fbpx
News update

ไฟป่าอีกต้นเหตุ PM 2.5 ภัยพิบัติที่ 90 % เกิดจากน้ำมือมนุษย์

Onlinenewstime.com : สถานการณ์ไฟป่าทั่วโลก ที่เป็นประเด็นร้อน ไล่เรียงมาจากเหตุไฟไหม้ป่าอเมซอน ที่เปรียบเสมือนปอดของโลก นานกว่า 3 สัปดาห์ มาถึงเหตุสะเทือนใจล่าสุดที่ประเทศออสเตรเลีย

หันมามองในประเทศไทย ที่มีความรุนแรงของเหตุไฟป่าครั้งใหญ่เกิดขึ้นเช่นกัน ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน ปี 2562 เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ บนดอยจระเข้ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และในช่วงปลายปี เหตุไฟป่าพรุควนเคร็ง กินพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา

จากข้อมูลสถิติการเกิดเหตุไฟป่าในไทย ของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำให้เห็นตัวเลขจำนวนครั้งที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปี 2553 – ปี 2562 เพิ่มขึ้น 8% รวมทั้งกินพื้นที่เป็นวงกว้างจนน่าวิตก คือเพิ่มขึ้นถึง 82%

เมื่อเจาะลึกลงไปใน 2 สาเหตุของการเกิดไฟป่า บางส่วนมาจากภัยธรรมชาติ สภาพความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สาเหตุหลักของไฟป่า ที่มีกว่า 90% เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทั้งการเผาไร่ หาของป่า การล่าสัตว์ การเลี้ยงปศุสัตว์ นักท่องเที่ยว ฯลฯ

Hot Spot ข้อมูลจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น

“ไฟป่า” สำหรับประเทศไทย อาจเป็นเรื่อง “ไกลตัว”

แต่รู้หรือไม่ว่าข้อมูลจุดความร้อนหรือฮอตสปอต ชี้ชัดว่าสถานการณ์ไฟป่า เป็นอีกตัวก่อการที่สร้างปัญหาหมอกควัน ให้เกิดฝุ่นพิษจนถึงขั้นวิกฤตในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วง 120 วันอันตราย 1 มกราคม – 30 เมษายน ของทุกปีนั้น เป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

จากการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ผ่านข้อมูลจุดความร้อนดาวเทียมระบบ MODIS  โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสดา  ระหว่างวันที่ 1-16 มกราคม ปี 2563  พบว่า “พื้นที่การเกษตร” มีจำนวนจุดความร้อนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง

จะเห็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เมื่อเปรียบเทียบจุดความร้อน ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 และยังพบว่า “พื้นที่ป่าอนุรักษ์” มีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้น เป็น 13.04%  จากเดิมที่ 4.04% ในปี 2562

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อมูลจุดความร้อน “พื้นที่ป่าอนุรักษ์” ที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับ “พื้นที่เกษตร” ที่มีจำนวนจุดความร้อนลดลง คือ 41.34% จากเดิมอยู่ที่ 52.31% ในปี 2562

ถึงตอนนี้ เมื่อได้เห็นข้อมูลและแนวโน้มที่น่าตกใจของการจุดไฟในป่า ที่ลุกลามเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ล้วนมาจากกิจกรรมของมนุษย์

ดังนั้นการป้องกันสกัดภัยพิบัติไฟป่า และหมอกควันพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ไม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย คงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องช่วยกัน