Onlinenewstime.com : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ต่อยอดความร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่งต่อ 6 สตาร์ทอัพสายเกษตร ที่ผ่านการบ่มเพาะ และได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก NIA ต่อยอดการเติบโตสู่โครงการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรไทยของ ธ.ก.ส. ที่จัดตั้งกองทุนขึ้นเพื่อสนับสนุนด้านการเงินในลักษณะการร่วมลงทุนแก่ผู้ประกอบการภาคเกษตรหรือเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรที่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ แต่ขาดโอกาสในการเพิ่มทุน ให้สามารถดำเนินกิจการและยกระดับการเติบโตอย่างมั่นคง
ในรอบปีนี้มี 6 สตาร์ทอัพจาก NIA ที่ผ่านการคัดเลือก ได้แก่ Farmbook แพลตฟอร์มที่ช่วยเกษตรกรวางแผนการผลิต BioMatLink แพลตฟอร์มบริหารการปลูกมันสำปะหลัง SuperCrop ระบบไอโอทีสำหรับเกษตรอัจฉริยะ e-Catt แพลตฟอร์มโคเนื้อไทย Herbs Starters แพลตฟอร์มตลาดสินค้าเกษตร และ GaoRai แพลตฟอร์มเชื่อมต่อเกษตรกรกับนักขับโดรนเพื่อการเกษตร
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA และ ธ.ก.ส. มีร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมภาคเกษตรมาโดยตลอด เช่น การจัดทำโครงการนวัตกรรมดี ไม่มีดอกเบี้ย เพื่อรับชำระดอกเบี้ยแทนให้แก่สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ การร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตให้กับเกษตรกร ธุรกิจชุมชน การพัฒนาผู้ประกอบการภาคเกษตรและสตาร์ทอัพ
เนื่องจาก NIA เล็งเห็นว่า การเกษตรอัจฉริยะ จะเป็นหนึ่งในเทรนด์นวัตกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในอนาคต เพราะประชากรหลายล้านคนของประเทศ อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมการเกษตรทั้งเกษตรกร SME Startup และบริษัทขนาดใหญ่
แต่ปัจจุบันยังมีธุรกิจนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกร เช่น ปัญหาราคาผลผลิต หรือความไม่แน่นอนของสภาวะทางธรรมชาติ ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้การเกษตรไทยเติบโตได้ในระดับปานกลางเท่านั้น
NIA จึงมีการผลักดันให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเชิงลึก มาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตรและการพัฒนาทรัพยากรการเกษตร ร่วมกับการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการเกษตรของแต่ละพื้นที่ และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด
โดยมีนโยบายที่ชัดเจนในการบ่มเพาะและเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านเกษตร ให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมภาคเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ต้องการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว”
ดร. พันธุ์อาจกล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดตั้งกองทุนนี้ของ ธกส. นับได้ว่าเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพเกษตรมากขึ้น และหลากหลายขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคลื่นต่อไป ที่จะมุ่งไปในกลุ่มของเทคโนโลยีเชิงลึก ที่เป็นการส่งต่อของการทำงานร่วมกันตามกลยุทธ์การทำงานของ NIA คือ Groom จุดประกายแนวคิดนวัตกรรมเร่งส้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตร Grant การสนับสนุนทุนต่อยอดโครงการนวัตกรรม 1.5 – 5 ล้านบาท และ Growth เชื่อมประสานการขยายตลาดใหม่ ๆ และการลงทุน
โดย 6 สตาร์ทอัพ ที่มีศักยภาพ นำนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งผ่านการบ่มเพาะ และได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก NIA และล่าสุดได้ผ่านการคัดเลือกเพื่อต่อยอดการเติบโตสู่โครงการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับกองทุนของ ธ.ก.ส. ได้แก่
- Farmbook แพลตฟอร์มที่ช่วยเกษตรกรวางแผนการผลิตให้สัมพันธ์กับความต้องการของตลาด ในลักษณะซื้อขายล่วงหน้า เชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรไปยังกลุ่มตลาดภาคธุรกิจสำคัญ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม ช่วยให้เกษตรกรมีตลาดล่วงหน้าพร้อมวางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการ ช่วยแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำและการผลิตสินค้าเกษตรล้นตลาดได้ Farmbook ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขาธุรกิจเกษตรดิจิทัล จากโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพการเกษตร Inno4Farmers และได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมจาก NIA ล่าสุดได้รับการร่วมลงทุนจาก ธ.ก.ส. 15 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.10 % จากมูลค่ากิจการ 135 ล้านบาท
- BioMatLink ระบบบริหารการดูแลการปลูกมันสำปะหลังครบวงจร พร้อมประกันราคาแบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่เกษตรกรสมาชิกปรับปรุงกระบวนการปลูกให้ได้มันสำปะหลังมีคุณภาพมากขึ้น และจับคู่ตลาดโรงงานแบบมีประกันราคาไม่ต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม โดยขึ้นตามเปอร์เซนต์แป้งที่เกษตรกรผลิตได้อย่างเป็นธรรม เชื่อมโยงจุดรับซื้อและลานตากคัดคุณภาพ ได้เป็นสินค้ามันเส้นเกรดพรีเมี่ยมส่งตรงถึงโรงงานได้ตลอดทั้งปี BioMatLink ได้รับรางวัลรองชนะเลิศสาขาธุรกิจเกษตรดิจิทัล จากโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพการเกษตร Inno4Farmers และได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจจาก NIA ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและประเมินทรัพย์สิน (Due diligence) เพื่อรับการร่วมลงทุนกับ ธ.ก.ส. ต่อไป
- SuperCrop ระบบชุดควบคุมและเซ็นเซอร์ด้วยเทคโนโลยีไอโอทีสำหรับการบริหารจัดการเกษตรอัจฉริยะ ที่มีความแม่นยำด้วยการจัดเก็บข้อมูลต่าง มาสร้างโมเดล AI โดยใช้ Machine Learning สำหรับการควบคุมการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เคยเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพการเกษตร Inno4Farmers กับ NIA จึงได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทำให้มีผลการพัฒนาเกษตรกรอัจฉริยะได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น จนผ่านเข้ารอบการพิจารณาการร่วมลงทุนกับ ธกส. และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและประเมินทรัพย์สิน (Due diligence)
- e-Catt แพลตฟอร์มการตรวจสอบย้อนกลับ ซื้อขาย และแปลงโคเนื้อเป็นทุนแบบครบวงจร ด้วยการออกแบบระบบการเลี้ยงโคที่ตรวจสอบทุกขั้นตอน ทำให้ธนาคาร บริษัทประกันภัย ตลอดจนผู้ซื้อโคเนื้อ สามารถเข้าถึงข้อมูลการเลี้ยงโคของเกษตรกรรายย่อยได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทั่วถึง สามารถประเมินเมินความเสี่ยงของเกษตรกรโคเนื้อแต่ละรายได้อย่างแม่นยำ ทำให้โคเนื้อกลายเป็นสินทรัพย์ที่ตรวจสอบได้ และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารได้ e-Catt ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ จาก NIA และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและประเมินทรัพย์สิน (Due diligence) เพื่อรับการร่วมลงทุนกับ ธ.ก.ส. ต่อไป
- Herbs Starters แพลตฟอร์มพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมตลาดสินค้าเกษตรเพื่อชุมชน ผู้ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) สำหรับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าแปรรูปที่ต้องการพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ได้มาตรฐาน และสามารถส่งออกได้ เป็นการสร้างช่องทางการขายใหม่ ๆ ให้แก่เกษตรกร รวมถึงช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมีระบบ Herbs Starters เข้าร่วมโครงการ AgTech4OTOP และAgTech Connext กับ NIA และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและประเมินทรัพย์สิน (Due diligence) เพื่อรับการร่วมลงทุนกับ ธ.ก.ส. ต่อไป
- GaoRai แพลตฟอร์มเชื่อมต่อเกษตรกรกับนักขับโดรนเพื่อการเกษตร โดยมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีความแม่นยำ มีระบบจองคิวที่ใช้งานง่าย อีกทั้งยังมีประวัติเกษตรกรและนักขับโดรน ซึ่งช่วยในการติดตามความคืบหน้าและเสริมความสามารถในการผลิตและคุณภาพโดยรวมของพืชผลและดิน เก้าไร่เข้าร่วมโครงการ AgTech Connextกับ NIAที่แสดงให้เห็นการขยายผลการใช้งานกับเกษตรกรในหลายจังหวัด พร้อมขยายไปได้ทั่วประเทศและอาเซียนขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและประเมินทรัพย์สิน (Due diligence) เพื่อรับการร่วมลงทุนกับ ธ.ก.ส. ต่อไป”