www.onlinenewstime.com : อาบีจาน (Abidjan) เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ ( Côte d’Ivoire) และมีประชากรประมาณ 4.5 ล้านคน ซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ เป็นอันดับ 3 ของโลก
ในทุกๆวัน อาบีจาน ผลิตขยะพลาสติกถึง 288 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าวิตก แต่ถ้าขยะเหล่านี้ สามารถนำไปรีไซเคิล เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ได้ก็คงจะดีไม่น้อย
องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (Unicef) ร่วมมือกับ Conceptos Plásticos บริษัทสัญชาติโคลัมเบีย ซึ่งทำธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้ว มาเป็นวัสดุก่อสร้างทางเลือก ได้ร่วมมือกับ Unicef รวบรวมขยะพลาสติก ในประเทศแอฟริกาตะวันตก และเปลี่ยนเป็นก้อนอิฐรีไซเคิล เพื่อสร้างห้องเรียน
เด็ก ๆ ในโกตดิวัวร์ จะได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น เพราะจากปัญหาการขาดแคลนห้องเรียนอย่างรุนแรงในประเทศ เด็กจำนวนมาก จึงยังคงอยู่นอกระบบการศึกษา แม้ว่าการศึกษาจะเป็นข้อบังคับ สำหรับเด็กทุกคน ที่มีอายุระหว่าง 6 ถึง 16 ปี แต่ก็มีเด็กมากกว่า 2 ล้านคนในโกตดิวัวร์ ที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน เนื่องจากมีห้องเรียนไม่เพียงพอ ถึงขนาดที่ในโรงเรียนอนุบาลบางแห่ง รับนักเรียนเกินอัตรามากถึง 100 คนต่อ 1 ห้องเรียน
โดยขยะพลาสติก จะถูกหลอมและเทลงในแม่พิมพ์ เพื่อผลิตเป็นก้อนอิฐ โดยออกแบบให้สามารถต่อเข้าด้วยกัน เหมือนชิ้นส่วนเลโก้ อิฐทนไฟชนิดใหม่นี้ มีราคาถูกกว่าอิฐทั่วไปถึง 40% น้ำหนักเบากว่า 20% และมีอายุการใช้งานนานเป็นร้อยปี ซึ่งแน่นอนว่าทนทานกว่าวัสดุก่อสร้างทั่วไป นอกจากนี้ วัสดุยังกันน้ำ เป็นฉนวนอย่างดี แถมออกแบบมาเพื่อต้านทานลมแรง
ยูนิเซฟ กล่าวว่า เมื่อโรงงานเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ถึงปีละ 9,600 ตัน รวมถึงจะเป็นแหล่งรายได้ให้กับผู้ยากไร้ในท้องถิ่นอีกด้วย
ผลงานต้นแบบของห้องเรียนที่สร้างจาก อิฐพลาสติกรีไซเคิล อยู่ที่โกตดิวัวร์ ในเขตชานเมืองของอาบีจาน และในปีหน้ายูนิเซฟ และ Conceptos Plásticos วางแผนที่จะสร้างห้องเรียนใหม่เพิ่มขึ้นในโกตดิวัวร์
อย่างไรก็ตาม โกตดิวัวร์ ยังต้องการห้องเรียนเพิ่มอีกถึง 15,000 ห้องเรียน เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาของเยาวชน โดยในช่วงแรกของความร่วมมือ มีการตั้งเป้าหมายจะสร้างห้องเรียนให้ได้ถึง 500 ห้องในเมืองอาบีจาน และโดยรอบ ซึ่ง อาบีจาน กำลังจะเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุด ในอีกสองปีข้างหน้า
ทั้งนี้ยังมีแผนการขยายโครงการ ไปยังประเทศ และภูมิภาคอื่น ๆอีกด้วย Henrietta Fore ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของเรา ก็คือการสร้างโอกาส โครงการนี้เป็นมากกว่าโครงการจัดการขยะ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการศึกษา แต่มันเปรียบเสมือนการสร้างสิ่งที่เป็นไปได้ ใช้งานได้จริง ความท้าทายใหญ่ คือการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติก ที่ต้องถูกเปลี่ยนเป็นสิ่งก่อสร้าง ถือเป็นงานที่ต้องทำ เพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต”
ในวันนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี และประทับใจ เมื่อห้องเรียนสร้างใหม่ เต็มไปด้วยเด็กๆที่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้