Onlinenewstime.com : ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเต็มกำลัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ที่สอดรับกับกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ของสหประชาชาติ
ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่ สามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ตอบสนองกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมฯ จึงสำคัญอย่างยิ่ง
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่าในปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทย มีสถิติการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1% ของ GDP และคาดว่าจะขยับสู่ 1.5% ภายในปี 2564
โดยมีสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชน 80% และภาครัฐ 20% สะท้อนถึงความตื่นตัว ของสองภาคส่วนสำคัญ ในการพยายามผลักดันให้ประเทศไทย สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ด้วยการวิจัยและพัฒนา ซึ่งยั่งยืนกว่าการแข่งขันด้วยราคาวัตถุดิบและแรงงานเป็นหลัก
ในฐานะภาคเอกชน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัย เพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับอ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ที่มีศักยภาพสามารถ นำไปพัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้ทุกส่วน
กลุ่มมิตรผลจึงได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผลขึ้นที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เมื่อปี 2540 เพื่อคิดค้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า ให้กับอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนพัฒนาต่อยอด ไปสู่ผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพมูลค่าสูงอื่นๆ ซึ่งกลุ่มมิตรผลเชื่อว่า จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร อุตสาหกรรม เกษตรกร และทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน
เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่น ในการพัฒนานวัตกรรมและผลงานวิจัย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มมิตรผลจึงได้จัดงาน RDI Open House 2019 พร้อมเปิดคลังแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ดำเนินการตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ให้พันธมิตร ทั้งหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย และคู่ค้า ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นร่วมกัน ณ ศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “ปัจจุบัน การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ sustainability กลายเป็นวาระสำคัญ ที่ทุกคนทั่วโลกให้ความใส่ใจมากขึ้น ประเทศไทยเอง ก็มีการนำประเด็นดังกล่าว มาใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยมีการวิจัยและนวัตกรรมเป็นตัวแปรสำคัญ
ภายใต้แนวคิด “สร้างคุณค่า สร้างอนาคตที่ยั่งยืน” กลุ่มมิตรผล มีความตั้งใจ ที่จะสนับสนุนภาครัฐในการสร้างสรรค์และนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับอ้อย พร้อมต่อยอดไปสู่ธุรกิจชีวภาพ สอดรับกับโมเดลการบูณาการการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ BCG Economy – เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อน เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชาวไร่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ”
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. กล้าณรงค์ ศรีรอต Head of Innovation and Research Development Institute กลุ่มมิตรผล อธิบายเพิ่มเติมว่า “งาน RDI Open House ที่จัดขึ้นในวันนี้ ตอกย้ำถึงความตั้งใจ ในการนำนวัตกรรมและผลงานวิจัยไปพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการใช้ประโยชน์จากอ้อย น้ำตาล และสิ่งที่เหลืออยู่ ในกระบวนการผลิตน้ำตาลให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
โดยเฉพาะการนำไปผ่านกระบวนการทางชีวภาพ (Biorefinery) เพื่อแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง โดยที่ผ่านมา เรายังได้ร่วมกับองค์กร หน่วยงาน และสถาบันการวิจัยและเทคโนโลยีชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการสร้าง แลกเปลี่ยน และต่อยอดองค์ความรู้ในการวิจัยร่วมกัน”
ปัจจุบัน ศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ มีนักวิจัย 70 คน ดำเนินงานวิจัยที่หลากหลายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยงบประมาณสนับสนุนปีละกว่า 450 ล้านบาท ภายในศูนย์ฯ มีห้องปฏิบัติการประสิทธิภาพสูง เครื่องมือที่ทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน รองรับงานพัฒนานวัตกรรมและการวิจัย 4 สาขา ได้แก่
- งานวิจัยด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ (Crop Production) มุ่งเน้นการพัฒนาพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพ แข็งแรง ทนต่อโรคและแมลง รวมถึงการควบคุมโรคและแมลงศัตรูอ้อย และการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและ AI เพื่อการทำเกษตรแบบแม่นยำ
- งานวิจัยด้านการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำตาล (Sugar Technology and Specialty) มุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำตาลให้ทันสมัยและคงไว้ซึ่งคุณภาพสูง เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำตาลใหม่ที่ดีต่อสุขภาพ
- งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-based Chemicals and Energy) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำตาล อ้อย ตลอดจนนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต มาแปรรูปเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Circular Economy) ต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ในด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-economy) เพื่อสร้างความคุ้มค่า ลดความสูญเสีย และเพิ่มการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Economy) โดยมุ่งค้นคว้าและพัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อยอด จากระดับห้องปฏิบัติการไปสู่ระดับโรงงานต้นแบบ ที่มีความพร้อมทางด้านเครื่องมือและบุคลากรที่เชี่ยวชาญ
- ศูนย์ข้อมูลงานวิจัยระดับโลก (Global Sourcing for Innovation) รวบรวมข้อมูลการวิจัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสทางการวิจัยใหม่ๆ ภายใต้การคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งติดต่อประสานงาน สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมทั้งในและนอกประเทศ เพื่อต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า “จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ลดลง และขาดเสถียรภาพ สะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนาเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนตลอดกระบวนการ ให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย
ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่กำกับดูแลและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ เราสนับสนุนผลการวิจัยทุกอย่างในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูกอ้อย เตรียมดิน เก็บเกี่ยว ไปจนถึงกระบวนการลดความสูญเสียในการผลิต สอน. รู้สึกดีใจ ที่ได้เห็นภาคเอกชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ในการพัฒนาแนวทางการทำเกษตรแม่นยำและยั่งยืนให้กับชาวไร่อ้อย
และยังได้เห็นการวิจัยคิดค้นนวัตกรรมหลายอย่าง ที่น่าสนใจและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และความต้องการของอุตสาหกรรมไทย ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางให้ สอน. สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาของเราด้วย และเราหวังจะได้เห็นการลงทุนในลักษณะเดียวกันนี้มากขึ้น ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยอย่างยั่งยืน”