ผลวิจัย “อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีต่อคนทำงานในองค์กร” เจาะลึกกลุ่มแรงงานยุคไทยแลนด์ 4.0 ผลักดันนวัตกรรมแรงงาน สู่การขับเคลื่อนองค์กร ของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เผยยุคอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยหลักของการดำรงชีวิต จนเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
จากอิทธิพลดังกล่าวทำให้กลุ่มคนทำงานในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งผ่านการรับรู้ของสื่อโซเชียลมีเดียมาเกินกว่าสิบปีเข้าสู่จุด การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy)
ดังนั้นองค์กรต้องปรับตัวรับคนทำงานในกลุ่ม Millennial ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ ผู้รับสารมีความกระตือรือร้น (Active Audience) พร้อมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ทำให้องค์กร ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็น นักส่งเสริม เพราะต้องทำงานกับ “นักคิด นักสร้างสรรค์” ไม่ใช่ “แรงงาน” ในยุคสมัยแบบเดิม
นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากงานวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีต่อคนทำงานในองค์กร” โดยได้ทำการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2559 จากจำนวนกลุ่มคนทำงานทั้งสิ้น 1,208 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 39.33 เปอร์เซนต์ และเป็นเพศหญิง 60.47 เปอร์เซนต์ โดยมีอายุระหว่าง 21-23 ปี รองลงมา 40.18 เปอร์เซนต์ อายุระหว่าง 17-20 ปี โดยมีระดับการศึกษาสูงสุดหรือกำลังศึกษาอยู่คือ กลุ่มปริญญาตรี 63.8 เปอร์เซนต์ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาแรงงานในตลาดประเทศไทย แบ่งได้เป็น 4 หัวข้อ ดังนี้
1.พฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของคนทำงานในองค์กร พบว่ากลุ่มตลาดแรงงานในประเทศไทยยังคงใช้ Facebook เป็นอันดับต้นๆ คิดเป็น 90.98 เปอร์เซนต์ รองลงมาอันดับที่ 2 คือกลุ่มที่ใช้ Line คิดเป็น 88.82 เปอร์เซ็นต์ส่วนอันดับที่ 3 คือ Youtube คิดเป็น 61.51 เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะใช้เวลากับโซเชียลมีเดียทุกวันและในแต่ละครั้งจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และผลการสำรวจยังพบอีกว่าช่วงเวลาที่ใช้ระหว่างวันมากที่สุดคือ ช่วงก่อนเข้านอน 68.96 เปอร์เซนต์ รองลงมา คือช่วงพักกลางวัน 54.47 เปอร์เซนต์ และวันที่มีการใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุดคือ วันธรรมดา รองลงมาคือ วันเสาร์และวันอาทิตย์ และส่วนใหญ่ใช้ผ่านช่องทางสมาร์ทโฟนเป็นหลัก
2.สาเหตุของการใช้โซเชียลมีเดียในที่ทำงาน ส่วนใหญ่ใช้ศึกษาค้นคว้าข้อมูล ติดตามข่าวสารในชีวิตประจำวัน อันดับ 2 ใช้เพื่อการติดต่อ ส่งข้อความ และอับดับที่ 3 เพื่อหาความบันเทิงข่าวสารแทนทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งหากวิเคราะห์พฤติกรรมจะเห็นว่ากลุ่มคนทำงานได้ปรับเปลี่ยนการรับข่าวสาร โดยใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทดแทนการใช้เวลากับสื่อหลัก เช่น ทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์อย่างชัดเจน
3.ข้อดีและข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดียของคนทำงานในองค์กร คือ ข้อดี ที่เห็นได้อย่างชัดเจน กลุ่มคนทำงาน “สามารถใช้ในการสื่อสารข้อมูลถึงผู้คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วและสะดวก” ข้อเสีย คือ การใช้โซเชียลมีเดียจะทำให้เกิดความไม่ระมัดระวังในการใช้งาน ขาดการกลั่นกรองด้านความถูกต้อง ข้อมูลที่ได้รับอาจไม่เป็นความจริงและอาจเกิดผลเชิงลบได้
4.ทัศนคติในการใช้โซเชียลมีเดียของคนทำงานในองค์กร คนส่วนใหญ่มีทัศนคติในเชิงบวกต่อภาพรวมในการใช้โซเชียลมีเดียในสถานที่ทำงาน แต่ยังไม่เห็นด้วยกับอิทธิพลของโซเชียลมีเดียต่อการสร้างผ่อนคลาย การสร้างสมาธิความตั้งใจในการทำงาน รวมถึงไม่มีผลต่อการใช้เพื่อโฆษณาหน่วยงานสินค้าหรือบริการ และการส่งเสริมการขายในองค์กร หน่วยงานของตนเอง
ในด้านการเตรียมความพร้อมรับมือ แรงงานในยุคโซเชียลมีเดีย สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
-
ระดับคนทำงาน ที่มีความพร้อม ความสามารถในการสืบค้นหาและสร้างข่าวสารได้ด้วยตนเอง แต่ควรระวังกับข้อมูลข่าวสารที่ขาดความน่าเชื่อถือ หากคนทำงานใช้สื่อและส่งต่อสิ่งที่ผิดพลาด สิ่งที่สะท้อนออกไปคือทัศนคติและบุคลิกภาพเชิงลบของตนเอง ควรใช้ข้อดีจากการที่มีข้อมูลอยู่กับตัวในการสื่อสารและสร้างตัวตนของตัวเองอย่างชาญฉลาด เพื่อการสร้างโอกาสที่เหมาะสมกับตนเอง
-
ระดับองค์กร ต้องมีแผนขับเคลื่อนคน เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารขององค์กรให้สอดคล้องกับการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ควรกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับศักยภาพบุคลากรภายในองค์กร สร้างแรงจูงใจในการทำงานสอดคล้องกับพฤติกรรมความต้องการของคนทำงานมากขึ้น พร้อมให้ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ต่างออกไปจากรูปแบบเดิม กำหนดนโยบาย เงื่อนไขการทำงานพร้อมรับฟังความคิดที่แตกต่าง ฝ่าย HR ภายในองค์กรต้องพร้อมและมีความแม่นยำต่อข้อมูลที่จะตอบคำถาม สนับสนุนนโยบายต่างๆ ขององค์กรอย่างน่าเชื่อถือ (HR from Outside-In)
-
ระดับภาครัฐ ควรมีการปรับโครงสร้างตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ภาคการศึกษา งานวิจัย การลงทุน ภาษาที่สาม รวมถึงทิศทางตลาดแรงงานที่ต้องมีความสมดุล สอดคล้องกับหลักสูตร อีกทั้งการกำหนดนโยบาย กฎหมายหรือระเบียบข้อปฏิบัติควรเป็นไปในเชิงการให้การสนับสนุน เปิดช่องทางอย่างเต็มที่ อาทิ องค์กรขนาดเล็ก หรือฟรีแลนซ์ สามารถสร้างธุรกิจและงานสร้างสรรค์ของตนเองได้โดยไม่ติดเงื่อนไขมากมาย อันจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน จนเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม