค้างคาวผลไม้เป็นพาหะนำโรค

Nipah

กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตือน “ไวรัสนิปาห์” เป็นโรคติดต่ออันตราย เฝ้าระวัง-คัดกรองนักท่องเที่ยวเข้าไทย หลังแพร่ระบาดอินเดียมีคนเสียชีวิตแล้ว 14 ราย

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้โรคติดเชื้อ “ไวรัสนิปาห์” (Nipah) เป็น “โรคติดต่ออันตราย” ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อยกระดับให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและหากพบผู้ป่วยจะต้องรายงานโดยเร็วภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง และทำการสอบสวน พร้อมเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศโดยเฉพาะจากประเทศอินเดีย เพื่อเป็นการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด

ภายหลังไวรัสนิปาห์หรือโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ แพร่ระบาดในเมืองโคชิโคด ในรัฐเกรละ ทางภาคใต้ของประเทศอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 10 ราย

โดยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์เป็นเชื้อที่ติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่งและสามารถติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน เมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 70 % ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่าในประเทศไทยยังคงต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทั้งประเทศที่มีการระบาดและภายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์มีพาหะนำโรคคือค้างคาวผลไม้ที่พบในไทย

 

ความเสี่ยงในการติดโรค

อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนตระหนักและป้องกันตนเอง แต่อย่าตระหนกตกใจ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคดังกล่าวจากค้างคาวผลไม้ หรือสัตว์อื่น ๆ จะขึ้นอยู่กับการสัมผัสใกล้ชิดของพาหะนำโรค เช่น เลือด มูลของสัตว์ หรือน้ำลาย หากหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อในสารคัดหลั่งต่าง ๆ จะสามารถลดโอกาสต่อการเกิดโรคได้มาก

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำผู้ที่ทำอาชีพเก็บน้ำตาลว่า การลดการปนเปื้อนจากสัตว์ที่จะมากินน้ำตาลด้วยการมีสิ่งปกคลุมที่ปากภาชนะและดอกมะพร้าว เช่น ผ้า หรือ แพไม้ไผ่ จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อได้ ก่อนรับประทานต้องมีการต้มให้เดือดก่อน เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคอื่น ๆ และขอยืนยันว่าขณะนี้ไทยยังไม่มีผู้ป่วยโรคดังกล่าว แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ เนื่องจากพบว่าค้างคาวผลไม้ที่พบในไทยมีความคล้ายคลึงกับที่อินเดีย ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสในระยะใกล้ชิดกับค้างคาวและสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะนำโรค ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ สุกร ม้า แมว แพะ แกะ ที่รับเชื้อมาจากค้างคาวผลไม้

รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย มูลสัตว์ หรือปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้ ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่กับพื้น โดยเฉพาะที่มีรอยกัดแทะ และห้ามรับประทานเนื้อค้างคาว

ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ล่าสุดพบผู้ป่วยยืนยันแล้ว 16 ราย ผู้ต้องสงสัยและรอผลยืนยันอีก 12 ราย รวม 28 ราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 14 ราย โดยขณะนี้มีความเสี่ยงต่อการป่วยตายสูงถึง 80% แต่ในประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Exit mobile version