Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

เปิดคำทำนายและชี้จุดเสี่ยง “น้ำท่วมใหญ่” ปี 2564 โดยกูรูด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย

rainny05092021 2

Onlinenewstime.com : หลายคนได้ฟังคำทำนายว่า ในช่วงเดือนกันยายน ถึงสิ้นปี 2564 นี้ จะมี “น้ำท่วมใหญ่” เกิดขึ้นในเมืองไทย

ในอนาคตข้างหน้า คำทำนายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่! และจากสภาวะโลกร้อน ที่สร้างความรุนแรงของพายุและฝนที่ตกหนัก ทำให้เกิดท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งในประเทศแถบยุโรป เยอรมัน เบลเยี่ยม และประเทศจีน ล่าสุดที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมองในข้อดี ถ้าเราเปลี่ยนจากความตื่นกลัว มาเป็นการทำให้ผู้คนได้ตระหนัก มีการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น

เว็บไซต์ข่าว ออนไลน์ นิวส์ไทม์” นำข้อเท็จจริงอีกด้านที่ ทำนายในเชิงวิชาการ โดยใช้หลักการทาง “วิทยาศาสตร์” นำข้อมูลสถิติในอดีตและปัจจุบันมาทำนายถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอนาคต โดยสร้างแบบจำลอง Simulation คาดการณ์ “น้ำท่วมใหญ่” ที่จะเกิดขึ้น

จากข้อมูลที่เปิดเผย ในเวทีการเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “จับตาสถานการณ์น้ำปี 2564: จะเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ไหม” ที่จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเคหการเกษตร

โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ในด้านสภาพภูมิอากาศและวงการน้ำของเมืองไทย “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” และศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล เปิดเผยสถานการณ์ของพายุฝน โดยนำแบบจำลองมาชี้จุดเสี่ยง ที่มีโอกาสจะเกิดพายุ ฝนตกหนักและน้ำท่วมใหญ่ ในระยะเวลา 3 เดือน “กันยายน – ตุลาคม – พฤศจิกายน” พบว่ามีความเป็นไปได้ กทม. จะมีฝนตกหนัก แต่จะไม่เจอเหตุการณ์เหมือนปี 2554

นอกจากนั้น ยังมีความเห็นตรงกันว่า “ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ ภาคใต้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่”

ทางด้านหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทในการดูแลกำกับเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ และ “นายประพิศ จันทร์มา” จาก “สทนช.และกรมชลประทาน” กล่าวในเวทีเสวนาถึงการรับมือว่า มีการเตรียมพร้อมด้วยการบริหารจัดการน้ำ ควบคู่กันไป ทั้งติดตามเฝ้าระวังน้ำท่วมและน้ำแล้ง พร้อมระบุว่า “เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ยังรับน้ำได้อีกเท่าตัว และนั่นคือข้อดีของฝนที่ตกในปีนี้จะเข้ามาเติมเต็มน้ำในเขื่อนหลายแห่ง ที่มีปริมาณน้ำใกล้จุดวิกฤต

คาดการณ์พื้นที่ไหนเสี่ยงเกิดน้ำท่วม?

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่าจากภาพที่เราได้ทำแบบจำลอง Simulation ชี้ว่า ปริมาณของฝนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา น้อยกว่าปกติทุกภาค ยกเว้นภาคใต้และฝั่งตะวันตก

ส่วนภายใน 3 เดือน คือกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน จะเป็นอย่างไรบ้าง มีการคาดการณ์จากหลายๆแบบจำลองทั่วโลก และที่เราทำไว้เอง ทุกๆค่ายคาดการณ์เหมือนกัน ชี้ว่าฝนในประเทศไทยทั้ง 3 เดือน “ฝนมากกว่าปกติ”

แต่น้ำจะท่วมหรือไม่นั้น ต้องเจาะลึกลงไป โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม และทำการบ้านต่ออีก

อีกทั้งยังมีสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ คือ พายุจร ที่โอกาสจะเกิดพายุนั้นจะรู้ล่วงหน้าได้เพียง 2 สัปดาห์ ต้องติดตามดูสัปดาห์ต่อสัปดาห์ และมีหลายคำถามว่า จะเกิดน้ำท่วมใหญ่หรือไม่นั้น

จากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์อย่างละเอียด รศ.ดร.เสรี พบว่า ความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 มีโอกาสน้อยกว่า 10% เพราะถ้าฝนตกเหนือเขื่อนยังมีพื้นที่เก็บน้ำรับได้อีก 2-3 เท่า แต่ถ้าฝนตกใต้เขื่อนกลายเป็นน้ำท่วมทุ่ง ไม่ใช่น้ำป่าไหลหลากเหมือนภาคเหนือ จึงสรุปได้ว่าโอกาสยากที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โอกาสที่น้ำท่วมใหญ่เหมือนโคราช มี 20%-40%

ส่วนภาคกลาง จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในรอบ 2 ปี และโอกาสที่จะยกระดับเป็นน้ำท่วมใหญ่ ในรอบ 10 ปี มีเพียงแค่ 10%-20%  เพราะฉนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดูว่าน้ำท่วม 2 ปี คืออะไร และทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล และ อำเภอผักไห่ จังหวัดอยุธยา ซึ่งเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมในทุกๆปี  แม้ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคกลางรอบใน 10 ปี มีเพียงแค่ 10%-20% ซึ่งดูเหมือนตัวเลขจะน้อย แต่ไม่ควรประมาท เพราะเราเห็นโอกาสน้ำท่วมในรอบ 1 พันปี ของเมืองเจิ้งโจว ประเทศจีน ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเพียง 0.1 ก็ได้เกิดขึ้นมาแล้ว

สำหรับแนวโน้มในพื้นที่กทม. สถานการณ์ฝนตกหนักเป็นอย่างไรและจะเกิดน้ำท่วมใหญ่หรือไม่นั้น การวิเคราะห์ฝนระยะช่วง 2-3 เดือน ไม่เหมาะกับพฤติกรรมฝนของกทม. ซึ่งต้องวิเคราะห์ฝน 1 วัน  2 วัน หรือ 3 วัน

ภาคตะวันออก มีโอกาสน้ำท่วม 30%-40% ซึ่งต้องระวัง เพราะเราจะเห็นภาพของรถจมน้ำที่ท่วมถนนจากฝนที่ตกหนัก

สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ ภาคใต้ มีปรากฏการณ์ซ้อนระหว่าง IOD กับลานีญา ที่นำข้อมูลมาทำรายละเอียดในแบบจำลอง พบว่าโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีถึง 50%-60% แต่สำหรับอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลามีแค่ 20-30%

นี่คือข้อมูลที่ให้เบื้องต้น ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นต้องติดตามกันต่อ เป็นสัปดาห์” รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์กล่าว

ในข้อมูลของภาครัฐ โดยสทนช.นั้น ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำเป็นประเด็นหลัก ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์ในช่วง “เดือนกันยายน” จะเห็นชัดเจนว่ายังไม่มีสิ่งบอกเหตุอะไร

แต่หากว่ามีลมพายุหรือลมมรสุมเข้ามา 1 ลูก หรือ 2 ลูก อยู่ในวิสัยที่รับได้ โดยได้ประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบตามพื้นที่ ทั้งกระทรวงมหาดไทย ปภ. กทม. และกรมชลฯให้เฝ้าระวัง ในพื้นที่ที่ระมัดระวังมาก คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มี 2 มิติ คือ เข้าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและมาจากจีนด้วย ที่เราต้องติดตามสถานการณ์จากแม่น้ำโขง ส่วนในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่มีฝนตกหนักแถว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เชื่อมต่อเขาใหญ่ จังหวัดตราด

นอกจากนั้นยังพื้นที่มีฝนตกมากกว่า 100 มิลลิเมตร จากการติดตามสถานการณ์ มีสัญญาณว่า “อาจจะมีน้ำท่วมฉับพลัน” รอการระบาย” คือ จังหวัดชลบุรี จันทบุรี สระแก้ว อุทัยธานี ซึ่งจะเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีปัญหาอยู่บ้างในช่วงฝนตก

ในภาคกลาง พื้นที่เฝ้าระวังฝนคือ ภาคกลางตอนล่าง จะเห็นว่าขณะนี้มีฝนตกไหลมาตั้งแต่จังหวัดพิษณุโลก

สำหรับ กทม. เป็นอีกพื้นที่ซึ่งมีโอกาสมีฝนตกหนักมาก ส่วนที่ว่าน้ำจากภาคเหนือจะไหลเข้ามาก็จะมีไม่มากนัก เพราะเราสามารถสกัดได้ 

เดือนตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ส่วนในภาคตะวันตก ฝนในปีนี้ จะเข้ามาเติมในเขื่อนวชิราลงกรณ์ให้เต็ม เช่นเดียวกับในภาคอีสาน ที่เขื่อนอุบลรัตน์ก็มีโอกาสเต็มเหมือนกัน ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาน้ำแห้งไปเยอะ ด้วยความแรงของพายุเข้ามาตอนในของประเทศ พื้นที่ของภาคอีสานก็จะดีขึ้นด้วย และที่เราห่วงมากคือปลายๆเดือนพฤศจิกายน อาจจะมีปัญหาที่ภาคใต้ ตามที่กูรูได้แนะนำเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล  ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวว่า ในสภาพอากาศของปีนี้แบบ IOD (Indian Ocean Dipole ) และแบบ ENSO (El Nino-Southern Oscillation ) มีโอกาสที่ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคมนี้ จะมีพายุเข้ามาในไทย 2 ถึง 4 ลูก และใน 2 สัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ให้ติดตามสถานการณ์ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเกิดฝนตกหนักและมีน้ำท่วม ซึ่งต้องติดตามเฝ้าระวังปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะอากาศและฝนที่คล้ายกับปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่มีพายุ 3-4 ลูกเข้ามาแล้วเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ดังนั้นมีโอกาสที่เดือนตุลาคมในปีนี้ จะเกิดพายุทำให้น้ำท่วมที่ภาคกลาง โดยให้เฝ้าระวังเขื่อนป่าสัก อำเภอท่าเรือ  นิคมอุตสาหกรรม ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ส่วนโอกาสที่จะมีน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ คล้ายปี 2554 ที่ดร.เสรีบอกว่ามีโอกาส 10% จะเกิดขึ้นนั้น จะเกิดจากกรณีน้ำฝนที่มาจากพายุ และพายุลูกใหญ่ ส่วนที่ข้อมูลตรงกัน คือ แบบจำลองที่คาดการณ์ในภาคใต้ท่วมแน่  ทั้งที่ท่วมซ้ำซากในจังหวัดชุมพร ส่วนที่เสี่ยงมีโอกาสที่จะเกิดพายุมีน้ำท่วม คือจังหวัดเพชรบุรี นครศรีธรรมราช หรือแม้กระทั่งที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลานั้น ข้อมูลตรง ข้อมูลชุดเดียวกัน “ขออนุญาตเพิ่มเติมและเป็นห่วงอยู่หลายจุดว่า ตรงนี้อย่าชะล่าใจ”

ในด้านการวางแผนรับมือนั้น กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในภาคปฏิบัติ โดยนำข้อมูลการคาดการณ์แนวโน้มความเสี่ยง มาปฏิบัติเป็นแผนรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าในปีนี้อ่างเก็บน้ำ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมากประมาณ 37,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

และถึงแม้ว่าจะเหลือระยะเวลาไม่กี่เดือนจะสิ้นสุดฤดูฝน แต่เห็นด้วยที่ดร.เสรีได้คาดการณ์ไว้ว่า เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ฝนจะตกหนักที่ภาคใต้ “เพราะช่วงเวลานั้นพายุและร่องมรสุมต่างๆก็เคลื่อนตัวลงใต้ ”

รวมถึงสภาพภูมิประเทศมีภูเขา ที่ฝนตกมีน้ำท่วมแบบมาเร็วไปเร็ว แต่ก็สร้างความเสียหายให้พี่น้องประชาชนทั้งพื้นที่เศรษฐกิจและการเกษตรแต่ละปีไม่ใช่น้อย โดยแผนรับมือที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ ที่จังหวัดตรัง ขุดคลองลัดแม่น้ำตรัง และโครงการคาบสมุทรสทิงพระ พร้อมยกตัวอย่าง แผนการรับมือของอำเภอหาดใหญ่ว่า กรมชลฯได้ขุดคลองผันน้ำอ้อมเมืองหาดใหญ่ ซึ่งจากเดิมระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ดำเนินการขุดขยายคลองเดิมเป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และตามเป้าหมายจะแล้วเสร็จในปีนี้ หากว่าฝนหรือน้ำมาเท่ากับปี 2553 สามารถจะระบายน้ำได้เต็มศักยภาพแน่นอน

กอนช. เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมรายชั่วโมง “จับตาน้ำไหลผ่านบางบาล-บางไทร” 2.8-2.9 พันลบ.ม./วิ ต้องไม่เกิน!!! 3.5 พันลบ.ม./วิ จะไม่กระทบ “ปทุมฯ-นนทบุรี-กทม.” (29/9/2021) อ่านต่อคลิ๊ก……

ลิป : การเสวนาออนไลน์ “จับตาสถานการณ์น้ำปี 2564: จะเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ไหม”

Exit mobile version