onlinenewstime.com : จากเป้าหมายของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” ในการกระตุ้นนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 35,982,000 คน สร้างรายได้ 221,500 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 นั้น
ได้กำหนดเป็น นักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,320,000 คน สร้างรายได้ 100,500 ล้านบาท และนักเดินทางชาวไทย ที่เดินทางเข้าร่วมงานไมซ์ ในประเทศ 34,662,000 คน สร้างรายได้ 121,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ในส่วนของนักเดินทางไมซ์ในประเทศ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปีงบประมาณ 2561 ซึ่งมีนักเดินทางจำนวน 33,011,322 ราย มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป 3,553 บาท ก่อให้เกิดรายได้ ในระบบเศรษฐกิจ 117,301 ล้านบาท ถือว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 คิดเป็นสัดส่วน 28.89%
ซึ่งเป็นผลมาจากความแข็งแกร่ง ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย อันเกิดมาจากการขยายตัวของการส่งออก และการท่องเที่ยวในระดับสูง ทำให้ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนมีความมั่นใจ ที่จะใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ ในการออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว และอบรมสัมมนาใน 55 เมืองรอง ให้สามารถลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายจากการจัดประชุมสัมมนาได้ 100%
เส้นทางไมซ์ใหม่ : พัฒนาพื้นที่ดึงดูดนักเดินทาง
อย่างไรก็ตาม “อุตสาหกรรมไมซ์” โดยเฉพาะกลุ่มการประชุม (Meeting) ยังมีความจำเป็น ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักเดินทางไมซ์คุณภาพ เข้าสู่เมืองต่าง ๆ เพื่อกระตุ้น ให้เกิดความต้องการจัดงานไมซ์ในประเทศ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไมซ์ในประเทศ
“ทีเส็บ” จึงริเริ่มโครงการศึกษา และวิเคราะห์ศักยภาพเส้นทางไมซ์ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ ภายในประเทศ หรือ“Thailand 7 MICE Magnificent Themes” มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อค้นหาเส้นทางใหม่ ๆ และพัฒนาสถานประกอบการ และชุมชนสำหรับการจัดงานไมซ์ทั่วประเทศ
โครงการดังกล่าว เริ่มต้นจากการวิจัยศึกษาเมือง ที่มีศักยภาพรองรับนักเดินทางไมซ์ ศึกษาต้นทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ วิเคราะห์ศักยภาพ และความสามารถทั้งด้านพื้นที่ สถานประกอบการ และชุมชน รวมถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ในการรองรับกลุ่มไมซ์
พัฒนาเป็น “เส้นทางไมซ์ใหม่” ผ่าน 7 มุมมอง ที่วิจัยมาแล้ว ว่าเป็นแนวคิดเส้นทาง Top Hits ของกลุ่มไมซ์ทั้งนานาชาติ และในประเทศ (Thailand 7 MICE Magnificent Themes) ได้แก่
- ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Fascinating History and Culture)
- การผจญภัย (Exhilarating Adventure)
- การสร้างทีมเวิร์ค (Treasured Team Building)
- กิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ (CSR and Green Meeting)
- กิจกรรมบรรยากาศชายหาด (Beach Bliss)
- การจัดงานและกิจกรรมหรูหรามีระดับ (Lavish Luxury)
- การนำเสนออาหารไทยในทุกการจัดงานที่หลากหลาย (Culinary Journeys)
“สัมมนารอบกรุง” : รับพฤติกรรมองค์กรยุคใหม่
ล่าสุด ฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ (Domestic MICE) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” จึงได้กำหนดแผนงาน เพื่อสอดรับนโยบายดังกล่าว โดยร่วมกับ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT)
จัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” โครงการสร้างการรับรู้สินค้าและบริการไมซ์ (Domestic Fam Trip) ประจำปี 2562 พร้อมนำผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR) จากองค์กรต่าง ๆ รวม 25 ราย เข้าร่วมโครงการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองรูปแบบใหม่ ในเส้นทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้แนวคิด “Empower Yourself With A New Philosophy In The Global World”
นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” กล่าวว่า การจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ครั้งนี้ นอกจากถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางไมซ์ใหม่” (Thailand 7 MICE Magnificent Themes) แล้ว
ยังเป็นการต่อยอด โครงการ “ก้าวตามรอยพ่อ ประชุมเมืองไทย อิ่มใจตามรอยพระราชดำริ” ตามโมเดล การจัดประชุมสัมมนา ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยแนวคิด “๓ พอ” (พอเพียง เพิ่มพูน พัฒนา) เพื่อกระตุ้นและส่งเสริม ให้หน่วยงานภาคเอกชนจัดงานประชุมสัมมนา ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยนำศาสตร์พระราชาที่เป็นประโยชน์ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบุคลากร หน่วยงาน องค์กร และอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการพัฒนา และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น
“เหตุผลที่เลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมสัมมนารอบกรุงครั้งนี้ เพราะเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปเช้า-เย็นกลับ และร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ภายในหนึ่งวัน
สอดรับกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ และองค์กรยุคปัจจุบัน ที่เริ่มค้นหา และเลือกสรรสถานที่จัดงานประชุมสัมมนา ด้วยตนเองมากขึ้น จากอดีตที่พึ่งพาบริษัทเอเจนชี่เป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ การจัดกิจกรรมสัมมนารอบกรุง จึงถือว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการจัดการประชุม หรือ Meeting และการท่องเที่ยว เพื่อรางวัล หรือ Incentives”
ทริป 1 วันในแปดริ้ว
สำหรับสถานที่การจัดกิจกรรมสัมมนารอบกรุงในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราครั้งนี้ ประกอบด้วย :
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา – เลขที่ 999 หมู่ 3 ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โทร. 0 3858 9396, 084 088 2264 ถือเป็น 1 ใน 5 หอดูดาวภูมิภาค และศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์ สำหรับประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก
รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการ เพื่อสร้างความตระหนัก และความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ประชาชนในทุกภูมิภาค มีโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์อย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน โดยมีอาคารท้องฟ้าจำลอง สำหรับฉายท้องฟ้าจำลอง ด้วยระบบดิจิทัลความละเอียดสูง รองรับผู้เข้าชมได้ครั้งละ 50 ราย ทั้งยังมีห้องนิทรรศการจัดแสดง เกี่ยวกับดวงดาวต่าง ๆ ด้านหลังเป็นอาคารหอดูดาว มีกล้องโทรทรรศน์หลายขนาด รวมถึงลานสำหรับจัดกิจกรรมดูดาว ทุกคืนวันเสาร์ในช่วงเวลา 18.00 – 22.00 น.
บ้านเมล่อน – เลขที่ 99/9 หมู่ 2 ถ.304 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โทร. 09 9249 4494 เป็นฟาร์มเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่น ที่เปิดกว้างให้นักท่องเที่ยว ได้เที่ยวชมและศึกษาเรียนรู้ กระบวนการปลูกเมล่อน ตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” รองรับผู้เข้าชมได้ครั้งละ 30 ราย
โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้เข้าชม ได้ทดลองปฏิบัติมากมาย เช่น การเพาะต้นกล้าเมล่อน การสลักลายผลเมล่อน การให้อาหารแกะ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการจำหน่ายผลเมล่อนสดจากฟาร์ม รวมถึงมีร้านจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล่อนในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีการจัดมุมถ่ายรูปสุดชิค และชิลล์ให้ผู้มาเยือนได้แชะและโชว์อีกด้วย
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา – เลขที่ 7 หมู่ 2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โทร. 0 3855 4982-3 มีการดำเนินงาน ตามแนวพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม การศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาปรับปรุง พื้นที่ดินทราย จัดเพื่อเกษตรกรรม
ซึ่งมีรูปแบบให้บริการ แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว โดยให้บริการแก่เกษตรกร และประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ถือเป็นตัวอย่าง แห่งความสำเร็จ ในด้านการเกษตรกรรม และการพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบ และแนวทางให้เกษตรกร และผู้สนใจ นำไปประยุกต์ใช้ ในการปฏิบัติต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ให้ศึกษา เรียนรู้และเยี่ยมชม คือพระตำหนักสามจั่ว ร้านปันสุข สวนพฤกษชาติราชดำรัส ศูนย์การเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ชุมชน โรงเรือนกลุ่มพัฒนาอาชีพเย็บผ้า จักสาน และตีเหล็ก เป็นต้น
“ไมซ์” กับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร
นายสราญโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก อาจารย์ชินรีณี วีระวุฒิวงศ์ โค้ชผู้บริหาร ที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ มาร่วมให้ความรู้ ผู้ร่วมโครงการในกิจกรรม “ปั้นดิน” ซึ่งถือเป็นศิลปะ เพื่อความสมดุลในการส่งเสริม และกระตุ้นเตือนให้มนุษย์ สื่อสารกับโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โดยการปั้นดิน จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง ผ่านประสาทสัมผัส ที่ซับซ้อนสูงสุด ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมปั้นดิน มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ทางด้านความสามารถในการเรียนรู้ ความสามารถด้านสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ ตลอดจนพลังความมุ่งมั่น ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด
นอกจากนั้น ยังมีการจัด กิจกรรม “Table Top Sale” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว รวมถึงผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นำเสนอสถานที่ และผลิตภัณฑ์ของฝาก ของที่ระลึกให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” เพื่อเชิญชวนให้นำองค์กร นำคณะบุคลากร เดินทางมาจัดอบรมสัมมนา
นายสราญโรจน์ กล่าวด้วยว่า เหตุผลที่การจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ครั้งนี้เน้นผู้ร่วมโครงการคือ ผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR) จากองค์กรต่าง ๆ เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ ต่อการจัดโครงการประชุม และอบรมสัมมนาบุคลากรภายในองค์กร โดยนำบุคลากรออกมาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นอกสถานที่ ซึ่งถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ๆ ทั้งยังถือเป็นการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ในการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ทั้งชีวิตประจำกัน การทำงาน และอื่น ๆ
“อุตสาหกรรมไมซ์เป็นหัวใจหนึ่ง ในการเชื่อมต่อผู้คน ให้มีโอกาสพบกัน และแบ่งปันประสบการณ์ จากการเรียนรู้ร่วมกัน ดังการจัดกิจกรรมสัมมนารอบกรุงครั้งนี้ ที่ผู้เข้าร่วมโครงการต่างมีมุมมอง ในด้านต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีความเข้าใจมากขึ้น ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชา รวมไปถึงมีความกล้า ที่จะลงมือปฏิบัติในสิ่งต่าง ๆ ทั้งยังให้การยอมรับซึ่งกันและกัน รวมถึงมีเข้าใจ เรื่องช่องว่างระหว่างวัยของบุคลากรในองค์กร ตลอดจนมีความพยายาม ที่จะพัฒนาตัวเอง ให้หลุดพ้นจากพื้นที่สุขสบายของตนเอง หรือ Comfort Zone”
เหนือสิ่งอื่นใดการจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ยังถือเป็นการกระจายรายได้ สู่ชุมชนโดยตรง อันถือเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หาก “ทีเส็บ” จะยังคงมีการจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ขึ้นอีก แต่จะเป็นในพื้นที่ใด ติดตามในเร็ว ๆ นี้