fbpx
News update

‘ไม้ยืนต้น’ พระเอกใหม่ยุค New Normal

Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ ธ.ก.ส. เดินหน้าผลักดัน ‘ไม้ยืนต้น’ เป็นพระเอกใหม่ยุค New Normal ลงพื้นที่ จ.อุทัยธานี กระตุ้นเกษตรกร ปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองมากขึ้น มั่นใจเกิดประโยชน์ต่อครอบครัวระยะยาว พร้อมตรวจวัด และประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น ก่อนมอบวงเงินสินเชื่อให้เกษตรกร 2 ราย ที่นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันขอสินเชื่อ วงเงินรวมกว่า 6 แสนบาท

นางสาวปัทมาวดี บุญโญภาส รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์) ได้มอบหมายให้เป็นผู้แทนกรมฯ  ลงพื้นที่ จ.อุทัยธานี ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พบปะตัวแทนเกษตรกร และผู้นำชุมชน ในการขับเคลื่อนให้มีการปลูกไม้ยืนต้น บนที่ดินของตนเองมากขึ้น

โดยให้รายละเอียด ถึงประโยชน์ของการปลูกไม้ยืนต้นในระยะยาว ที่สามารถนำมาเป็นหลักประกัน การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคง ให้แก่ครอบครัวในอนาคต”

“การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้เดินทางไปที่ ธนาคารต้นไม้บ้านหนองจิก อ.หนองฉาง โดยมีการชี้แจงถึงนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในการผลักดันให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น บนที่ดินของตนเอง และนำไม้ยืนต้นนั้น มาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อ จากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปต่อยอดทำการเกษตร หรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน

เป็นการช่วยให้เกษตรกร สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรบ้านหนองจิกใ ห้ความสนใจปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ มักจะใช้พื้นที่การเกษตร ในรูปแบบผสมผสาน คือ การปลูกไม้ยืนต้น สลับกับการปลูกพืชผักสวนครัว โดยมีการแบ่งพื้นที่การเพาะปลูกที่ชัดเจน ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ จากพื้นที่เกษตรกรรมอย่างคุ้มค่าที่สุด”

 “นอกจากนี้ กรมฯ ได้ให้คำแนะนำการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในชุมชน ให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ให้มีความทันสมัยตรงความต้องการของตลาด พร้อมบรรจุในบรรจุภัณฑ์ ที่มีความสวยงาม

รวมถึง การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยกรมฯ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยพัฒนาสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึง อบรมการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

โดยหลังจากที่ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว กรมฯ พร้อมประสานผู้แทนจำหน่าย ซัพพลายเออร์ และผู้แทนห้างสรรพสินค้า ที่เป็นพันธมิตรกับกรมฯ มาคัดสรรสินค้าเพื่อขึ้นจำหน่ายบนศูนย์การค้า โมเดิร์นเทรด สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ฯลฯ และผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อกระตุ้นยอดขาย สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างการจดจำให้แก่ผู้บริโภค เป็นการขยายช่องทางการตลาด ให้มีความหลากหลาย เพิ่มรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นมากขึ้น”     

นายอดิเรก วงษ์คงคำ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาชนบท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า “ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้มาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อส่งเสริม และสนับสนุน ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ตามแนวทางพระราชดำริ ‘ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง’ ปลูกไว้กิน ไว้ใช้ ไว้ขาย และรักษาสิ่งแวดล้อม ในที่ดินตนเองและชุมชน

สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ในการจัดการทรัพยากรชุมชนร่วมกัน สามารถพึ่งตนเองได้ ในระดับครอบครัว ชุมชน และเชื่อมโยงเครือข่ายระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ

จนถึงปัจจุบัน มีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 6,848 ชุมชน โดยส่งเสริมให้มีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 2 ล้านต้นต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ สามารถนำไม้ยืนต้นนั้น มาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย พลังงาน อาหาร ยารักษาโรค และระบบนิเวศ ป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตของสังคมและสิ่งแวดล้อม

รวมทั้ง เพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ สร้างห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของการผลิตทางการเกษตรและต้นไม้ เพิ่มขีดความสามารถ ในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากอีกด้วย”

รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า  “การลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมฯ ธ.ก.ส. และกรรมการธนาคารต้นไม้ ได้ร่วมกันตรวจวัด และประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นของเกษตรกรที่แสดงความประสงค์ ขอใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และ ธ.ก.ส.ได้ มอบวงเงินสินเชื่อแก่เกษตรกร จำนวน 2 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 520,437.09 บาท

โดยได้นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันจำนวนรวม 30 ต้น ได้แก่ ยาง 23 ต้น แดง 1 ต้น ประดู่ป่า 1 ต้น มะหาด 1 ต้น รกฟ้า 1 ต้น เสลา 1 ต้น และ พะยอม 2 ต้น โดยเกษตรกรทั้ง 2 ราย ต่างรู้สึกดีใจ ที่ได้รับวงเงินสินเชื่อจากการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันโดยไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้

ทำให้ไม้ยืนต้นนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของต้นไม้ เกษตรกร จึงสามารถขยายวงเงินการขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ ในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจฯ ที่ต้องการให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้ง่ายสะดวกมากขึ้น”

“กรมฯ และ ธ.ก.ส. เตรียมลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อน สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป เห็นถึงความสำคัญของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองอย่างต่อเนื่อง

เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน ‘โครงการชุมชนไม้มีค่า’ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้มีค่าเ พื่อการออม/อนุรักษ์/เพิ่มพื้นที่ป่า และเพิ่มแหล่งออกซิเจนให้กับประเทศ

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 105,381 ต้น มูลค่ารวม 131,649,237.00 บาท เกษตรกรที่สนใจ…สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4944 สายด่วน 1570 เว็บไซต์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย