Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

เปิดสถานการณ์เด็กไทยติดเกม เผชิญหน้าภัยออนไลน์ทั้งพนัน กลั่นแกล้ง คุกคามทางเพศ

Onlinenewstime.com : สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดเวที “เติมความรักด้วยความรู้…อยู่อย่างไรในโลกออนไลน์” โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นวิทยากรรับเชิญพิเศษในการเสวนาฯ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ และปาฐกถาพิเศษ  โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีกลุ่มผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ กันอย่างเข้มข้น

ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นสื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชน และนายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ว่า “จากการศึกษาผลกระทบเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปี พ.ศ.2561 พบว่า มีสถานการณ์วิกฤตภัยออนไลน์ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน อาทิ ปัญหาเด็กติดเกม ปัญหาการพนันออนไลน์ การกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ การขาดกฎหมายปกป้องคุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์

ผลสำรวจออนไลน์ในปี 2563 ยังพบว่า เด็กร้อยละ 90 เล่นเกมออนไลน์ ในจำนวนนี้ เด็กมากกว่าครึ่ง ใช้เวลาเล่นมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 15 มีการเล่นพนันในเกม ขณะที่เด็กร้อยละ 80 ลุกขึ้นมาเสนอ ให้มีการจัดเรตติ้งเกม รวมทั้งให้มีกฎหมายควบคุมดูแลธุรกิจเกม เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ในโลกออนไลน์

ดังนั้น ทุกภาคส่วน จำเป็นต้องเห็นความสำคัญ ตื่นตัว รับรู้ถึงภัยออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมหาทางออก ด้วยวิธีการทางจิตวิทยาที่สร้างสรรค์ ใช้ความรักความเข้าใจจากครอบครัว ในการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้รู้เท่าทันสื่อ และอยู่อย่างปลอดภัยในโลกออนไลน์”

บรรยากาศภายในงานเริ่มต้นด้วย ผศ.ดร.วีรศักดิ์  พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน “เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสัปดาห์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่กำลังจะมาถึง เพื่อเป็นการเติมเต็มประเด็นปัญหาเยาวชน กับภัยออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม ต้องยอมรับว่าวันนี้เ ราทุกคนอยู่กับเทคโนโลยีตลอด 24 ชม. เราพูดถึง Digital Interrupt ที่เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยี ก็สร้างผลเสียให้เกิดขึ้นได้หากเรารู้ไม่เท่าทัน

ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องมาร่วมมือกัน เพื่อช่วยกันปกป้องคนที่เรารัก ไม่ใช่แค่เด็ก แต่หมายถึงทุกคนในครอบครัว ด้วยความรักและความเข้าใจ”

จากนั้น รศ.จุมพล รอดคำดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อเพื่อเด็ก ได้ขึ้นกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยได้แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า “โลกออนไลน์ เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเรียนรู้อย่างจริงจัง เพราะถ้าเรารู้จักใช้ให้เป็น จะนำพาสิ่งดีงามและประโยชน์มาให้เรามากมาย แต่หากเราไม่รู้เท่าทัน โลกออนไลน์ก็จะนำพาข่าวสารที่หลอกลวง ความเชื่อผิดๆ รุกเข้ามาหาเราโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว

บางคนยังใช้โลกออนไลน์เพื่อทำร้ายทำลายคนอื่น สร้างความเสียหาย ระราน ใช้คำพูดดูถูกดูแคลนผู้อื่นในโลกออนไลน์ จนนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บทางจิตใจ เกิดปัญหาฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศไทย แต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

เวทีวันนี้นับเป็นโอกาสอันดี ที่พวกเราทุกคนจะมาช่วยกันหาวิธี ในการที่เราจะอยู่ในโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุข ช่วยกันเสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจในครอบครัว ให้สามารถเผชิญหน้ากับโลกออนไลน์ได้อย่างแข็งแกร่ง”

กิจกรรมไฮไลท์หลักภายในงานคือวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาในประเด็น “เติมความรักด้วยความรู้…อยู่อย่างไรในโลกออนไลน์” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมเสวนาร่วมกับตัวแทนจาก สสส.  กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น คุณครูผู้นำกระบวนการ และศิลปินตัวแทนผู้ปกครอง

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “ปัจจุบันการศึกษาไทย อยู่ควบคู่ไปอย่างใกล้ชิดกับโลกออนไลน์ กระทรวงศึกษาธิการเองมีความตระหนักและเข้าใจเรื่องนี้ ขณะนี้เรากำลังศึกษา และมองหากระบวนการที่จะแนะนำเรื่องของไอที หรือแม้แต่การเล่นเกมออนไลน์ ไปในทางที่ถูกต้องให้กับเด็ก เพื่อที่เด็กที่มีความสนใจในด้านนี้ จะได้มีโอกาส มีทางเลือก เราจะไม่ปิดกั้น แต่ก็จำเป็นที่จะต้องทำไปอย่างผสมผสาน ควบคู่ไปกับการแนะแนววิชา อาชีพ และความสนใจอื่น ๆ ด้วยไปพร้อมกัน

เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ เราให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนและจริงจัง คือประเด็นของการคุกคามทางเพศ และการกลั่นแกล้งออนไลน์ มาถึงวันนี้ ทุกคนต้องกล้าที่จะพูดคุย และหยิบปัญหาเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง วันนี้เราต้องยอมรับก่อนว่า ในโลกออนไลน์มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น กระทรวงศึกษาธิการเองยอมรับว่าปัญหาทุกอย่างมี และเรากำลังเร่งมองหาวิธีที่จะบริหารจัดการ เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่กับโลกออนไลน์ได้ อย่างรู้เท่าทันและมีความสุข”

ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า “สุขภาวะทางสังคมเป็นสิ่งหนึ่งที่ สสส. ให้ความสำคัญ ระบบนิเวศสื่อ เป็นเรื่องหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อตัวเรา เราได้ความรู้ผ่านสื่อ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีสิ่งไม่ดีที่ผสมปนเปมา กับเนื้อหาสื่อด้วยในเวลาเดียวกัน

ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนในการพัฒนานวัตกรรมแนวคิด ที่เรียกว่า MIDL หรือ Media Information and Digital Literacy ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาหาเรา พัฒนาทักษะให้เรารู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ การเริ่มต้นสามารถทำได้ ตั้งแต่ในระดับครอบครัว โรงเรียน และที่สำคัญที่สุดคือ การเริ่มต้นเพิ่มความรู้และทักษะนี้ให้กับตัวเราเอง

ขณะนี้ สสส. ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดทำสื่อและคู่มือการเรียนรู้ทักษะการเท่าทันสื่อ MIDL นี้ในหลากหลายรูปแบบ ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปในเว็บไซต์ สสส. และดาวน์โหลดมาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย”

ในส่วนของ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น หรือ หมอโอ๋ จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้กล่าวว่า “ปัญหาเด็กกับโลกออนไลน์เป็นเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็ง เวลาที่ผู้ใหญ่มองปัญหา มักมองที่ยอดของภูเขา แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาเหล่านั้นมีที่มา และซ่อนอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้น

เด็กจำนวนหนึ่งหันเข้าหาโลกออนไลน์ เพื่อแสวงหาตัวตน ที่ไม่สามารถมีได้ในโลกของความเป็นจริง ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคน หยิบยื่นมือถือให้ลูก เพราะคิดว่าลูกโตแล้วจัดการตัวเองได้ แต่ในความเป็นจริงเด็กๆ ทุกคนมีวุฒิภาวะที่ไม่เท่ากัน ผู้ใหญ่จำเป็นต้องช่วยเขา ด้วยการวางกติกา

ง่ายที่สุดคือ การฝึกให้เด็กทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำก่อน ค่อยๆ เปิดพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้ บริหารจัดการตัวเอง สิ่งสำคัญคือวิธีการสื่อสารของบุคคลที่แวดล้อมตัวเด็ก พ่อแม่ต้องใช้การลงมือทำแทนการพร่ำบ่นและตำหนิ เปิดพื้นที่ปลอดภัย รับฟังความต้องการของเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นได้ ในทุกครอบครัว”

ด้าน คุณครูร่มเกล้า ช้างน้อย ครูคณิตศาสตร์ ผู้นำกระบวนการ HACKATON นวัตกรรมการศึกษาของไทย ได้กล่าวว่า “วันนี้ในห้องเรียนเรา จะเห็นเด็กสื่อสารกันทางออนไลน์ตลอดเวลา โทรศัพท์มือถือ กลายเป็นพื้นที่ที่เด็กจะสามารถสื่อสารอะไรก็ได้ ปัญหาคือข่าวที่แชร์ต่อกันเป็นข่าวจริงหรือเปล่า?

ที่ผ่านมาจะใช้วิธีคุยกับเด็กในห้องเรียน กรณีถ้ามีใครโพสต์หรือแชร์ข่าวที่ผิดๆ มา ก็ให้บอกกันอย่างมีไมตรี ไม่โกรธเคืองกัน สิ่งสำคัญคือ ครูต้องอย่ามองเด็กเป็นแค่เด็ก แต่ต้องมองเป็นคนที่เท่าเทียมกัน สามารถคุยกันได้

ครูและเด็กต้องมีส่วนร่วม ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียน และทั้งครู โรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นจะต้องเปิดพื้นที่รับฟังเด็ก เป็นการรับฟังที่มากกว่าแค่ได้ยินผ่านหู แต่ต้องฟังด้วยใจ รับรู้ถึงความรู้สึกของเด็กอย่างแท้จริง”

ขณะที่ ผุสชา โทณะวณิก ศิลปินที่มาร่วมเวทีในฐานะผู้ปกครอง ได้กล่าวว่า “เป็นคุณแม่ที่ปัจจุบันลูกมีอาชีพเป็น Game Youtuber แต่ว่าก่อนหน้านี้มี ประสบการณ์ ทะเลาะกับลูกมาจนเรียกว่าบ้านแตก เครียดกันทั้งบ้าน จนถึงจุดหนึ่งจึงเปิดใจคุยกับลูกอย่างจริงจัง ว่าขอใช้ลูกรับผิดชอบเวลา และอนาคตของลูกให้ได้ ก็พบว่าลูกสามารถจัดการตัวเองได้ดีขึ้น

อยากให้ผู้ปกครองเปิดใจว่า ปัจจุบันโลกกลายเป็นดิจิทัลแล้ว ต้องเข้าใจว่าเกมเป็นเรื่องใหม่ มันสามารถพัฒนาโลกไปในอนาคตได้ สำหรับในส่วนของเด็ก อยากให้เด็กๆ ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะเล่นเกมไปเพื่ออะไร ต้องคิดให้ดี เลือกเลยว่าเราจะเล่นเกมไปแบบไหน เล่นเพื่อความสนุก ผ่อนคลาย หรือเล่นเป็นอาชีพ จากนั้นให้บริหารจัดการการเล่นเกม ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้ให้ได้ รับผิดชอบตัวเองให้ดี และแบ่งเวลาให้เป็น”

ปิดท้ายด้วยปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวใจความสำคัญว่า “ขณะนี้ทุกภาคส่วน รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข ต่างมีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่กับความเปลี่ยนแปลงในโลกออนไลน์

วันนี้เราพูดถึงเรื่องโอกาสในการเข้าถึง และการรับข่าวสารในโลกออนไลน์ แต่ในอีกด้าน ความสามารถในการกลั่นกรองข่าวสารที่เข้ามาหาเรา กลับเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า เราทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ ถึงการพิจารณาข้อมูลด้วยความรอบคอบ เพราะขณะนี้การพนันออนไลน์กระจายอยู่ทั่วทุกที่ในสังคม ปัญหาการพนันนำไปสู่ความรุนแรง ความเครียด การฆ่าตัวตาย แต่สิ่งเหล่านี้เรารับมือได้ด้วยการรับฟัง และพูดคุยกันในครอบครัว ร่วมเรียนรู้เรื่องนี้ไปด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตไปกับโลกของเทคโนโลยีได้ อย่างมีวุฒิภาวะและปลอดภัย”

Exit mobile version