Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

แนะแรงงานเพิ่มทักษะ เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงใน 2 ปี

www.onlinenewstime.com : ในยุคที่มนุษย์ต้องพัฒนาทักษะ ความสามารถเพื่อการทำงาน ในแต่ละสายอาชีพ  รองรับการแข่งขันและทดสอบศักยภาพของตนเอง ล่าสุด “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ได้ทำการวิจัย และเผยถึงแนวโน้มของทักษะมนุษย์  รวมถึงตำแหน่งงาน ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และลดลง ในอีก 2 ปีข้างหน้า

แนะแรงงานปรับตัว เพิ่มทักษะความสามารถ รองรับการเปลี่ยนแปลง สอดรับกับยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น  ชี้การพัฒนาทักษะมนุษย์ คือ หัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจ

หากพูดถึงการปฏิวัติทักษะ แรงงานในกลุ่มที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี และดิจิทัลจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยระบบอัตโนมัติ กำลังทำให้ทักษะที่บริษัทต่างๆ ต้องการจากพนักงาน เปลี่ยนแปลงไป โดยความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลง แตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร

และหากเจาะสำรวจลงไปในสายงาน จะเห็นว่า มีความต้องแรงงาน ที่มีทักษะด้านไอทีเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วมาก  ผลวิจัยระบุว่า 16% ของบริษัท คาดว่าจะเพิ่มจำนวนพนักงานในสายงานไอที มากถึง 5 เท่า ในขณะที่ ความพร้อมของผู้มีทักษะ ความสามารถด้านไอที กลับหาได้ยากขึ้น

การศึกษาและประสบการณ์ที่นายจ้างต้องการ ดูเหมือนจะตรงกันข้าม กับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในสหรัฐอเมริการาว 86% ของตำแหน่งงานว่างในสายงานไอที กำหนดว่าผู้สมัคร ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แต่มีพนักงานด้านไอทีเพียง 43% เท่านั้น ที่มีวุฒิการศึกษาดังที่ต้องการ

นอกจากนี้ในสหราชอาณาจักรมีเพียง 25% ของพนักงานไอทีที่มีปริญญา แต่อีก 46% เปอร์เซ็นต์ของตำแหน่งงานที่เปิดรับ กำหนดว่าวุฒิปริญญาตรีเป็นคุณสมบัติบังคับที่ผู้สมัครต้องมี

ทางด้านสายงานภาคการผลิต มีการคาดการณ์ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้มากที่สุด 25% ของนายจ้างระบุว่า จะว่าจ้างพนักงานมากขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ในขณะที่ 20% ระบุว่าจะจ้างพนักงานน้อยลง ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ต่อการเติบโตของงาน และทักษะที่สำคัญในอุตสาหกรรม การเติบโตดังกล่าว จะเกิดขึ้นกับพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนที่ต้องพบปะ และดูแลลูกค้า งานวิศวกรรม รวมถึงงานบริหาร ที่ต้องใช้ทักษะมนุษย์ เช่น การสื่อสารขั้นสูง การเจรจา การเป็นผู้นำ การจัดการและความสามารถในการปรับเปลี่ยน

ส่วนในสายงานอื่นๆ เช่น งานธุรการและสำนักงาน จำนวนตำแหน่งงานจะน้อยลง และคาดว่าจำนวนพนักงานในสายงานบุคคลจะยังคงที่ 

จากผลวิจัยราว 65% ของบริษัท วางแผนจะเพิ่มจำนวนพนักงานในสายงานไอที โดยระบุว่า “ทักษะการสื่อสารเป็นทักษะด้านอารมณ์ที่สำคัญที่สุด”  ซึ่งแมนพาวเวอร์กรุ๊ป อยู่ระหว่างการปิดช่องโหว่นี้  โดยจากการทำงานกับลูกค้าอย่างไมโครซอฟท์ ทำให้เราต้องประเมินข้อกำหนดสำหรับตำแหน่งงานที่ใกล้เคียง และเพิ่มทักษะให้แก่บุคคล ให้เป็นผู้มีทักษะการแก้ปัญหา มีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  จนถึงปัจจุบันแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ได้เพิ่มทักษะที่เป็นที่ต้องการ และตอบโจทย์ลูกค้าให้แก่บุคลากรไปแล้วกว่า 500 คน

แม้ความต้องการทักษะด้านเทคโนโลยี และดิจิทัลกำลังเติบโตขึ้นในทุกตำแหน่งหน้าที่  แต่นายจ้างก็ยังให้ความสำคัญ กับการเพิ่มมูลค่าของทักษะมนุษย์ มากกว่า 38% ขององค์กร ระบุว่า การฝึกอบรมทักษะด้านเทคนิค ที่เป็นที่ต้องการ มีความยากลำบาก แต่อีก 43% ระบุว่าการสอนให้บุคลากร มีทักษะด้านอารมณ์ที่องค์กรต้องการ เช่น การคิดในเชิงวิเคราะห์ และการสื่อสารเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก 

ผู้สมัครที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า มีทักษะด้านกระบวนการคิด ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการประมวลข้อมูลเชิงซ้อน  รวมถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยน และการทำงานเป็นทีมได้ดี จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพการทำงานมากขึ้น 

ภายในปี 2573 ความต้องการทักษะของมนุษย์  ซึ่งก็คือทักษะทางสังคมและอารมณ์ จะเพิ่มสูงขึ้นในทุกอุตสาหกรรมถึง 26% ในสหรัฐอเมริกา และ 22% ในยุโรป

นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่าตำแหน่งงาน ที่คาดว่าจะมีการเพิ่มขึ้น และลดลงในอีกสองปีข้างหน้า สามารถจำแนกเป็นกลุ่มแรงงาน 6 สายงาน ได้แก่

สายงานการเงินและการบัญชี จะมีการเพิ่มจำนวนพนักงาน 4% และลดจำนวนพนักงานถึง 6% โดยทักษะการทำงานเดิม จะยืดติดตามกระบวนการและรายละเอียด การปฏิบัติตามข้อกำหนด  แต่ทักษะในอนาคต คือ การตีความธุรกิจ การนำเสนอและการบริการลูกค้า  

สายงานทางด้านไอที มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนพนักงานอยู่ที่ 11% และจะลดจำนวนพนักงานที่ 7% โดยทักษะปัจจุบันจะเป็นด้าน การติดตั้งและบำรุงรักษา การสังเกตและการควบคุมเทคโนโลยี ทักษะไอทีแบบเทคนิค ในขณะที่ทักษะที่เพิ่มขึ้นในอนาคต คือ การคิดเชิงวิเคราะห์ การวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหา ความสามารถในการเรียนรู้ การออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยี

สายงานการผลิต เป็นอีกหนึ่งสายงานที่น่าจับตา เนื่องจากผลวิจัยระบุว่า จะมีการเพิ่มจำนวนพนักงานถึง 25% และลดจำนวนพนักงานถึง 20% โดยทักษะการทำงานปัจจุบันเป็น การใช้เครื่องจักร ทักษะด้านกายภาพ การทำงานด้านกระบวนการและรายละเอียด ส่วนทักษะในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นในสายอาชีพนี้คือ การจัดการควบคุมเครื่องจักร และความสามารถในการเรียนรู้ 

สายงานด้านการให้บริการข้อมูล การดูแลลูกค้า และฝ่ายต้อนรับ (Frontline & Customer-Facing) เป็นหนึ่งสายงานที่ใช้ทักษะในการป้อนข้อมูล  ความสามารถทางภาษา ตัวเลข และการสื่อสารขั้นพื้นฐาน ซึ่งทักษะที่จะต้องมาเติมในอนาคตได้แก่ การแก้ไขปัญหา  การสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงการจัดการเครื่องจักร ซึ่งจะมีการเพิ่มจำนวนพนักงานราว 16% แต่จะมีการลดจำนวนพนักงานอยู่ที่ 3%

สายงานธุรการและสำนักงาน  9% จะมีการเพิ่มจำนวนพนักงาน และจะลดจำนวนพนักงานลง 18% ซึ่งทักษะงานในปัจจุบันจะเป็นการเก็บบันทึก การประสานงานและจัดสรรเวลา การตรวจสอบราคาสินค้า  แต่ทักษะในอนาคตที่จะต้องเพิ่มขึ้นคือ ด้านการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์  และยังจะต้องมี การคิดเชิงวิเคราะห์ การวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการสร้างเครือข่ายและสร้างแรงจูงใจ

สายงานทางด้านทรัพยากรบุคคล หรือ HR ทักษะการทำงานปัจจุบันคือ ทักษะด้านการสรรหาบุคลากร กฎหมายการจ้างงาน ซึ่งทักษะในอนาคตที่จะต้องเพิ่ม ได้แก่ การทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ การวิเคราะห์ข้อมูลและการประเมิน รวมทั้งกลยุทธ์การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถสูง และการวางแผนงาน แนวโน้มการเพิ่มจำนวนพนักงานในส่วนนี้อยู่ที่ 3% และลดจำนวนพนักงานในสัดส่วน 3% เท่ากัน

จากผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาและเพิ่มทักษะความสามารถแต่ละสายงานนั้น เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งแรงงานยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นนี้  ต้องเตรียมความพร้อม และเร่งพัฒนาทักษะ ให้สอดคล้องกับทิศทางความต้องการ ในแต่ละสายอาชีพและสายงาน เพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคตอันใกล้ มิฉะนั้นแล้ว คุณอาจเป็นแรงงานใน % ที่บริษัทเลือกจะลดลงก็เป็นได้  

Exit mobile version