fbpx
News update

เบทาโกร เปิดกลยุทธ์ POWERING CHANGE ปรับแผนขับเคลื่อนองค์กรครั้งใหญ่ เสริมศักยภาพการแข่งขัน ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร

  • สถานการณ์ความเคลื่อนไหวในระดับโลกที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นความท้าทายที่ส่งผลให้ธุรกิจ
    ต้องมีการปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
  • POWERING CHANGE การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันใน 5 ด้านหลัก ครอบคลุม Supply Chain Resilience, Digital Transformation, People Transformation, New Business และ Sustainability
  • เบทาโกรเติบโตต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานในปี 2564 มีรายได้ 85.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากยอดขาย
    ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจเกษตร ธุรกิจอาหารและโปรตีน ธุรกิจสัตว์เลี้ยง และธุรกิจในประเทศลาวและกัมพูชา

Onlinenewstime.com : เบทาโกร เปิดเกมรุกธุรกิจ เผยแผนกลยุทธ์ POWERING CHANGE ปรับองค์กรสู่การทรานสฟอร์มครั้งใหญ่ใน 5 ไดเมนชั่น พร้อมรับมือความท้าทายและสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น

โดยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารคุณภาพสูงที่มีความหลากหลาย ภายใต้ความปลอดภัยทางชีวภาพในการผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ออกสู่ตลาด คู่ขนานกับการขยายช่องทาง การจัดจำหน่ายบนอีคอมเมิร์ซ และร่วมลงทุนกับพันธมิตรในธุรกิจสตาร์ตอัป เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและยกระดับอุตสาหกรรมให้มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์ความเคลื่อนไหวในระดับโลก ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในหลายอุตสาหกรรม

ทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 เข้าสู่สถานประกอบการ การกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งระบาดและติดเชื้อได้ง่าย สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ

สองปัจจัยหลักนี้ นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นปัจจัยเร่งสำคัญ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ที่อาจเกิดขึ้น

ความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการกำหนดดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพความสำเร็จของธุรกิจแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับบริบททางสังคม ควบคู่กับการเติบโตในเชิงตัวเลข ปัจจัยเหล่านี้ ยังคงเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคมอย่างต่อเนื่อง

เพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทาย พฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จึงต้องมองหาโอกาส บนความท้าทายของการเปลี่ยนแปลง เพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ

เบทาโกรในฐานะธุรกิจในอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในการผลิต เพื่อส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ปลอดสารเคมีและสารปฏิชีวนะที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

รวมถึงการจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหาร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ให้เข้าถึงและสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

นายวสิษฐ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ด้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้วางกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “POWERING CHANGE” ด้วยการผนึกกำลังทั้งองค์กรในการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายและสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น โดยมีกรอบการขับเคลื่อนใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่

  • Supply Chain Resilience: การให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอุปทานตลอดทั้งห่วงโซ่ เพื่อลดผลกระทบ ต่อธุรกิจ และสร้างโอกาสจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงการดูแลในเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพและ ปศุสัตว์
  • Digital Transformation: การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งยกระดับสู่เป้าหมาย Smart Transformation อย่างเต็มรูปแบบ ผ่าน 6 module ประกอบด้วย Big Data, Smart CRM, Smart Farm, Smart Factory, Smart Operation และ Smart Quality เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่กับลูกค้า คู่ค้า และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
  • People Transformation: การปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็น High Performing Organization เพื่อพัฒนาทักษะในด้านดิจิทัลและดึงศักยภาพของพนักงานออกมาให้เด่นชัดขึ้น
  • New Business: การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาด
  • Sustainability: การร่วมสร้างคุณค่ากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน ด้วยการดำเนินธุรกิจตามหลักการ ESG ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล คู่ขนานกับการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะใน 4 เป้าหมายหลัก
    ซึ่งประกอบด้วย การขจัดความอดอยากและสร้างความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน สนับสนุนความรับผิดชอบในการผลิตและการบริโภค และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยตรง

บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน
ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมพลังงานสะอาด ได้แก่ การใช้พลังงานทดแทนจากเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับอาคารและโรงงาน การจัดการของเสียด้วยการใช้พลังงานจากชีวมวลจากการผลิตปศุสัตว์ และการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งในสำนักงานและกระบวนการผลิต

ส่งเสริมให้มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นต์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ ขณะที่การทำงานด้านสังคม บริษัทได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม ซึ่งเป็นแนวคิดในการร่วมพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ด้วยความมุ่งมั่นและการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ แม้ช่วงปี 2564 จะมีปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากมาย แต่ผลประกอบการสิ้นสุด ณ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทมียอดรายได้จำนวน 85.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้ 80.1 พันล้านบาท

โดยเป็นการเติบโตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศควบคู่กัน แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจเกษตร 29% กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน 63.4% กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ 5.7% กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง 1.8% และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.1%  โดยการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้น มาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากทุกธุรกิจ ทั้งธุรกิจเกษตร ธุรกิจอาหารและโปรตีน ธุรกิจสัตว์เลี้ยง รวมถึงธุรกิจในต่างประเทศที่มีการขยายกำลังการผลิตทั้งในประเทศลาวและกัมพูชา

“เบทาโกรเชื่อว่า ทุกคนต้องมีทางเลือกที่ดีกว่า และสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยที่มากขึ้น ในราคาที่เป็นธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต และเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิดนี้ คือแรงบันดาลใจการขับเคลื่อนธุรกิจของเรา ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารและบริการเพื่อสนับสนุนให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีตราบเท่าที่พวกเขามีชีวิตอยู่ แต่ยิ่งไปกว่านั้น คือการเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งต้องทำอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่องต่อไป” นายวสิษฐ กล่าวทิ้งท้าย