fbpx
News update

ใส่ใจความงาม ต้องฉลาดซื้อเครื่องสำอางให้ปลอดภัย

onlinenewstime.com : ผลิตภัณฑ์ดูแลเรื่องความสวยความงาม ในปัจจุบัน นับว่าเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ใช้กันทุกเพศทุกวัย และทุกๆวัน มีประเภทผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ให้เลือกใช้ในทุกส่วนของร่างกาย

แม้ว่าผู้บริโภคปัจจุบัน จะมีความรู้ความเข้าใจ และหาข้อมูลกันได้จากอินเตอร์เน็ต อย่างไม่รู้จบ แต่เราก็ยังพบปัญหาเครื่องสำอางปลอม ผิวหน้าพัง ไปจนถึงการรับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว สาเหตุเกิดจากความรู้ไม่เท่าทัน และการหลงเชื่อสรรพคุณเกินจริงจากผู้จำหน่าย

คำว่า “เครื่องสำอาง” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ ใช้กับผิวกายภายนอก ทั้งเพื่อความสะอาด และความสวยงาม มีการแต่งกลิ่น และสามารถปกป้อง หรือส่งเสริมให้ร่างกายส่วนนั้นๆ ดูดีขึ้นได้  จนกลายเป็นส่วนหนึ่ง ของชีวิตประจําวัน ตั้งแต่ โลชั่น ครีมบํารุงผิว  น้ำหอม  โคโลญจน์  ลิปสติก  ครีมรองพื้น  ทาแก้ม  แต่งตา  ยาทาเล็บ  ยาล้างเล็บ  ผลิตภัณฑ์แต่งผม  ระงับกลิ่นกาย  สบู่  แชมพู  ครีมนวดผม  ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ไปจนถึงผ้าอนามัย

ซึ่งมีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบ สี กลิ่น  ผู้บริโภค สามารถเลือกใช้ได้ โดยใช้ปัจจัยส่วนตัวในการกำหนด ทั้งความชอบ ความคุ้มค่า  สมราคา  แต่ปัจจัยหลัก ที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ ความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เป็นเครื่องสําอางที่ปลอดภัย ใช้แล้วได้ผลตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง

คําจำกัดความตามกฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เครื่องสําอาง หมายถึง วัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้ทา ถู นวด โรย  พ่น  หยอด  ใส่  อบ  หรือกระทําด้วยวิธีอื่นใด  ต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย  เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริม ให้เกิดความสวยงาม และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับ และเครื่องแต่งตัว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย

โดยสรุป เครื่องสำอางคือ  ผลิตภัณฑ์ ที่ใช้กับร่างกายมนุษย์  เพื่อความสะอาด  และความสวยงามเท่านั้น  และถ้ามีการกล่าวอ้างสรรพคุณ ที่เกินกว่าคุณสมบัติ 2 ประการนี้ เช่น อ้างว่า สามารถบําบัด บรรเทา รักษาโรค ป้องกันโรค หรือมีผล ต่อโครงสร้าง หรือการทําหน้าที่ต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นสรรพคุณทางยา ผลิตภัณฑ์นั้นต้อง จัดเป็น “ยา” ไม่ใช่เครื่องสําอาง

ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ปลูกผม เสริมทรวงอก ลดไขมัน ลดความอ้วน กระชับจุดซ่อนเร้น ฆ่าเชื้อโรค ลดอาการผิวหนังอักเสบ แก้คัน ซึ่งเป็นการแสดงสรรพคุณทางยา จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นยา

อย่างไรก็ตาม สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา  กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกกฎหมาย ที่เกี่ยวกับเครื่องสําอางเช่นกัน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้รับความปลอดภัย จากการใช้เครื่องสําอางมากขึ้น โดยหลักการสําคัญ คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสําอางทุกชนิด จัดเป็นเครื่องสําอางควบคุม

ดังนั้น เครื่องสําอางที่ขายในท้องตลาดปัจจุบัน  ล้วนจัดเป็นเครื่องสําอางควบคุม ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องมาจดแจ้ง ต่อสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนการผลิต หรือการนําเข้า และเพื่อความปลอดภัย ในการเลือกใช้เครื่องสำอาง ก่อนเลือกซื้อ จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้ดี     

การเลือกซื้อเครื่องสําอาง

  1. ซื้อเครื่องสําอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่ง  เชื่อถือได้ เพราะเมื่อเกิดปัญหา จะสามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้
  2. ซื้อเครื่องสําอางที่มีฉลากภาษาไทย โดยฉลากต้องใช้ข้อความที่มองเห็น และอ่านได้ชัดเจน
  3. ฉลากภาษาไทยต้องระบุข้อความที่จําเป็น ดังนี้
    • ชื่อเครื่องสําอาง และชื่อทางการค้าของเครื่องสําอาง
    • ประเภทหรือชนิดของเครื่องสําอาง
    • ชื่อของสารทุกชนิด ที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต เรียงลําดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย
    • วิธีใช้เครื่องสําอาง
    • ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต กรณีเป็นเครื่องสําอางที่ผลิตในประเทศ
    • ชื่อและที่ตั้งของผู้นําเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต กรณีเป็นเครื่องสําอางนําเข้า
    • ปริมาณสุทธิ
    • เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต
    • เดือน ปีที่ผลิต
    • เดือน ปีที่หมดอายุ ในกรณีที่เป็นเครื่องสําอาง ที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน เช่น มีส่วนผสมของ Hydrogen peroxide
    • ถ้าฉลากมีพื้นที่น้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร ให้แสดงเฉพาะชื่อเครื่องสําอาง และชื่อทางการค้าของเครื่องสําอาง และเลขที่แสดงครั้งที่ผลิต รายละเอียดอื่น ให้แสดงในเอกสารกํากับเครื่องสําอาง
  4. ซื้อเครื่องสําอาง ที่มีภาชนะบรรจุหีบห่ออยู่ในสภาพดี ไม่แตกรั่ว และมีการเก็บรักษาอย่างดี ไม่อยู่ในที่ร้อนชื้นหรือโดนแสงแดด
  5. อย่าหลงเชื่อคําโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

ข้อแนะนําในการใช้เครื่องสําอาง

  1. อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด โดยเฉพาะวิธีใช้ และคําเตือน
  2. ควรมีการทดสอบก่อนใช้ โดยการทาเครื่องสําอาง ในปริมาณเล็กน้อย ที่บริเวณท้องแขน แล้วทิ้งไว้ 24 – 48 ชั่วโมง หากไม่มีความผิดปกติ แสดงว่าปลอดภัย
  3. เมื่อใช้เครื่องสําอางเสร็จแล้ว ต้องปิดให้สนิท และเก็บไว้ในที่ไม่โดนแสงแดด
  4. อย่าแบ่งปัน หรือใช้เครื่องสําอางร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  5. เมื่อเครื่องสําอางมีลักษณะ สี กลิ่น หรือความข้น เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อย่าเสียดาย ให้ทิ้งไป
  6. หากใช้เครื่องสําอางใดแล้ว มีความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ครั้งแรก หรือใช้มานาน ต้องหยุดใช้ทันที และรีบไปพบแพทย์

หากมีการไตร่ตรองให้ดี ก่อนใช้เครื่องสำอาง ไม่หวังผลเลิศ หรือเชื่อคำโฆษณาสรรพคุณเกินจริงจากผู้ขาย จะไม่พาตนเองไปเสี่ยงกับปัญหา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการแก้ปัญหาความงาม หรือปัญหาสุขภาพที่ตามมา อาจเป็นภาระที่หนักกว่าคาดคิดอีกหลายเท่า

หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ เวปไซด์ และ เวปไซด์

Cr. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา