www.onlinenewstime.com : เนสท์เล่ประกาศพันธกิจระดับโลก ในการมุ่งมั่นลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050 หรือ พ.ศ. 2593 ซึ่งเป้าหมายนี้ สอดคล้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ต้องการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
การประกาศพันธกิจดังกล่าว สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเนสท์เล่ ในการเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก มาตลอดทศวรรษ ซึ่งกว่าสี่ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับเป้าหมายให้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อรักษาระดับการเพิ่มของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส
โดยเนสท์เล่มุ่งมั่น เป็นผู้นำในการเร่งดำเนินการ เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และในอีกสองปีข้างหน้า จะมีการวางแผนกรอบเวลาชัดเจน พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายระหว่างดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ ในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งติดตามผลทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงาน เป็นไปตามแผนที่วางไว้
“การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุด ที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญ ทั้งยังเป็นหนึ่งในความเสี่ยง ที่ส่งผลต่ออนาคตในการดำเนินธุรกิจของเรา” มาร์ก ชไนเดอร์ ซีอีโอของเนสท์เล่ กล่าว
“เราหมดเวลาที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบ จากภาวะโลกร้อน เราจึงต้องตั้งเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น เพื่อลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิในอนาคต ให้เป็นศูนย์ให้ได้ ด้วยทรัพยากรต่างๆ ที่เนสท์เล่มี รวมถึงวิทยาการความรู้ต่างๆ ในอุตสาหกรรม เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเส้นทางสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ได้เริ่มขึ้นแล้ว และเรากำลังเร่งมืออย่างสุดความสามารถ ในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ”
แผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายในปี 2050
- เร่งปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์และทางเลือกของผู้บริโภค เนสท์เล่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีโภชนาการที่เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพืช นอกจากนี้ เนสท์เล่จะหาแนวทางปรับสูตรผลิตภัณฑ์ ให้มีส่วนผสมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภค ที่มีต่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลยุทธ์หลักของเนสท์เล่ จึงต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมทั้งเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
- ขยายโครงการด้านการเกษตรเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนเพิ่มขึ้น
เนสท์เล่จะเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่ทำกับเกษตรกร เพื่อฟื้นฟูสภาพดินและจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งรวมถึงการจัดการ
ห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์นมให้ดีขึ้น การเร่งดำเนินการปกป้องผืนป่า ด้วยการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยสร้างสังคมการเกษตรที่แข็งแกร่ง - ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน 100% ทั้งในโรงงาน คลังสินค้า ระบบโลจิสติกส์ และสำนักงานต่างๆ ทั่วโลกของเนสท์เล่ ปัจจุบัน หนึ่งในสามของโรงงานเนสท์เล่ทั้งหมด ได้ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน 100% แล้ว และจะเพิ่มปริมาณการใช้พลังงาน จากทรัพยากรหมุนเวียนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุน จากบริษัทคู่ค้าในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เช่น พลังงานลม และ พลังงานแสงอาทิตย์
การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทั้งอุตสาหกรรม ภาครัฐและสังคมทั้งระบบ ซึ่งเนสท์เล่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการผลักดันนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ร่วมเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย 1.5 องศาด้วยกัน
การออกกฎหมายที่สนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว จะช่วยลดอุปสรรคในการขยายตลาดพลังงานทดแทน จูงใจให้เกิดนวัตกรรม ในภาคเกษตรและป่าไม้ ที่จะช่วยลดคาร์บอนได้มากขึ้น และช่วยกำหนดราคาคาร์บอนด้วย
แม็กดิ บาตาโต รองประธานคณะกรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของเนสท์เล่ กล่าวว่า “เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางสู่เป้าหมาย 1.5 องศา เราต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานใหม่ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตส่วนผสม รวมทั้งการหาแหล่งวัตถุดิบ เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัทคู่ค้า เพื่อทำให้ภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ ให้เป็นจริงให้ได้”
เป้าหมาย 2050 ของเนสท์เล่ ทำให้การดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานมีความชัดเจนเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ เนสท์เล่ยังบริหารเส้นทางการขนส่ง ในระบบการกระจายสินค้าและคลังสินค้าต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
เพื่อลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อีกด้วย ทั้งนี้ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ศูนย์กระจายสินค้า 100 แห่งของบริษัท สามารถลดการปล่อยก๊าซรวมกันได้เกือบ 40%
เนสท์เล่ได้ปฏิบัติการอย่างเข้มงวด เพื่อให้มีการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ อย่างมีความรับผิดชอบ และเป็นไปตามแผนสู่เป้าหมายการไม่ทำลายป่า โดยตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากห่วงโซ่ทางคุณค่าทั้งระบบ ลดลงเทียบเท่ากับการไม่ใช้รถถึง 1.2 ล้านคันบนท้องถนน