www.onlinenewstime.com : กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย จับมือ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เปิดตัวโครงการ “โค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero” ในการสนับสนุนและจัดทำระบบส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทางในบริเวณศูนย์การค้าของเซ็นทรัล และนำส่งบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ตลอดจนวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ ที่จัดเก็บได้ให้กับบริษัทพันธมิตรเพื่อนำวัสดุเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง
โครงการ ‘โค้กขอคืน’ เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ World Without Waste ของโคคา-โคล่า ที่มุ่งใช้ และจัดการบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม อย่างรับผิดชอบ เพื่อลดปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลักคือ การจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำกลับมารีไซเคิล ในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อน พ.ศ.2573
โดยในประเทศไทย โคคา-โคล่า มีธุรกิจเครื่องดื่ม ที่ใช้ขวดแก้วชนิดคืนขวดขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมดอยู่แล้ว ฉะนั้น โครงการ ‘โค้กขอคืน’ จึงเป็นการทดลองสร้าง ระบบการจัดเก็บวัสดุบรรจุภัณฑ์ชนิดที่ไม่เก็บคืน อันได้แก่ ขวดพลาสติก PET กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้วชนิดไม่คืนขวด และกล่องเครื่องดื่ม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแยกขยะอย่างเป็นระบบ
โคคา-โคล่า ได้จับมือกับสตาร์ตอัพ เจ้าของแพลตฟอร์ม การจัดเก็บขยะสมัยใหม่ อย่าง GEPP ให้เข้ามาช่วยวางระบบ และทำงานร่วมกับทางกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล เพื่อส่งเสริมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และจัดส่งบรรจุภัณฑ์ ให้กับบริษัทผู้รับรีไซเคิลโดยตรง อันจะเป็นการส่งเสริม ให้มีการนำวัสดุรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ และลดปริมาณขยะทั้งหมดในภาพรวมตามโครงการ Journey to Zero ของทางกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลอีกด้วย
นายพรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญ ในการผลักดันและส่งเสริมให้มีการแยกขยะที่ต้นทาง และนำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ กลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูป และนำกลับมาใช้ใหม่
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรามีเป้าหมายที่ท้าทายมาก ในการพยายามจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ในปริมาณที่เทียบเท่า กับที่เราขายออกไปก่อนปี 2573 เราจึงต้องพัฒนา และทดลองระบบการจัดเก็บขึ้นมาใหม่
ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ จากพันธมิตรมาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง การทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพอย่าง GEPP ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาวางระบบ และข้อมูลที่จัดเก็บได้ ก็จะช่วยทำให้แก้ปัญหาและวางแผนพัฒนาระบบการจัดเก็บ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีพันธมิตร ที่ยินยอมให้เราเข้ามาทำการศึกษา พัฒนา และลองผิด ลองถูก ไปด้วยกัน ซึ่งในส่วนนี้ เราต้องขอขอบคุณทางกลุ่มเซ็นทรัล และบริษัทพันธมิตร ผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิลทุกรายที่ตัดสินใจลงทุนลงแรง มาทำโครงการนี้ด้วยกัน ซึ่งทุกคนทราบดีว่าไม่ใช่งานที่ง่าย และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบงานหลายอย่าง แต่ก็ยินดีที่จะมาช่วยกันทำ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะ ”
นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “ตลอดเวลา 72 ปีของการดำเนินธุรกิจ กลุ่มเซ็นทรัล มีนโยบายในการให้ความสำคัญ กับการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการสร้างโลกสีเขียวภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล กรุ๊ป เลิฟ ดิ เอิร์ธ” เพื่อสร้างประโยชน์ทั้งในระดับองค์กร ชุมชน และมหภาค โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนผ่าน 3 โครงการหลัก ได้แก่ การลดปริมาณขยะและการลดการสร้างคาร์บอน (Journey to Zero) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบศูนย์การค้า (Central Green) และฟื้นฟูผืนป่า (Forest Restoration)”
“การจับมือของ โครงการโค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ และนำวัสดุ ที่สามารถรีไซเคิล ไปพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะดำเนินการ ผ่านศูนย์การค้าของกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (ซีพีเอ็น) นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัลพลาซา บางนา ด้วยการนำขยะที่เกิดจากร้านอาหารในเครือบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว กลับมารีไซเคิล
โดยเราจะปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ และพัฒนาระบบการจัดเก็บให้เหมาะสม เช่น การบริหารจัดเก็บและจัดการพื้นที่ในการแยกขยะ ในด้านรายได้จากการจำหน่ายวัสดุรีไซเคิล เราก็มีแผนในการวางแนวทาง ที่จะมอบกลับคืนให้กับทุกภาคส่วน ที่มีส่วนช่วยในการจัดเก็บและคัดแยกขยะด้วย
ทั้งนี้ หากโครงการนำร่องดำเนินไปได้ด้วยดี เราก็มีเป้าหมายที่จะร่วมกับโคคา-โคล่า ที่ในการขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีศูนย์การค้าตั้งอยู่ทั้งหมด กลุ่มเซ็นทรัล รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้ร่วมมือกับพันธมิตรรายต่างๆ ที่ล้วนมีเจตจำนงค์เดียวกัน ในการมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะ และวัสดุรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อโลกของเราต่อไป”
การทำงานในโครงการโค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero จะสำเร็จไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจาก GEPP ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างร้านค้า ที่มีวัสดุรีไซเคิลจากการแยกขยะ ผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิล และบริษัทผู้รีไซเคิลวัสดุ โดย GEPP จะประสานงานให้ผู้รับซื้อ เข้าไปซื้อวัสดุรีไซเคิล จากร้านอาหารและภัตตาคารของกลุ่มเซ็นทรัล หลังจากนั้น วัสดุเหล่านี้ จะถูกนำส่งและจำหน่ายแยกประเภท ให้กับพันธมิตรผู้รับซื้อ อันได้แก่
บริษัทบีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ผู้รับซื้อวัสดุประเภทแก้ว บริษัทไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด ผู้รับซื้อกระป๋องอลูมิเนียม บริษัทเวสท์ทีเรียล จำกัด ผู้รับซื้อกระดาษและกล่องเครื่องดื่ม บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้รับซื้อพลาสติกชนิด HDPE, LLDPE, LDPE และ PP และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้รับซื้อพลาสติกชนิด PET
เนื่องจากโครงการนี้ เป็นการขายวัสดุรีไซเคิลให้กับผู้รับรีไซเคิลโดยตรง โดยไม่ผ่านคนกลาง GEPP จึงคาดหมายว่าผู้รับซื้อ จะมีกำไรจากการซื้อขายวัสดุรีไซเคิลในโครงการนี้ สูงกว่าการซื้อขายทั่วไป ซึ่งทาง โคคา-โคล่า มีนโยบายให้ผู้ดำเนินการจัดเก็บ ต้องปันกำไรส่วนหนึ่ง มาใช้สมทบในการขยายโครงการนี้ต่อไปในอนาคต
และเมื่อทางเซ็นทรัลเอง ก็มีนโยบายที่จะมอบรายได้ส่วนหนึ่ง ที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการนี้ เพื่อตอบแทนกลับคืนให้กับทุกภาคส่วน ที่ช่วยจัดการและแยกขยะเช่นกัน ระบบการจัดเก็บนี้ จึงมิเพียงตั้งอยู่บนหลักการของคุณค่าร่วม (Shared Value) เท่านั้น แต่จะทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม จะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม อันเป็นหัวใจของระบบที่ยั่งยืน