www.onlinenewstime.com : เพื่อตอบโจทย์ยุคดิสรัพชั่น โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวหลักสูตรร่วมแพทย์–วิศวะ (พ.บ. – วศ. ม.) และลงนามบันทึกความร่วมมือ ในโครงการร่วม“หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต – วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์” เรียน 3-1-3 ปี สองปริญญา
ศักยภาพใหม่ของคนไทยและประเทศไทย ในการก้าวเป็นผู้นำ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต โดยตอบรับเป้าหมายเมดิคัลฮับ และนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ใน EEC
ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำคัญและความร่วมมือ ในการจัดตั้งหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต – วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ว่าเป็นนวัตกรรม ที่เกิดจากแนวโน้มการนำดิจิทัลและเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในทางการแพทย์ ในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทย์จึงจำเป็นต้องปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากความรู้ด้านการแพทย์ที่ดีแล้ว ทักษะและความเข้าใจทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแพทย์ยุคใหม่
อีกทั้ง คนรุ่นใหม่มีความสามารถ และความสนใจทั้งในด้านการแพทย์และวิศวกรรม ดังนั้น หลักสูตรร่วมแพทย์–วิศวะ (พ.บ. – วศ. ม.) จะช่วยดึงศักยภาพ และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ จากความรู้ทางด้านแพทย์และวิศวกรรม
จุดเด่นของหลักสูตร
นักศึกษาจะเรียนรู้ และพัฒนาทักษะทางการแพทย์ และความรู้ทักษะพื้นฐานทางวิศวกรรม ได้รับประสบการณ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ร่วมกับนักวิจัยและอาจารย์ ทั้งในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 7 ปี
โดยปีที่ 1 – 3 มีการเรียนการสอนทางด้านพรีคลินิก เช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ ในชั้นปีที่ 4 จะเป็นช่วงของการพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรม และลงมือพัฒนางานวิจัยหรือนวัตกรรม หลักจากนั้นในปีที่ 5 – 7 จึงกลับมาเรียนชั้นคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ พร้อมทั้งทดลอง และต่อยอดนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้น ในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อจบการศึกษาสามารถทำงานเป็นแพทย์ ที่เป็นได้มากกว่าแพทย์ โดยมองเห็นปัญหา และโอกาสในการแก้ปัญหาด้วยหลักการทางวิศวกรรม มีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากขึ้น เป็น “แพทย์นวัตกร” ที่ได้รับการปูพื้นฐาน พร้อมที่จะต่อยอดเพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่มีโอกาสสูงขึ้น ในการได้รับเลือก ให้เรียนต่อเฉพาะทาง หรือหลักสูตรปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมีประสบการณ์ทำงานวิจัย และผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงรูปแบบการเรียน ทางด้านวิศวกรรม และความเชื่อมโยงทางด้านการแพทย์ว่า ปัจจุบันประเทศไทย ได้รับยกย่องว่า เป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีต่อประชาชน ขณะที่ไทยเรา กำลังก้าวเป็นสังคมสูงวัย อีกทั้งการเติบโตของบริการสุขภาพการแพทย์ และแนวโน้มเฮลท์เทค
ในปีหนึ่งๆ มีชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย จำนวน 1.05 ล้านคนต่อปี และหากรวมผู้ติดตามด้วยจะมีจำนวนเป็น 3 ล้านคนต่อปี หลักสูตรร่วมแพทย์–วิศวะ (พ.บ. – วศ. ม.) จะเป็นอีกพลัง ในการสร้าง “คน”ที่จะร่วมสร้างประเทศฐานนวัตกรรม นำมาซึ่งสุขภาพดี คุณภาพชีวิต และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ และภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีประชากร 650 ล้านคน
การเรียนในรายวิชาทางด้านวิศวกรรม ผ่านหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) ในการสร้างแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษา และมีความรู้ความเข้าใจทางด้านวิศวกรรม ทำให้สามารถมองเห็นปัญหา และโอกาสในการแก้ปัญหา รวมทั้งสร้างนวัตกรรม ให้เชื่อมโยงกับวิศวกรชีวการแพทย์ได้ จะเป็นลักษณะ Project Based Learning (PBL) โดยเน้นการทำ Project เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและการลงมือปฏิบัติจริง ให้เกิดทักษะการทำงานวิจัย เกิดกระบวนการคิด การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มุ่งส่งเสริมให้มีการทำงานวิจัย นวัตกรรม การตีพิมพ์ผลงานระดับนานาชาติ ในวารสารวิชาการต่างประเทศ ผ่านการทำวิทยานิพนธ์ ภายใต้การดูแลจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
ผู้เรียนสามารถเลือกแนวทางการทำวิจัยในด้านต่าง ๆ ได้ เช่น วิศวกรรมเนื้อเยื่อและระบบส่งยา ชีวสัญญาณและการประมวลผลภาพ วิศวกรรมฟื้นฟูอวัยวะประดิษฐ์ อุปกรณ์รับรู้ทางชีวภาพและอุปกรณ์ชีวการแพทย์ การคำนวณขั้นสูงทางการแพทย์ รวมทั้งหุ่นยนต์และศัลยกรรมบูรณาการคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ เชื่อว่าโครงการหลักสูตรร่วมแพทย์–วิศวะ (พ.บ. – วศ. ม.) จะสามารถผลิต “แพทย์นวัตกร” บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีศักยภาพในการทำงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่วงการสาธารณสุขไทยและประชาคมโลกได้เป็นอย่างดี
การสมัครเข้าศึกษา พ.บ. – วศ. ม.
เปิดรับสมัครโดยวิธีรับตรงผ่านระบบ TCAS รอบ Portfolio ของ ทปอ. และพิจารณาคัดเลือกโดยดูจาก Portfolio และสัมภาษณ์แบบ Multiple Mini Interview (MMI) รับนักศึกษาจำนวน 20 คนต่อปีการศึกษา โดยเป็นการรับตรงในรอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน มีการรับนักศึกษา แยกจากหลักสูตรแพทย์ปกติอย่างชัดเจน
รายละเอียดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต-วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้ทาง ลิ้งค์ และ Facebook Fanpage: RAMA By D