fbpx
News update

จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ปีที่ 13

onlinenewstime.com : หลายคนคงเคยได้ยินว่า คนอ่านหนังสือน้อยลง และหนังสือกำลังจะหมดความนิยม แต่จากผลสำรวจการอ่าน ของประชากรไทย ประจำปี 2561 จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทย ใช้เวลาอ่านในการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ในปี 2558 อยู่ที่ 66 นาทีต่อวัน

โดยหนังสือเล่ม ยังคงเป็นสื่อที่คนนิยมอ่านมากที่สุด ตามมาด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ อีบุ๊ค เป็นต้น สอดคล้องกับพฤติกรรมการอ่าน ที่เปลี่ยนแปลงไป ตามบริบทของเทคโนโลยี ในโลกยุคดิจิทัล

นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่คนไทย ยังให้ความสำคัญกับ “การอ่าน” เพราะเป็นทักษะพื้นฐาน ที่จะช่วยพัฒนาความรู้ ความคิด ช่วยเปิดโลกทัศน์ และกระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่อยู่ในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้

บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญ ของการส่งเสริมและสนับสนุน ให้เยาวชนไทยเห็นคุณค่าของการอ่าน ผ่านโครงการ จินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2550

ตลอดระยะเวลา 12  ปีที่ผ่านมา เยาวชนทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 16,000 คนได้อ่านวรรณกรรมหลากหลายประเภท ทั้งพระราชนิพนธ์ วรรณกรรมพื้นบ้าน วรรณกรรมในชั้นเรียน วรรณกรรมร่วมสมัย รวมถึงวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลต่างๆ รวมแล้วกว่า 2,000 เรื่อง

จากเรื่องราวต่างๆ ที่ร้อยเรียงเป็นตัวหนังสือ ถูกถ่ายทอด และสร้างสรรค์ เป็นผลงานศิลปะ ที่มีสีสัน สะท้อนถึงจินตนาการ ของผู้รังสรรค์ผลงาน ในมิติที่หลากหลาย ดังเช่น ผลงานของผู้ชนะเลิศ จากการประกวด ในปีที่ 12 ที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

ผลงานชิ้นแรกชื่อ “สุขสุดของปวงไทย” จากวรรณกรรมเรื่อง “ความสุข ความทรงจำในรัชกาลที่ 9” ของนางสาวพิสชา  พ่วงลาภ อายุ 19 ปี ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา ถ่ายทอดความรู้สึกประทับใจ ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทย ฝากถึงเพื่อนๆ ที่จะส่งผลงานเข้าประกวดว่า “ให้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นตัวของตัวเอง ใช้เทคนิคที่ตนเองถนัด ทำแล้วมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงรางวัล แต่ทำผลงานให้สุดความสามารถ แล้วจะได้ผลงานที่ทรงคุณค่า น่าสนใจ เพราะผู้ชมสามารถสัมผัสได้ ถึงความสุขจากการชมผลงานของเรา

อีกหนึ่งผลงานชื่อ “อีสาน” จากวรรณกรรมเรื่อง “อีสานบ้านเฮา” ของนายธนาธิป นาฉลอง อายุ 17  ปี ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถ่ายทอดกลิ่นอาย ของความเป็นชนบท บนผืนแผ่นดินอีสาน ในแง่มุมที่หลากหลาย กล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจ และภูมิใจ ที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน จากพระองค์ท่าน ผมได้พัฒนาฝีมือ ได้สร้างสรรค์งาน ด้วยเทคนิควิธีการใหม่ๆ เพื่อถ่ายทอดผลงาน ให้ครอบคลุมเนื้อหาของวรรณกรรม ให้ได้มากที่สุด และสิ่งสำคัญที่สุด ที่ผมอยากให้เกิดขึ้น คือ เมื่อคนดูภาพของผมแล้ว เขาอยากอ่านวรรณกรรม เรื่องที่นำมาถ่ายทอดเพื่อจะได้เข้าใจภาพ ได้ชัดเจนขึ้น สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวด อย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องรางวัล ให้คิดถึงโอกาสดีๆ ที่จะทำให้เราได้ฝึกฝน พัฒนาฝีมือ และทำให้หลงรักการอ่านมากขึ้น ”

สำหรับในปีนี้ อินทัช พร้อมเดินหน้าโครงการ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 โดยจัดการประกวดภาพวาด ในหัวข้อ “บวร” ความสุข ความผูกพันของสังคมไทย เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน ได้ตระหนักรู้ถึงบทบาท หน้าที่ และความสำคัญของ “บ้าน วัด โรงเรียน” (บวร) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น สามเสาหลัก ที่ยึดโยงความสัมพันธ์ของคน ในสังคมไทยเข้าไว้ด้วยกัน

เป็นกลไกให้คนในชุมชน ร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนา และบริหารจัดการชุมชนของตนเอง ให้เข้มแข็ง  ชิงถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษา สำหรับเยาวชน และสถาบันการศึกษา ที่สนับสนุนให้เยาวชนส่งผลงาน รวมมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท

สำหรับคณะกรรมการตัดสิน ทางโครงการได้รับเกียรติ จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านวรรณศิลป์ และทัศนศิลป์ นำทีมโดย ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

พร้อมด้วยคณาจารย์ อีกหลายท่าน ได้แก่ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์, ดร.สังคม  ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร, อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตไทย, คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และคุณธวัชชัย สมคง บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Fineart

น้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ ในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงอุดมศึกษา สามารถศึกษารายละเอียด และติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เวปไซด์ FB : intouchstation หรือ Line ID : Jintanakarn.intouch

เปิดรับผลงาน ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม 2562 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 082-796-1670-1 หรือ 02-118-6953

สแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดใบสมัคร หนังสือรับรองผลงาน และตัวอย่างวรรณกรรมแนะนำได้ตามภาพ