Onlinenewstime.com : PwC เผยอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมทั่วโลก หันมาใช้ฟินเทค เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง แต่พบส่วนใหญ่ประสบปัญหาแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี และขาดความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับที่เพียงพอ
นายบุญเลิศ กมลชนกกุล หัวหน้าสายงาน Clients and Markets และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี ด้านธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน “2019 Global Fintech Report” ของ PwC ที่ทำการสำรวจผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม (Technology, Media and Telecommunications) มากกว่า 500 คนทั่วโลก เพื่อหาปัจจัย ที่เป็นตัวกำหนดถึงความสำเร็จและความท้าทายในการพัฒนาและสร้างผลกำไรจากการประยุกต์ ใช้โมเดลทางธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยฟินเทคว่า
ปัจจุบันอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม ต่างกำลังนำฟินเทคมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงการสร้างประสบการณ์ที่ดี ให้กับลูกค้า และเพิ่มความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตน
ไม่ว่าจะเป็นธนาคารดิจิทัล ที่กำลังออกแบบข้อเสนอและรูปแบบค่าใช้ค่ายใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้า ผู้จัดการการลงทุน ที่นำหุ่นยนต์ที่ปรึกษา มาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ หรือ บริษัทประกันภัย ที่นำเซ็นเซอร์มาใช้ในการติดตามสุขภาพ และป้องกันการเจ็บป่วยของลูกค้า
โดยผลสำรวจของ PwC ระบุว่า ผู้บริโภคมีความพร้อม สำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล โดยโจทย์ใหญ่วันนี้ ไม่ได้อยู่ที่ฟินเทค ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมบริการทางการเงินหรือไม่อีกต่อไป แต่บริษัทใด จะสามารถนำฟินเทคมาประยุกต์ใช้ได้ดีที่สุด และขึ้นเป็นผู้นำตลาด
ผลจากสำรวจที่น่าสนใจมีดังนี้
- การประยุกต์ใช้กลยุทธ์ที่มีฟินเทคเป็นศูนย์กลางมีความสำคัญยิ่ง ผลจากการสำรวจพบว่า 47% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 48% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน มีการนำฟินเทคมาใช้ในรูปแบบปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ 44% และ 37% ของบริษัทใน 2 อุตสาหกรรมนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีเกิดใหม่ มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการของพวกเขา
นายจอห์น การ์วีย์ หัวหน้าสายงานบริการทางการเงินโลก ของ PwC กล่าว “การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ จะเกิดผลได้ ต้องถูกขับเคลื่อน จากระดับบริหารลงสู่ระดับพนักงาน และต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีกลยุทธ์ โดยคณะผู้บริหารและคณะกรรมการ ต้องมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด ในการตัดสินใจถึงสิ่งที่องค์กรต้องการจะได้รับ”
- อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ควรมองหาไอเดียจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีถึงการใช้ฟินเทคที่ดีที่สุด ผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรรมบริการทางการเงินที่ ถูกสำรวจคิดว่า การประยุกต์ใช้ฟินเทค เพื่อปรับปรุงบริการให้เกิดความง่ายและรวดเร็วในการใช้งาน จะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาฐานลูกค้า โดยบริษัทที่มุ่งเน้น ในการนำฟินเทคมาตอบโจทย์ความต้องการนี้ อาจตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าได้ แต่ไม่ได้สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องแข่งขันกับบริษัท ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลอย่างเฉียบคม
- อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ ควรปิดช่องว่างทักษะด้วยการฝึกอบรมพนักงานและมองหาแรงงานจากกันและกัน ผลจากการสำรวจพบว่า 80% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 75% ของอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน กำลังสร้างตำแหน่งงานใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ฟินเทค แต่ 42% ของทั้ง 2 อุตสาหกรรม กำลังประสบปัญหาในการหาแรงงานที่มีทักษะเหล่านี้ ในขณะที่ 73% ของอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน มีการจ้างบุคลากร จากกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีเพียง 52% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เท่านั้น ที่มีการจ้างทาเลนท์จากอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ในระยะต่อไป การหาวิธีการในการดึงดูดบุคลากรจากกันและกันของทั้ง 2 อุตสาหกรรม จะมีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในอนาคต เพราะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากกันและกัน ส่งผลให้การยกระดับทักษะแรงงาน (Upskilling) จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ
- บริษัทในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ ควรหันมาเป็นพันธมิตรกันมากขึ้นในอนาคต ท่ามกลางกระแสของการควบรวมกิจการ การหาพันธมิตร หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตผ่านฟินเทคขององค์กรต่าง ๆ ผลสำรวจพบว่า 78% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 76% ของอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน มองหาการจับมือกับธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันกับตน โดยน้อยกว่าครึ่ง (44% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 47% ของบริษัทในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน) มองการจับมือ กับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านฟินเทค นี่ชี้ให้เห็นว่า องค์กรของทั้ง 2 อุตสาหกรรม กำลังพลาดโอกาสทางธุรกิจ ในการร่วมมือกันในยามที่ บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน กำลังต้องการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ขณะที่บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ ก็ต้องการสินค้าและความเชี่ยวชาญ ด้านกฎระเบียบเพื่อแข่งขันในตลาดบริการทางการเงิน
“ในประเทศจีนตอนนี้เราเริ่มเห็นการรวมตัวกัน ของ 2 อุตสาหกรรมนี้มากขึ้น โดยเราเห็นหน่วยงานกำกับ กำลังจับคู่ให้บริษัทที่เรียกได้ว่า เป็นบิ๊กโฟร์ของทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และธนาคารพาณิชย์ มาทำงานร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ หรือจะเรียกว่า เป็นการแต่งงานแบบคลุมถุงชนก็ว่าได้ โดยการรวมกันในลักษณะนี้ บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ จะเป็นฝ่ายที่ให้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ขณะที่บริษัทในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน จะเป็นผู้ส่งมอบสินค้าและบริการ” นายวิลสัน ชาว หัวหน้าสายงานเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมทั่วโลก ของ PwC กล่าว
ภูมิทัศน์ฟินเทคในปัจจุบัน
ปัจจุบันเทคโนโลยีเกิดใหม่ ช่วยให้บริษัทสามารถนำเสนอสินค้าและบริการ ที่มีต้นทุนต่ำลง แต่สร้างความสะดวกสบายและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะ ของลูกค้ามากขึ้น
นอกจากนี้ ฟินเทคยังช่วยลดอุปสรรค ในการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทบริการทางการเงิน ที่มีรากฐานมายาวนาน ไปจนถึงสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการหน้าใหม่จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือ ที่แม้จะแข่งขันกัน แต่ก็ทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันหรือ Coopetition
ผู้ชนะและผู้แพ้
บริษัทใดที่นำฟินเทคมาประยุกต์กำลังเปลี่ยนโฉมตลาดสินค้าและบริการ ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่มีการนำมาใช้จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง 3 ใน 4 ของผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ กล่าวว่า มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนฟินเทคในอีก 2 ปีข้างหน้า มากกว่า 90% แสดงความมั่นใจว่า ฟินเทคจะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ในอีก 2 ปีข้างหน้าแม้โฟกัส ความก้าวหน้า และระดับความรวดเร็วในการใช้ฟินเทคกับตลาดของแต่ละองค์กรจะแตกต่างกัน
นายบุญเลิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในส่วนของประเทศไทย ที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด นี่จึงทำให้กระแสของการประยุกต์ใช้ฟินเทค ในกลุ่มผู้ประกอบการไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการการชำระเงินออนไลน์ ที่เติบโตอย่างมาก
ขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่ ในกลุ่มนอนแบงก์เอง ก็เข้ามาในตลาดจำนวนมากขึ้นเช่นกัน และส่วนใหญ่ จะเป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เรามองว่า ระยะต่อไปทั้ง 2 กลุ่มอุตสาหกรรม จะมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการความเชี่ยวชาญ และ Know How ของกันและกัน
ด้านธนาคารพาณิชย์ของไทย ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยีที่ ต้องการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เช่นเดียวกันที่บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และบริษัทสตาร์ทอัพ ก็ต้องการความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎระเบียบจ ากฝั่งการเงิน
ที่ผ่านมาเราจึงเห็นแบงก์ไทยหลายราย มีการจัดตั้งบริษัทย่อยด้านฟินเทค หรือเป็นพันธมิตร กับบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เพื่อให้สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้า ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
“อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 อุตสาหกรรมต้องคำนึง ควบคู่ไปกับการพัฒนาฟินเทค คือ การมีมาตรการการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับลูกค้า”