Onlinenewstime.com : การมีสุขภาพที่ดี เป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิต ซึ่งการดูแลสุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข ต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ มีผลต่อการดูแลสุขภาพ จากสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ได้ยกระดับการรักษาพยาบาลของผู้คนทั่วโลก ให้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ ทั้งโรคระบาด โรคอุบัติใหม่ หรือแม้แต่ชีวิตความเป็นอยู่ ที่เปลี่ยนไปของประชากรโลก ที่จำเป็นต้องพึ่งพาการอุปโภคบริโภคในปริมาณ อันมหาศาล และส่งผลเสียต่อสุขภาพ นำมาซึ่งความต้องการบุคลากรทางด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ต้องมากด้วยจำนวนและคุณภาพที่ดี พร้อมจะดูแลสุขภาพของผู้คน
ความท้าทายนี้ ไม่เพียงจำกัดอยู่แค่เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ด้วยเทรนด์การดูแลสุขภาพ ของคนในปัจจุบัน การรักษาทางเลือก หรือ การออกกำลังกายในฟิตเนส ก็กลายมีบทบาทสำคัญ ต่อการดูแลสุขภาพ รวมไปจนถึงสถานศึกษา ที่ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรให้แก่สังคมด้วย
นักรังสีเทคนิค ดาวรุ่งของของวงการแพทย์
แม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีด้านสุขภาพมากมาย แต่การจะใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงนั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของบุคลากร
ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล่าว่า“เรื่องบุคลากร ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่ประเทศไทยต้องแก้ อย่างเช่น ประเทศเราควรต้องมีนักรังสีเทคนิค 6,000 – 7,000 คน จึงจะเพียงพอ
ซึ่งปัจจุบันที่เรียนจบทางนี้มีอยู่ราว 5,000 คน แต่อยู่ในอาชีพนี้จริงๆ เพียง 4,000 กว่าคนเท่านั้น เกือบครึ่งอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน ที่เหลือประจำอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ของจังหวัดต่างๆ แต่โรงพยาบาลขนาดรองลงไป ยังขาดแคลนอยู่มาก หลายที่จำเป็นต้องใช้บุคลากร ที่ไม่ได้จบด้านนี้โดยตรงมาทำหน้าที่”
“รังสีเทคนิค มีบทบาทในการวินิจฉัยโรคอย่างมาก อย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือการใช้ผลเอ็กซ์เรย์และเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ประกอบการวินิจฉัยและรักษาโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
ปัจจุบันผลจากการทำเอ็กซ์เรย์ CT หรือ MRI สามารถอ่านผลแบบดิจิทัลได้ ทำให้รังสีแพทย์ สามารถดูผลจากระยะไกลได้ สามารถส่งผลไปยังโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาได้
แต่การจะได้ภาพที่เหมาะสม เพียงพอต่อการวินิจฉัย ก็จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของนักรังสีเทคนิค ในการทำให้ภาพเหล่านั้นออกมา การแพทย์ยุคนี้ เรามีเครื่องมือที่ดีขึ้นมาก แต่หากไม่มีทักษะ และความชำนาญ ต่อให้เครื่องมือที่ใช้จะแพงแค่ไหน หรือมีเทคโนโลยีดีแค่ไหน ก็อาจกลายเป็นความเปล่าประโยชน์”
“ปัจจุบันประเทศไทย ผลิตนักรังสีเทคนิคได้เพียงปีละ 500 คน และจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 700-800 คนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่ความต้องการบุคลากร เติบโตขึ้นทุกปี ราวปีละ 5-8% จากความต้องการ 7000 คน ซึ่งหากเรายังผลิตได้เท่านั้น ก็ทิ้งห่างจากความต้องการจริงๆของสังคมอยู่หลายปี
พอมองกลับไปที่ปัญหา ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานการศึกษา เราพบว่าปัจจัยสำคัญ ที่จะแก้ปัญหา คือ ต้องสร้างครูอาจารย์ ที่จะมาสอนให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะเราเอง ก็ให้ทุนนักศึกษาเต็มจำนวน มีมาตรการในการจูงใจให้นักรังสีเทคนิคอยากศึกษาต่อ เพื่อมาเป็นอาจารย์
มีการปรับปรุงค่าตอบแทนให้เหมาะสม อีกปัจจัยหนึ่งคือ การปรับในเชิงนโยบายหรือกฎหมายของรัฐ เนื่องจากมีการกำหนดไว้ว่าอัตราส่วนครู 1 คนจะสอนนักศึกษาได้ 8 คน หากรัฐมีการผ่อนปรน โดยที่ไม่กระทบคุณภาพการเรียนการสอน ก็จะช่วยติดปีก ให้เราสร้างนักรังสีเทคนิคได้พอกับความต้องการ”
Sonographer-นักอัลตราซาวด์ อาชีพต่อยอด อนาคตรุ่ง
Sonographer อีกอาชีพหนึ่ง ที่มีการเติบโตอย่างมากในต่างประเทศ เป็นอาชีพที่ผสานความเชี่ยวชาญ ของนักรังสีเทคนิค กับนักอัลตราซาวด์ ซึ่งในประเทศที่นักรังสีเทคนิคไม่ขาดแคลน ก็จะมาศึกษ าและฝึกฝนการทำอัลตราซาวด์ เพื่อเป็น Sonographer
เพราะนักรังสีเทคนิคนั้น จะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องกายวิภาค และพยาธิสภาพเป็นพื้นฐานอย่างดี ซึ่งอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนสูง และกลายมาเป็นอีกหนึ่งอาชีพ ที่ได้รับความนิยมในออสเตรเลีย อเมริกา ประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศในเอเชีย อย่างสิงคโปร์
“อัลตราซาวด์ มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในการรักษา เดี๋ยวนี้เครื่องอัลตราซาวด์มีราคาไม่แพง และถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะในสูตินารีแพทย์อีกต่อไป อย่างเช่น ศัลยแพทย์หลอดเลือด วิสัญญีแพทย์ แพทย์ที่รักษาหูคอจมูก แพทย์รักษาต่อมไร้ท่อ การผ่าตัดช่องท้อง เป็นต้น
แต่การจะทำอัลตราซาวด์ให้ดี ต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝน โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ของคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่เราเปิดขึ้น เพื่อให้พร้อมรับมือกับความต้องการบุคลากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้
ด้วยความร่วมมือกับ Monash University ประเทศออสเตรเลีย เราหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะสามารถเติมเต็มความต้องการนักอัลตราซาวด์ 1,250 อัตรา ให้กับโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศไทยได้ ลดภาระของแพทย์ในการตรวจรักษา
รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ สามารถมาเรียนเพื่อต่อยอดความรู้ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วย ทั้งในด้านบริการรักษา และเชิงรุกในการค้นหาโรคระยะเริ่มต้น ทำให้ป้องกัน และรักษาให้หายขาดได้ ” ศ.พญ.จิรพร กล่าว
โอกาสอาชีพ จากสังคมสูงวัย
โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ภายใต้คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มุ่งสร้างบุคลากร ให้ตอบรับกับโจทย์แห่งอนาคตของประเทศไทย นั่นคือ สังคมสูงวัย
ศ.พญ.จิรพร กล่าวว่า “หลายสถาบันในเมืองไทย มุ่งเน้นในเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่โรงเรียนแห่งนี้จะมุ่งเน้นที่จะสร้างบุคลากร เพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยที่กำลังมาถึง
ซึ่งในอนาคต จะมีบทบาทอย่างมาก ในการช่วยลดความเจ็บป่วยของผู้คน มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสรีรศาสตร์และการเคลื่อนไหว สามารถออกแบบการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ให้กับผู้สูงวัยได้ มีความรู้ที่สามารถเป็นนักกายภาพบำบัดได้ เป็นโค้ชให้นักกีฬาได้ และเป็นเทรนเนอร์ออกกำลังกายได้”
นอกเหนือจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ยังมีหลักสูตรระยะสั้นที่ได้การตอบรับเป็นอย่างดี มีบุคลากรในวิชาชีพ ที่เกี่ยวกับสุขภาพให้ความสนใจและเข้ามาอบรม เพื่อนำความรู้ในการดูแลผู้สูงวัย ไปปรับใช้ในหน้าที่การงานเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวในอาชีพ ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ของสังคมที่มีความเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ทางคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพยังมีโรงเรียนฉุกเฉินการแพทย์ (ต่อเนื่อง) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับเหตุฉุกเฉินต่างๆ นอกโรงพยาบาล
โดยการผลิตเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน และหน่วยกู้ภัย ที่มีศักยภาพพร้อมในการดูแลผู้ป่วย ระหว่างที่นำส่งโรงพยาบาล
และโรงเรียนนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานพยาบาล ที่จะมุ่งสร้างบุคลากร ที่ช่วยในการบริหารจัดการ และสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานพยาบาล ที่มีความรู้ความเข้าใจความลำบากของผู้ป่ว ยและความต้องการของแพทย์ พยาบาลและเภสัชกร และทำการสนับสนุนงานของบุคคลเหล่านี้ ให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นใจเวลามาโรงพยาบาล และแพทย์ พยาบาล เภสัชกรมีเวลาทุ่มเทในการดูแลผู้ป่วยให้มากขึ้น