Onlinenewstime.com : โลตัส ร่วมมือกับพันธมิตร คูห์เน่ พลัส นาเกิ้ล ประเทศไทย นำรถไฟฟ้า หรือ อีวี (Electric Vehicles: EVs) ระบบไฟฟ้าเต็มรูปแบบ มาใช้ขนส่งและกระจายสินค้าช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 24.7 ตันต่อรถบรรทุกหนึ่งคันในหนึ่งปี
ต่อยอดพัฒนาการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และได้มีการตั้งเป้าหมายที่ต่อเนื่องคือ การมุ่งสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
นายเอกชัย ภูษณะพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์การกระจายสินค้า โลตัส กล่าวว่า “หนึ่งในพันธสัญญาของโลตัสคือการดำเนินธุรกิจด้วยวิถีแห่งความยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ระบบการขนส่งและกระจายสินค้าเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่สำคัญของธุรกิจค้าปลีกแบบ omni-channel ที่ทำหน้าที่ขนส่งและกระจายสินค้าตั้งแต่ผลิตหรือแหล่งเพาะปลูก ไปยังศูนย์กระจายสินค้า และสาขาทั่วประเทศ
การร่วมมือกับพันธมิตร คูห์เน่ พลัส นาเกิ้ล ประเทศไทย ในการเปลี่ยนจากรถบรรทุกขนส่งที่ใช้น้ำมันดีเซล มาเป็นรถไฟฟ้า (EV) ที่ใช้ระบบไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ นับเป็นก้าวที่สำคัญของโลตัส และธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เบื้องต้นเราได้เริ่มนำร่องใช้รถไฟฟ้าในการขนส่งกระจายสินค้าประเภทเบเกอรี่ ซึ่งมีแผนจะขยายเส้นทางและจำนวนรถเพิ่มเติมในอีก 5 เส้นทางในกรุงเทพฯ และอีก 21 เส้นทางในต่างจังหวัดในอนาคต
โดยการเปลี่ยนรถขนส่งเหล่านี้เป็นรถระบบไฟฟ้าแทน คาดว่าจะส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 24.7 ตันต่อรถบรรทุกที่ใช้นำมันดีเซลแต่ละคันในแต่ละปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมของบริษัทอย่างมาก ตามเป้าประสงค์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์”
บียอร์น โชน (Bjoern Schoon) กรรมการผู้จัดการ คูห์เน่ พลัส นาเกิ้ล ประเทศไทย กล่าวว่า “เรารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ โครงการรถยนต์ไฟฟ้านับเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และคูห์เน่ พลัส นาเกิ้ล จะมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ลูกค้าได้บรรลุสู่เป้าหมายและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”
นอกเหนือจากการเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าในการขนส่งสินค้าแล้ว โลตัส ยังมีโครงการติดตั้งระบบโซล่าร์เซลล์บนหลังคาของสาขาและศูนย์กระจายสินค้าในปัจจุบันทั้ง 128 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีกำลังการผลิตรวม 116.3 ล้านหน่วยต่อปี โดยโครงการต่าง ๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานด้านความยั่งยืนในการก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050