onlinenewstime.com : ผศ.พญ.อัจฉรา กุลวิสุทธิ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในปัจจุบันมีการรับประทานยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเจ็บป่วย ปวดหัว ปวดฟัน ปวดแผล ก็ต้องรับประทานยาแก้ปวด
โดยยาแก้ปวดนั้น กลายเป็นยาสามัญประจำบ้าน บ้านไหนไม่มีนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีติดอยู่ที่บ้านไว้อยู่เสมอ ส่วนเรื่องยาคลายกล้ามเนื้อ ก็เหมือนกัน มักจะรับประทานกันอย่างแพร่หลาย เพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดแขน ปวดขา แก้เมื่อยล้าจากการทำงานหรือการออกกำลังกาย
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเลือกใช้
“ยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อใช้อย่างไรให้ถูกต้อง” ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
ในเวลาที่เราใช้ยาแก้ปวด จริง ๆ จะต้องคำนึงถึงประเด็นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ อันดับแรก คือ “ถูกโรค”
เราจะต้องรู้ว่าโรคของเรา คือ โรคอะไรก่อน ซึ่งโดยทั่วไปอาการปวดที่พบบ่อย ๆ มักจะมีอาการปวดจากกล้ามเนื้อเส้นเอ็น ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ก็ได้เพราะว่าอาการค่อนข้างเด่นชัด เช่น ปวดไหล่ มีจุดกดเจ็บเฉพาะที่ อันนี้ก็เป็นลักษณะการปวดจากเส้นเอ็น สามารถซื้อยาได้จากร้านขายยาเองได้เลย
ถ้าหากว่ามีอาการของกล้ามเนื้อตึงตัวผิดปกติ ยาที่ใช้ควรจะเป็นยาคลายกล้ามเนื้อ
แต่ว่าเราปวดเฉย ๆ โดยไม่มีกล้ามเนื้อตึงตัวผิดปกติ ก็ควรจะเป็นยาแก้ปวด ซึ่งจะเป็นคนละกลุ่มกัน ซึ่งจะต้องเลือกใช้ให้ถูกต้องหรือถ้าเกิดเป็นอาการปวดที่มีการอักเสบ เช่น ข้ออักเสบร่วมด้วย ยาที่ใช้ก็จะแรงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
ถ้ามีอาการปวดธรรมดา เราอาจจะใช้ อาเซตฟิโนเฟ่น หรือพาราเซตามอล ที่เรารู้จักการดีโดยทั่วไป แต่หากว่ามีอาการอักเสบร่วมด้วย เช่น ข้ออักเสบ หรือ เอ็นอักเสบ ก็จะเป็น กลุ่มยาที่จะเพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จะเป็นกลุ่มที่เรียกว่า ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
มีข้อแนะนำในการรับประทานยา ทั้ง 2 ชนิดนี้ จะต้องใช้ให้ “ถูกขนาด และ ถูกเวลา” เนื่องจากมีขนาด วิธีให้ยา และ ข้อควรระวังที่แตกต่างกัน
สำหรับยาพาราเซตามอลนั้นขนาดที่ใช้ในปัจจุบันมักจะใช้ผิดกันอยู่เสมอ ในปัจจุบันแนะนำว่าควรจะรับประทานแค่ 1 เม็ด หรือ 500 มิลลิกรัม ต่อครั้งเท่านั้น ไม่ควรรับประทาน 2 เม็ดทุก ๆ 6 ชั่วโมง อย่างที่สมัยก่อนใช้กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับได้ โดยข้อดีของยาพาราเซตามอลจะปลอดภัยมาก ซื้อหาได้ง่ายเหมาะสำหรับการปวดที่ไม่รุนแรง
ส่วนยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ มีความแรงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง และมีหลายชนิด ขนาดที่ใช้ขึ้นกับแต่ละชนิด และ มีผลข้างเคียงมากกว่ายาพาราเซตามอล โดยทำให้เกิดการระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร ทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารได้ อาจทำให้ไตวาย และ มีผลทำให้หลอดเลือดอุดตันเพิ่มขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง
ดังนั้นยาในกลุ่มนี้ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหรือสูงอายุ เพื่อแพทย์จะมีแนวทางการป้องกันความผิดปกติจากผลข้างเคียงของยาหรือเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งอาจจะปลอดภัยมากกว่า ทั้งนี้ เมื่ออาการและอาการแสดงของโรคหรือภาวะดังกล่าวหายหรือทุเลาลง ควรหยุดยา เนื่องจากหากให้เป็นระยะเวลานาน อัตราการเกิดผลข้างเคียงจะสูงขึ้น