onlinenewstime.com : ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่า และด้านประเมินราคาทรัพย์สิน แจงประเภทต้นไม้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4 กลุ่ม ที่สามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ พร้อมแนะวิธีการประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น เปรียบเทียบราคาตลาด ให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงมากที่สุด
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึง หลักสูตรการอบรม ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดให้ความรู้แก่ ผู้บังคับหลักประกัน สถาบันการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ประเด็น “ต้นไม้มีมูลค่า ประเมินราคาอย่างไร” โดยหัวข้อการอบรมคือ 1) ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ 2) การประเมินมูลค่าต้นไม้ เพื่อให้ผู้เข้าอบรม ได้รับความรู้เชิงลึก จากกูรูเฉพาะด้าน ให้เข้าใจถึงการนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่า ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ หัวหน้าภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้คำอธิบาย ความหมายของคำว่า “ไม้ยืนต้น” ตามกฎกระทรวงพาณิชย์ว่า “คือต้นไม้ชนิดใดๆ ที่มีศักยภาพ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ การปลูกต้นไม้ถือเป็นการลงทุน และหากไม้ยืนต้นที่ปลูก มีอัตราการเจริญเติบโตช้า การปลูกไม้ยืนต้นนั้น ก็จะเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องสร้างแรงจูงใจ และต้องการกลไกทางการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมทั้ง การปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมาย ให้การปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถตัด จำหน่าย ทำไม้ได้อย่างสะดวก การให้องค์ความรู้ทางวิชาการ ในเรื่องการปลูก การเลือกพันธุ์ไม้ และพื้นที่ปลูก ก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ”
ปัจจุบันมีการแยกประเภทพันธุ์ไม้ ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ ตามโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นทุนระยะยาว โดยใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับ อัตราการเติบโต รอบตัดฟัน และมูลค่าของเนื้อไม้ มาใช้แบ่งต้นไม้ออกเป็น 4 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ กลุ่มนี้จะมีมูลค่าต่ำ เช่น ยูคาลิปตัส สัตตบรรณ กระถินเทพา กระถินณรงค์ ฯลฯ
กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา กระบาก สะตอ ฯลฯ
กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง ได้แก่ สัก ฯลฯ
กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม มะค่าโมง ฯลฯ
“สำหรับต้นไผ่ในทางวิชาการ ไม่ถือเป็นไม้ยืนต้น แต่ปัจจุบันมีการนำไม้ไผ่มาแปรรูป และทำประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น การนำไม้ไผ่ มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ สามารถทำได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของคู่สัญญา ระหว่างผู้ให้หลักประกัน และผู้รับหลักประกันที่จะตกลงกัน แต่ในมุมมองของไม้มีค่า “ไผ่” ถือเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญของประเทศ”
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินราคาทรัพย์สิน นายไพรัช มณฑาพันธุ์ นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย ได้กล่าวว่า
“การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น เพื่อรับเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่กำหนดให้ไม้ยืนต้น สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันนั้น ก็เพื่อให้ “ต้นไม้” ซึ่งมีมูลค่าในตัวเอง โดยไม่ถือเป็นส่วนควบของที่ดิน สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกัน ในการขอสินเชื่อ แต่เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักเกณฑ์ การประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้หลักวิธีการประเมินทรัพย์สินอื่นที่เทียบเคียง โดยวิธีการประเมินทรัพย์สิน ที่เป็นมาตรฐานสากลโดยทั่วไปจะใช้หลัก IVSC (International Valuation Standards Council) แบ่งเป็น 3 วิธี ได้แก่”
วิธีที่ 1 การประเมินโดยคิดจากมูลค่าต้นทุน (Cost Approach) คือ มูลค่าของไม้ยืนต้น จะเท่ากับผลรวมของต้นทุนทั้งหมดในการพัฒนาผลผลิต ได้แก่ ต้นทุนเริ่มเตรียมการ การพัฒนาดิน ค่ากล้าไม้ และต้นทุนอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยจ่าย เบี้ยประกัน ค่าแรง ค่าใช้จ่ายอื่นๆในการประกอบการ วิธีนี้จะไม่คำนึงถึงศักยภาพของผลผลิต และการเติบโตในอนาคต ดังนั้น ต้นทุนที่สูง ไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าตลาด ว่าจะสูงตามไปด้วย
วิธีที่ 2 การประเมินโดยเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) วิธีการนี้ เป็นการวิเคราะห์มูลค่า จากการซื้อขายต้นไม้จริง การเปรียบเทียบราคา การใช้ข้อมูลทางสถิติ ข้อมูลราคาไม้แปรรูปในตลาดเปิด เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) สำนักงานส่งเสริมปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ เป็นต้น รวมทั้งการพิจารณา มูลค่ามาตรฐานไม้ยืนต้น แก่นไม้ กระพี้ เปลือก วิธีนี้จะสะท้อนมูลค่าของตลาด แต่ข้อมูลที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบราคา จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ สำหรับการประเมินราคาด้วย
วิธีที่ 3 การประเมินโดยคิดจากรายได้ (Income Approach) คือ การประเมินมูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนสุทธิ ที่จะได้มาในอนาคต ด้วยการจัดทำประมาณการกระแสเงินสด (รายรับ-รายจ่าย) แล้วคิดลดกลับมา เป็นมูลค่าปัจจุบัน ข้อมูลสำหรับการประเมินได้ จากการประมาณการปริมาตรไม้ยืนต้นบนแปลงที่ประเมิน มูลค่าตามอายุไม้ที่สามารถตัดไปทำประโยชน์ได้
นายไพรัชฯ กล่าวว่า “วิธีการประเมินไม้ยืนต้น ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย คือ การประเมินราคาโดยเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) โดยสืบหาและเทียบเคียงราคาซื้อขายในตลาด ให้ได้ราคาที่ใกล้เคียงมากที่สุด เพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ปัจจุบันมีการซื้อขายต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ครบถ้วน แพร่หลาย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีราคากลาง เพื่อเป็นมาตรฐานในการประเมินราคาต่อไป”
ขณะเดียวกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เตรียมหารือสถาบันการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บ.ส.ย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในประเด็นนี้ เพื่อให้สถาบันการเงิน เปิดรับไม้ยืนต้น มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ปัญหา-อุปสรรค และแนวทางการแก้ เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้มากที่สุด และเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และประชาชนทั่วไป ที่ต้องการนำไม้ยืนต้นมีค่า มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ หรือเพื่อการกู้เงิน