fbpx
News update

9 ข้อปฏิบัติห่างไกลโรคกรดไหลย้อน

Onlinenewstime.com : โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของหลายๆคน โดยเฉพาะการมีพฤติกรรมที่เร่งรีบ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือรับประทานอาหารในปริมาณมากและในยามวิกาล

กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร สาเหตุเกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ หน้าอกหรือลำคอ และมีอาการเรอมีกลิ่นเปรี้ยว และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การอักเสบของหลอดอาหารอีกด้วย

อาการที่พบบ่อยในโรคกรดไหลย้อน

  • แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก ซึ่งมักเกิดหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ
  • มีความรู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ
  • อาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ
  • มีอาการจุกเสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่

อาการอื่นๆที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อน

  • อาการเจ็บหน้าอก
  • เสียงแหบเรื้อรัง หรือเสียงเปลี่ยน
  • มีอาการไอเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
  • การกลืนติดขัด รู้สึกเหมือนมีก้อนในคอ
  • อาการทางช่องปาก เช่น ฟันผุ มีกลิ่นปาก
  • โรคหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเหมือนปกติ

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

  • หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่กลืนอาหาร
  • ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร
  • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ
  • เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
  • พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานเสร็จแล้วนอนทันที การรับประทานของมัน มากเกินไป
  • ภาวะความเครียด  โดยผู้ที่มีความเครียด มักมีภาวะหลอดอาหารที่มีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น หลอดอาหารอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย จะมีอาการแสดงทันที
  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคอ้วน การตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม การรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น

9 ข้อปฏิบัติห่างไกลโรคกรดไหลย้อน

สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ 9 ข้อปฏิบัติเพื่อห่างไกลโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

  1. ลดน้ำหนักตัว รักษา BMI ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  2. ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  3. ไม่สวมเสื้อผ้าที่คับ หรือรัดแน่นเกินไป
  4. รับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ให้อิ่มจนเกินไป
  5. หลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ ไม่ควรนอนราบ ออกกำลัง ยกของหนัก เอี้ยวหรือก้มตัว
  6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ย่อยยาก รสจัด หรือพืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ
  7. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยเฉพาะในตอนเย็น
  8. ไม่ควรนอนหลังรับประทานอาหารทันที ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  9. ใช้วัสดุรองขาเตียงให้หัวเตียงสูงขึ้น 6-10 นิ้ว ไม่ควรใช้หมอนรองให้สูงเฉพาะศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น

และหากมีอาการรุนแรง หรือบ่อยครั้งขึ้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม