Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

8 ไม้เด็ดชนะใจHR เรซูเม่ที่ดีควรมีอะไรบ้าง

ประวัติการทำงาน หรือ เรซูเม่ (resume) นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการสมัครงานคือ อันเป็นตัวแทนของผู้สมัคร ด่านแรก ที่จะนำเสนอตัวเองให้กับสถานประกอบการ พิจารณาเลือกเข้าสัมภาษณ์ก่อนเจอตัวจริงของผู้สมัครงาน ประวัติย่อของผู้สมัครงาน หรือ เรซูเม่นั้น ต้องเรียบเรียงเป็นขั้นตอนตามลำดับความสำคัญที่ต้องการนำเสนอ เข้าใจง่าย กระชับ ครอบคลุม

เหตุผลนั่นเพราะHR ใช้เวลาโดยเฉลี่ยเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นในการมองหาความน่าสนใจจากเรซูเม่ของผู้สมัครงาน วิธีที่คุณจะเรียกความสนใจจาก HR ได้ก็คือ ทำให้เรซูเม่ของคุณเป็นเรซูเม่ที่ดีในสายตานายจ้าง แมนพาวเวอร์กรุ๊ปขอแนะ 8 หัวข้อเรซูเม่ที่ดีควรมีอะไรบ้าง ดังนี้

  1. ประวัติพื้นฐานข้อมูลส่วนตัว (Personal Information) ชื่อ-นามสกุล,วันเดือนปีเกิด,อายุ,ส่วนสูง,น้ำหนัก,ที่อยู่,เบอร์โทร หรืออีเมล์,เงินเดือนปัจจุบัน,เงินเดือนที่ต้องการ,วันสามารถเริ่มงานได้

 

  1. ประวัติการศึกษา (Educational Background) ประกอบด้วย ปีการศึกษา,ชื่อสถาบัน,วุฒิการศึกษา,วิชาเอก,เกรดเฉลี่ยรวม โดยเริ่มเขียนจากประวัติการศึกษาล่าสุด ไล่ลงไปเรื่อยๆ จนถึงระดับมัธยม หรือประถมศึกษา

 

  1. จุดประสงค์ในสายอาชีพ (Career Objective) ผู้สมัครต้องทราบว่าตำแหน่งที่จะสมัครคืออะไร บริษัทฯ ที่เราสมัครงานผลิตอะไร เขียนในเชิงที่จะสามารถนำประสบการณ์ การศึกษาความรู้มาใช้พัฒนาองค์กร และพร้อมที่จะเติบโตไปกับองค์กร ซึ่งก็คือเขียนเอาใจสถานประกอบการณ์ให้ได้รับการคัดเลือกประวัติการทำงานของเรา

 

  1. ประวัติการอบรมและทักษะพิเศษ (Training & Extra Skills) ส่วนนี้เป็นส่วนเสริมให้สถานประกอบการทราบว่า นอกจากประวัติการทำงานที่ผ่านมาแล้ว ผู้สมัครมีประวัติการอบรม หรือทักษะพิเศษอะไรบ้างที่จะนำมาช่วยเสริมการทำงานให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงให้สถานประกอบการได้เห็นว่าผู้สมัครงานมีความใฝ่รู้ ต้องการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองมากน้อยแค่ไหน

 

  1. รูปถ่าย (Photo) ควรเป็นรูปปัจจุบัน และเป็นความจริง เพราะเป็นการแสดงความเป็นมืออาชีพ ในด่านแรกของการสมัคร รูปควรอยู่ในสภาพเรียบร้อย หน้าตรง ขนาดพอดี พื้นสีหลัง ที่เหมาะสม แสดงให้เห็นความตั้งใจในการสมัครงาน อย่าใช้รูปรับปริญญา หรือใส่ชุดนักศึกษา (ถ้าไม่ใช่ผู้สมัครจบใหม่) เนื่องจากทำให้มองเห็นว่าคุณไม่ใส่ใจในรายละเอียด เล็กๆ น้อยๆ ทำงานมานานแล้ว รูปสมัครงานยังใช้รูปรับปริญญา หรือรูปเก่า สะท้อนให้เห็นตัวตนของผู้สมัครได้ในหลายแง่มุม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านลบ

 

  1. สรุปประสบการณ์ที่โดดเด่น (Executive Summary หรือ Experience Summary) ในส่วนนี้สำคัญมาก ผู้สมัครควรสรุปความสามารถ ประสบการณ์เด่น ให้ตรงกับตำแหน่งงานที่สมัคร ความสามารถพิเศษ ทักษะทางภาษาที่สอง หรือ ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็สามารถนำมาใส่ในส่วนนี้ ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นความจริง เพราะผู้สมัครบางท่านใส่ข้อมูลไม่ถูกต้อง เกินความจริง ก็จะทำให้เกิดการเสียเวลา ผิดหวังเมื่อถูกเรียกสัมภาษณ์แล้วไม่เป็นความจริง หรือตรงกับข้อมูลที่เขียนไป ทำไมส่วนนี้ถึงสำคัญมาก เพราะผู้คัดเลือกประวัติ หรือแม้แต่ผู้สัมภาษณ์ จะได้ประหยัดเวลา ในการที่จะอ่านทุกตัวอักษร หรืออ่านข้อมูลทั้งหมด เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการพิจารณาประวัติการทำงาน ที่ส่งเข้าในปริมาณมาก มักจะอ่านหรือพิจารณาจากส่วนนี้

 

  1. ประวัติการทำงาน (Career Experience หรือ Work History) ส่วนนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่สามารถดึงดูดผู้คัดใบสมัคร หลายท่านเขียนแบบสั้นมาก ใส่เพียง ปีการทำงาน สถานประกอบการ ตำแหน่งงาน เท่านั้น ซึ่งรายละเอียดไม่เพียงพอในการพิจารณา ขอแนะนำว่าให้ใส่โดยละเอียดดังนี้ ระยะเวลาการทำงาน (Period), ชื่อสถานประกอบการ (Company), ที่อยู่ของสถานประกอบการ (Location), ประเภทธุรกิจ (Business), ตำแหน่งงาน (Position), ความรับผิดชอบ (Responsibilities)

ซึ่งตรงนี้ควรใส่ให้ละเอียดที่สุด สามารถคัดลอกมาจากรายละเอียดงาน (Job Description) ที่ได้รับจากฝ่ายสรรพยากรมนุษย์ ตอนที่มาร่วมทำงาน หรืออาศัยข้อมูลจากประกาศรับสมัครงานที่เคยสมัครเข้ามาทำงาน ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ต้องเขียนขึ้นมาเองตามความเป็นจริง พยายามแยกออกมาเป็นข้อๆ โดยมีหมายเลข หรือจุดนำหัวข้อ หรือประโยค ไม่ควรเขียนรวมกันเป็นย่อหน้ายาวๆ

 

  1. บุคคลอ้างอิง (Reference) ในส่วนนี้จะใส่ไปด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าใส่ไปต้องเป็นบุคคลที่สามารถพูดถึง หรืออ้างอิงถึงประวัติการทำงานที่ผ่านมาของผู้สมัครได้ และควรพูดออกมาในแง่บวก รวมทั้งควรเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ที่ดีในการทำงานกับผู้สมัครงาน ที่ได้รับการแจ้งและขออนุญาตในการนำมาเป็นบุคคลอ้างอิงแล้ว ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใส่คำว่า –บุคคลอ้างอิงสามารถนำเสนอให้ได้เมื่อมีการร้องขอ (References up on requested)

ทั้งนี้เพื่อป้องกันสถานประกอบการ ที่คัดเลือกประวัติของผู้สมัคร ใช้วิธีการอื่นติดต่อไปสอบถามข้อมูล ก่อนการเรียกมาสัมภาษณ์ โดยที่ผู้สมัครงานและบุคคลอ้างอิงยังไม่ได้รับทราบ และเตรียมความพร้อมกัน อันอาจจะเป็นข้อลบของการให้รายละเอียดบุคคลอ้างอิงไว้ในประวัติการทำงาน

ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานข้อมูลในการเขียนเรซูเม่ให้ครบถ้วน และถูกต้อง โดยข้อมูลที่เขียนลงไปนั้น ต้องเป็นความจริง กระชับ เข้าใจง่าย โดยผู้สมัครจะต้องจับใจความสำคัญของตัวเอง ชูจุดเด่นของเราให้ตรงกับสายงานและตำแหน่งมากที่สุด และต้องศึกษาข้อมูลตำแหน่งงานที่เราสมัครด้วยว่าตรงกับความต้องการของเราหรือไม่

หากขอมูลครบถ้วนแล้วรูปแบบของเรซูเม่ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ การออกแบบที่ตรงกับสายงาน ความเรียบ ความสายงาน การออกแบบที่มากเกินไปและน้อยเกินไปก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี หัวใจหลักในการที่จำทำให้เราถูกคัดเลือกคือการไม่ยอมแพ้ มุ่งมันตั้งใจ และอย่าลืมหมั่นเพิ่มศักยภาพของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะนั้นจะทำให้ตัวคุณเองโดดเด่นในสายตาคนอื่นอย่างแน่นอน

Exit mobile version