onlinenewstime.com : บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร
รวมถึง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ความรู้ และสนับสนุนการทำนาข้าวด้วยเครื่องจักรกลแบบครบวงจร ภายใต้โครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ตอน ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน
เพื่อแก้ปัญหาการเผาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน เดินหน้าโครงการส่งเสริมชาวนาไทย ทำเกษตรปลอดการเผา เพิ่มมูลค่าฟางข้าวเหลือทิ้งเป็นรายได้เสริม ไถกลบตอซัง เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แปลงนา
นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง มลพิษที่เกิดจาก PM 2.5 เป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น เป็นประจำทุกปี ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากการเผาในที่โล่ง กว่า 50% โดยเฉพาะในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งสถานการณ์จะหนัก ในช่วงพฤศจิกายน – พฤษภาคม
ส่วนในภาคกลางมักจะได้รับผลกระทบ จากการเผาตอซังในนาข้าว เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกข้าวในเขตชลประทานที่ทำนาปีละ 2 ครั้ง ซึ่งปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และ การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน
เพื่อลดปัญหาการเผา จากภาคการเกษตร จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับนโยบาย และมาตรการต่าง ของรัฐบาลที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การดำเนินการควบคุมการเผาตอซังข้าว ในพื้นที่เกษตรกรรม และควบคุมการเผาในที่โล่ง โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ให้ถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในชุมชน ให้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตร จัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาใช้ประโยชน์ทดแทนการเผา
ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร ได้รับความร่วมมือจาก บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดตั้ง โครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ขึ้น เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทย ทำการเกษตรแบบไม่เผา ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร อย่างครบวงจรในพืชที่กระทรวงดูแลรับผิดชอบ ได้แก่ ข้าวและข้าวโพด โดยตั้งเป้าพื้นที่เกษตรของไทยกว่า 140 ล้านไร่ ให้เป็นเกษตรปลอดการเผา 100% ภายใน 3 ปี
นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว ปีละประมาณ 70 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.40 ของพื้นที่ทำการเกษตร ในแต่ละปี มีฟางข้าวเหลือทิ้งในนาเฉลี่ย 27 ล้านตัน และมีตอซังข้าว ที่ตกค้างอยู่ในนาข้าวประมาณ 18 ล้านตัน ซึ่งฟางข้าว และตอซังข้าว เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่มีปริมาณมากที่สุด เมื่อเทียบกับตอซังพืชอื่น
โดยในพื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ มีปริมาณฟางข้าวและตอซัง โดยเฉลี่ยปีละ 650 กิโลกรัม นับเป็นปัจจัยหลัก ที่เกษตรกรส่วนมาก นิยมเผาตอซังข้าว เพื่อให้เกิดความสะดวกในการไถเตรียมดิน ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช และแมลงศัตรูพืช
แต่วิธีดังกล่าว จะทำให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนไป สูญเสียอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารในดิน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาทต่อปี หากเปลี่ยนเป็นวิธีไถกลบ ตอซังข้าวในพื้นที่ 1 ไร่ จะเป็นการเพิ่มธาตุอาหารหลักลงในดิน ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม คิดเป็นมูลค่า 900 บาท/ไร่ ซึ่งช่วยให้เกษตรกร ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ อีกทั้งไม่ทำลายจุลินทรีย์ และแมลงที่เป็นประโยชน์ การเผาตอซังพืช ทำให้ผิวดินมีอุณหภูมิสูงถึง 90 องศาเซลเซียส ทำให้สูญเสียน้ำในดิน ส่งผลให้ความชื้นในดินลดลง
โดยกรมการข้าว ได้จัดโครงการรณรงค์งดเผาฟาง และไถกลบตอซังพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาฟาง ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการไถกลบตอซังพืช ที่สามารถช่วยปรับปรุง สมบัติทางกายภาพ ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ง่ายต่อการเตรียมดิน เพิ่มธาตุอาหารทางเคมี ตรงตามที่พืชต้องการ ต้านทานความเป็นกรด-ด่าง และยังช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดิน อีกทั้งนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์ ในด้านอื่นๆ เช่น คลุมดินทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง หรืออัดฟางก้อนไปขาย เพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโค นอกจากนี้สามารถนำไปแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์จากฟางข้าว เพื่อสร้างรายได้เสริมทดแทนการเผาอีกด้วย
สำหรับโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ตอน ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน จะเป็นการเข้าไปให้ความรู้ แก่เกษตรกรชาวนา ในการเก็บเกี่ยวข้าวหลังฤดูกาลเพาะปลูก ร่วมถึงการทำเกษตรปลอดการเผา ด้วยการไถกลบตอซัง และนำฟางข้าวที่เหลือทิ้ง มาอัดเป็นฟางก้อน เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร โดยจะเน้นในพื้นที่เกษตร ที่มีการเผาสูง หรือจุด Hotspot 10 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อยับยั้ง การเกิดจุดความร้อนเพิ่มขึ้น และช่วยลดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมทางอากาศ
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงที่มาของโครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ว่า บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของการแก้ไขปัญหาในภาคการเกษตรอย่างเร่งด่วน จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” ขึ้น
เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกร ทำการเกษตรแบบไม่เผา ในพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว อ้อย และข้าวโพด พร้อมลงพื้นที่สนับสนุนการทำเกษตร ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจร และให้ความรู้ในด้านต่างๆ
ตั้งแต่การเพิ่มรายได้ จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกร ตระหนักถึงความสำคัญของอินทรียวัตถุ การรักษาความชื้นในดิน เพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิต และรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานร่วมกันในทุกภาคส่วน 3 ปีหลังจากนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่เกษตรปลอดการเผา 100%
โครงการ Zero Burn เกษตรปลอดการเผา จะเริ่มรณรงค์จากเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้ชื่อ ตอน “ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน” ซึ่งหลังการเก็บเกี่ยวข้าว เศษวัสดุเหลือใช้จากนาข้าว ทั้งฟางข้าวและตอซังข้าว โดยสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ ต่อชาวนาเป็นอย่างมาก หากเกษตรกร มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้งาน อย่างครบวงจร
ในส่วนของฟางข้าว เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าของฟางข้าวได้ ด้วยการอัดฟางข้าว จากเครื่องอัดฟางของคูโบต้ารุ่น HB135 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วง ทำให้ได้ก้อนฟางที่แน่น ลดการสูญเสียฟางข้าว สามารถอัดฟางได้วันละ 40-50 ไร่ ได้ก้อนฟางถึง 1,250 ก้อนต่อวัน รายได้จากการรับจ้างอัดฟาง จะมีมูลค่าอยู่ที่ 13 บาทต่อก้อน ก้อนฟางเหล่านี้ นำไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ อาทิ โคนม โคเนื้อ สัตว์เคี้ยวเอื้อง เพื่อการพาณิชย์ ช่วยให้เกษตรกร ลดต้นทุนสำหรับฟาร์มโคเนื้อ ตลอดจนสร้างรายได้เสริม
นอกจากนี้ หากมีการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ที่ผ่านกรรมวิธีการหมัก ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ซึ่งเป็นสารจุลินทรีย์ ที่ผลิตโดย กรมพัฒนาที่ดิน มีคุณสมบัติในการย่อยสลาย วัสดุการเกษตรในลักษณะสด อวบน้ำ หรือมีความชื้นสูง เพื่อผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ ด้วยเครื่องพ่นอเนกประสงค์ ที่มีคุณสมบัติฉีดละอองละเอียดถึง 70 ไมครอน กระจายตัวแทรกซึมทั่วพื้นที่
รวมถึงนวัตกรรมใหม่ โดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งจะฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ก่อนการไถกลบตอซัง เพื่อช่วยปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช
สุดท้ายเป็นการไถกลบตอซังข้าว ด้วยผานพรวน ตราช้าง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วง สำหรับไถกลบเศษตอซัง ที่ถูกออกแบบให้ เป็นกระทู้แยก ใช้งานได้เอนกประสงค์ ไถพรวนดินได้ลึก กลบ หรือสาดดินได้ดี ลดปัญหาฟางหมุน ช่วยทำให้ดินมีความโปร่ง ร่วนซุย ระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้น ง่ายต่อการเตรียมดินในการเพาะปลูกครั้งต่อไป